สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังคงทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอลอย่างเขตเวสต์แบงก์ ความขัดแย้งล่าสุด เกิดขึ้นหลังชาวอิสราเอล 2 รายถูกสังหารโดยมือปืนชาวปาเลสไตน์ขณะกำลังเดินทางเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ ทำให้เกิดเหตุจลาจลตามมา
วานนี้ 26 ก.พ. เกิดเหตุมือปืนชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งยิงชาวอิสราเอล 2 รายเสียชีวิตบนรถของตนเองในหมู่บ้านฮาวาราของเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลอยู่บ่อยครั้ง
ชายที่เสียชีวิตทั้ง 2 รายพี่น้องกัน มีอายุราว 20 ปี และเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ หนึ่งในนี้ยังเป็นทหารอีกด้วย
กองทัพอิสราเอลระบุว่าได้ปิดพื้นที่และเร่งไล่ล่าตัวผู้ก่อเหตุ พร้อมทั้งส่งทหารอิสราเอลเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์เพื่อดูแลความเรียบร้อยแล้ว
หลังเกิดเหตุการณ์ ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ไม่พอใจ จึงบุกเข้าไปในหมู่บ้านฮาวารา ทำลายทรัพย์สิน รวมถึงจุดไฟเผาบ้านและรถยนต์ของชาวปาเลสไตน์ในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นการแก้แค้น บ้านเรือนและร้านค้าสิบกว่าแห่ง รวมถึงรถยนต์กว่า 15 คันถูกเผาทำลาย
นอกจากนี้ยังเกิดการปะทะรุนแรงระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์อีกด้วย กระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ระบุว่า เหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่าร้อยคน และมีชาวปาเลสไตน์ถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย
ขณะที่กองทัพอิสราเอลได้เข้าควบคุมสถานการณ์แล้วและอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย
ด้านนายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลได้ออกมาเรียกร้องความสงบและขอให้ชาวอิสราเอลยุติการโจมตีเพื่อแก้แค้นให้กับชายชาวอิสราเอลที่ถูกสังหาร พร้อมยืนยันว่ากองกำลังอิสราเอลจะจับตัวฆาตกรมาลงโทษให้ได้
ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดความขัดแย้งมาอย่างยาวนานระหว่างทั้งสองชาติ
เวสต์แบงก์เคยอยู่ในการครอบครองของอาหรับ แต่หลังจากที่อิสราเอลได้รับชัยชนะในสงคราม 6 วัน (Six Day War) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับเมื่อปี 1967 อิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้เป็นจำนวนมากรวมถึงเขตเวสต์แบงก์
หลังจากนั้นชาวยิวก็เริ่มทะยอยเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน
ชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์เริ่มถูกบีบให้ออกจากพื้นที่ จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล
จนกระทั่งเมื่อปี 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ บรรลุข้อตกลงสันติภาพที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงออสโล’ เพื่อคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ส่วนหนึ่งของข้อตกลงคือ การแบ่งเวสต์แบงก์ออกเป็น 3 บริเวณ
Area A – มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 18 ให้อยู่ในความปกครองของปาเลสไตน์ มีรัฐบาลและดูแลความมั่นคงของตัวเอง
Area B- มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 22 ให้ปาเลสไตน์มีอำนาจทางการเมือง แต่การดูแลความมั่นคงจะเป็นหน้าที่ของอิสราเอล
Area C – พื้นที่ที่เหลือทั้งหมดให้อิสราเอลดูแลทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงใน Area C นี้เองคือพื้นที่ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลอาศัยและตั้งนิคมอยู่
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวอิสราเอลเริ่มขยับขยายจาก Area C เข้าไปตั้งถิ่นฐานใน Area B และ A มากขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ยังคงถูกบีบให้ออกจากพื้นที่ ก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีการปะทะกันเป็นระยะ ๆ
ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในพื้นที่เวสต์แบงก์ราว 2 ล้าน 9 แสนคนและมีชาวอิสราเอลที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานอีกราว 475,000 คน
อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติเมื่อปี 2016
ขณะเดียวกัน การกลับมาของเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายขวาจัด ทำให้ชาติอาหรับต่างกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของอิสราเอลและปาเลสไตน์จะทวีความตึงเครียดมากขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ทางการอิสราเอลได้ออกใบอนุญาตย้อนหลังให้แก่ชาวอิสราเอล 9 คนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์และประกาศสร้างบ้านจำนวนมากส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ได้ออกมาแสดงท่าทีกังวลและผิดหวังต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา
อย่างเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ทหารอิสราเอลได้บุกค่ายผู้ลี้ภัยเจนินในเขตเวสต์แบงก์ ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย
หลังจากนั้นวันที่ 28 ม.ค.หรือสองวันถัดมา เกิดเหตุกราดยิงที่หน้าโบสถ์แห่งหนึ่งในเยรูซาเล็มตะวันออกโดยผู้ก่อเหตุคือชายชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้มีชาวยิว 7 คนเสียชีวิต
เหตุรุนแรงครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่กองทัพอิสราเอลเข้าบุกค้นเมืองนาบลุสในเขตเวสต์แบงก์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย โดยอิสราเอลอ้างว่าเพื่อจับกุมตัวกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่กำลังวางแผนโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดความพอใจต่อชาวปาเลสไตน์อย่างมาก
จากเหตุความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เมื่อวานนี้ ผู้แทนอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้เห็นพ้องกันเรื่องแนวทางการลดความขัดแย้ง ระหว่างการประชุมกันที่จอร์แดน โดยมีสหรัฐฯ และอียิปต์เข้าร่วมด้วย
ผู้แทนอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ยืนยันที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงที่อาจจะขึ้นในอนาคต
ภายในแถลงการณ์ร่วม รัฐบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการร่วมกันทันทีเพื่อยุติมาตรการฝ่ายเดียวเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน
โดยอิสราเอลจะระงับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์เป็นเวลา 4 เดือน รวมถึงระงับการอนุมัติการจัดตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน
พร้อมทั้งยืนยันว่าจะสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ยุติผ่านการเจรจา
ขณะที่จอร์แดน เจ้าภาพในการจัดประชุมและผู้สังเกตการณ์อย่างสหรัฐฯ และอียิปต์ต่างมองว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสองฝ่าย และมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นในการบรรลุข้อตกลง
ทั้งนี้อิสราเอลและปาเลสไตน์ตกลงที่จะหารือร่วมกันอีกครั้งที่อียิปต์ในเดือนมี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซาได้ประณามการกระทำของทางการปาเลสไตน์ว่าการประชุมครั้งนี้ไร้ค่าและจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับกลุ่มติดอาวุธจีฮัดอิสลามปาเลสไตน์ (Islamic Jihad) ที่ต่อต้านข้อตกลงดังกล่าว โดยมองว่านี่เป็นอาชญากรรมระดับชาติ พร้อมทั้งระบุว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล และจะปกป้องชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุกคามโดยชาวอิสราเอล
ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาก็ออกมาประท้วงไม่พอใจการประชุมดังกล่าว โดยระบุว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุกคามจากชาวอิสราเอลแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วยให้ชาวอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์มีอำนาจมากขึ้น
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 27 ก.พ. 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/191422