ใกล้ยุบสภาและใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกที นับจากนี้ไปก็เหลืออีกไม่ถึง 60 วันก็จะต้องไปเข้าคูหาหย่อนบัตรกันแล้ว
“ทีมข่าวอิศรา” พาคุณผู้อ่านไปดูสถานการณ์การหาเสียงโดยใช้ “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งปัจจุบันนักการเมืองและพรรคการเมืองใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการหาคะแนน
แต่โซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ หลายคนคงทราบดีว่าแม้จะมี “คุณอนันต์” แต่ก็มี “โทษมหันต์” ด้วยเช่นกัน จึงมีหลายเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องรู้เท่าทัน
ที่สำคัญโลกโซเชียลฯ มีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ เรื่องสร้างภาพ สร้างกระแส ปะปนกันจนเละตุ้มเป๊ะ
และต้องไม่ลืมว่าโลกไซเบอร์นั้น ข่าวจริงเดินทางช้ากว่าข่าวเท็จถึง 6 เท่า จึงมีคนตกเป็นเหยื่อ เสียท่า มากกว่าคนที่รู้เท่ากัน
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ “จับสัญญาณแปลกๆ ในโลกโซเชียลฯ ก่อนเลือกตั้ง 2566”
ประเด็นแรก ผลจากการเสพข่าวการเมือง โดยเฉพาะผ่านทางโซเชียลฯ
-ผลการศึกษาของนักการสื่อสารพบว่า การเสพข่าวการเมืองมากเกินไป จะทำให้ความเชื่อว่ามนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง และไม่มีความจริงใจ (Cynicism) มีระดับที่เพิ่มขึ้น
-การเสพข่าวการเมืองมากเกินไป ยังทำให้เกิดผลด้านกลับ คือ ความเพิกเฉยทางการเมือง (Apathy) ของผู้คนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ประเด็นที่ 2 สัญญาณทางการเมืองในโลกโซเขียลฯ เป็นการสะท้อนพฤติกรรมการเมืองของนักการเมืองบ้านเรา ผ่านกิจกรรมที่ทำกันบนสื่อไซเบอร์ ซึ่งหลายเรื่องไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศชาติและสังคมในภาพรวม อาจารย์พันธ์ศักดิ์ ไล่เรียงมาให้เห็นภาพ ดังนี้
นักการเมืองมักให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันว่าจะเปลี่ยนประเทศบ้าง หรือจะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิมบ้าง ด้วยนโยบายสวยหรูและคำพูดต่างๆ นานาที่สรรหามาเพื่อการหาเสียง แต่เมื่อย้อนดูพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่าคำพูดเหล่านี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้ครองอำนาจ โดยมีนโยบายที่สวยหรูเป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้นเอง…จริงหรือไม่
ก่อนการเลือกตั้งมักมีสัญญาณต่างๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกโซเชียลฯ ที่หลั่งไหลออกมาทั้งจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายกองเชียร์ของแต่ละพรรค ซึ่งล้วนบ่งบอกถึงสภาพทางการเมืองของประเทศได้ในระดับหนึ่ง สัญญาณทางการเมืองดังต่อไปนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปช่วงก่อนเลือกตั้ง เป็นต้นว่า
1. ถ้าเขาทำ เราต้องค้าน (If they are for it, we are against it )
สัญญาณประเภทนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดระหว่างพรรคการเมือง แต่เกิดขึ้นมากผิดตาในฤดูหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ต่างเกทับกันเพื่อชิงความได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม หลายนโยบายเมื่อเลือกตั้งผ่านไปไม่สามารถทำได้จริง หรือไม่สานต่อจากนโยบายจากรัฐบาลชุดเดิม
สัญญาณประเภทนี้เป็นสัญญาณที่สร้างความสับสนแก่ผู้คนอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือหลายนโยบายที่เคยทำไปแล้วถูกยกเลิก เพราะไม่ใช่นโยบายที่เป็นของตัวเอง จนกลายเป็นโครงการครึ่งๆ กลางๆ และผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชนที่เลือกนักการเมืองเหล่านี้เข้าไปนั่นเอง
2. การรวมตัวกันเป็นขั้วทางการเมือง
มนุษย์มักจะต้องการเป็นเพื่อนกับคนที่เหมือนๆ กับตนเองเสมอ เช่น ความเหมือนทางเชื้อชาติ สถานะทางสังคม การศึกษา พฤติกรรมและแม้กระทั่งรสนิยมทางการเมือง (Homophily)
พื้นที่บนโซเชียลมีเดียก็ไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง การชอบในสิ่งที่คล้ายๆ กับตัวเองอาจนำไปสู่ “การแบ่งขั้วทางการเมือง” การเกิด Echo chamber และการแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ตลอดเวลา
เราจึงมักได้เห็นสัญญาณทางการเมืองที่เกิดจากปฏิกิริยาของการจับกลุ่มและแบ่งขั้วบนโซเชียลมีเดียอยู่ทั่วไปเมื่อเข้าใกล้ถึงฤดูเลือกตั้ง
3. คำพูดที่แบ่งคนฟังออกเป็นสองฝ่าย (Scissor statement)
สัญญาณการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายผู้คนด้วยการประดิษฐ์คำ เริ่มได้ยินหนาหูในช่วงการหาเสียง เพราะคำพูดประเภทนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่ประนีประนอมกับอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ยังเป็นการเน้นย้ำถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ไม่ต้องการความเป็นกลาง
คำพูดประเภทนี้มักเป็นคำง่ายๆ แต่มักได้ใจคน และสามารถดึงคนที่เอนเอียงอยู่แล้วตัดสินใจเข้ามาเป็นพวกได้ในทันทีที่มีการสื่อสารออกไป และสื่อที่ดีที่สุดในการเผยแพร่ประออกเหล่านี้ออกไปสู่สาธารณะ คือโซเชียลมีเดียนั่นเอง
ดังนั้นคำพูดประเภท ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ, แลนด์สไลด์เท่านั้นจึงตั้งรัฐบาลได้ หรือแม้แต่วลี “ปิดสวิทช์ 3 ป.” หรือ “ส่ง 3 ป.กลับบ้าน” จึงปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งป้ายหาเสียงตามปกติและบนโลกออนไลน์ แต่มีคำพูดจำนวนไม่น้อยที่เป็นคำที่สร้างขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมืองที่ทึกทักเอาเองโดยไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย
4. แข่งกันเป็นคนดี
เชื่อกันว่าอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่มักชอบแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจต่อสาธารณะเสมอยิ่งกว่าอาชีพใดๆ ในโลก ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะเป็นนักการเมือง และยังมีแรงจูงใจอื่นที่ทำให้ต้องแสดงออกอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแนวโน้มที่มีความหลงตัวเองโดยธรรมชาติของนักการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่เข้าใจได้
แต่นักการเมืองหวังผลมากกว่าการแสดงออกตามปกติ เพราะหากการเรียกร้องความสนใจครั้งนั้นๆเกิดความสำเร็จและเข้าตาเจ้าของพรรคหรือผู้สนับสนุน อำนาจทางการเมือง เงินบริจาค และโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม นักการเมืองรู้ดีว่าการแสดงออกถึงความเป็นคนดีนั้นมีชัยไปกว่าครึ่ง เมื่อใกล้เลือกตั้งเราจึงมักเห็นนักการเมืองแข่งกันแสดงความเป็นคนดีมีศีลธรรมกันออกนอกหน้า ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ จึงทำให้อดคิดไปไม่ได้ว่าการแสดงออกซึ่งความเป็นคนดีของนักการเมืองนั้นทำไปเพราะเจตนาดีจริงๆ หรือเพื่อโปรโมทตัวเองและลดทอนความดีของฝ่ายตรงข้าม โดยอาศัยความดีบังหน้าแค่ช่วงก่อนเลือกตั้ง
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดป้าย “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ถ้าไม่ยุบสภา ไม่เห็นหน้า ส.ส.” ถึงถูกติดประจานอยู่ทั่วเมืองพิษณุโลก
5. โจมตีและตอบโต้
เป็นหนึ่งในสัญญาณที่พบเห็นมากที่สุดทั้งจากนักการเมืองเองและจากกองเชียร์บนโลกโซเชียลฯ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง และเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการแสดงความเห็นและโต้ตอบกันไปมา รวมทั้งใช้ปกป้องผู้ถูกโจมตีที่ไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย ผ่านการไลฟ์สด ภาพ คลิปและข้อความ
สัญญาณประเภทนี้มักจะกระตุ้นอารมณ์ผู้คนให้เกิดความไม่พอใจจนถึงขั้นโกรธเคืองได้อย่างง่ายดาย และหากภาษาที่ใช้เป็นคำพูดที่อิงกับศีลธรรมและอารมณ์ของผู้คน(Moral- emotion word) ถูกนำมาใช้โจมตีซึ่งกันและกันบนโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ยิ่งจะทำให้ความไกลของการกระจายข้อความนั้นเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ต่อคำเลยทีเดียว
6. ความสูญเสียของบริบท (Context collapse)
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งมักมีข่าวการเมือง รวมทั้งความเห็นทางการเมืองทั้งที่เขียนขึ้นมาเองและแชร์มาจากแหล่งต่างๆจำนวนมาก ส่งกันไปมาบนแพลตฟอร์มภายในกลุ่ม และบางครั้งมีการส่งตรงถึงตัว แม้ว่าบางกลุ่มจะห้ามพูดถึงเรื่องการเมือง แต่ก็มีการฝ่าฝืนจนต้องตักเตือนและถึงกับโกรธกันไปก็มี บางคนถึงกับถูกขับออกจากกลุ่มเพราะอดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องการเมืองโดยไม่ฟังข้อห้าม
การส่งข่าวสารการเมืองหรือข่าวสารใดก็ตามแบบไร้จุดหมายไปยังคนกลุ่มใหญ่โดยไม่รู้เลยว่าใครคือผู้ที่จะให้ความสนใจหรือได้รับประโยชน์จากข่าวสารนั้น ถือว่าเป็นความสูญเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นทางการเมืองบางประเภทนอกจากจะไม่ได้รับความสนใจจากคนที่ไม่ใช่เป้าหมายแล้ว ยังอาจถูกแปลความไปในทางตรงข้าม หรือกระตุ้นให้เกิดความโกรธและความขุ่นเคืองใจกันก็เป็นได้ เพราะข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ถูกจริตกับตัวเอง หรือไม่ใช่แนวทางที่ตัวเองชอบ บางคนจึงรู้สึกอึดอัดหรือกระอักกระอ่วนเมื่อได้รับข้อมูลจนดูเหมือนว่าถูกบังคับให้อ่านข่าวสารทางการเมืองที่ตัวเองไม่อยากอ่าน
7. ข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน
เมื่อถึงฤดูเลือกตั้งคราวใดก็ตาม โซเชียลมีเดียคือสื่อชั้นดีในการแพร่ ข่าวลือ ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนต่างๆ จนทำให้เราไม่ได้อยู่ในโลกแห่งการรับรู้ความจริงอีกต่อไปและยากที่จะแยกได้ว่าสิ่งไหนคือความจริง สิ่งไหนคือความเท็จหรือความเห็น เพราะโลกของโซเชียลมีเดียทำให้เราตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคลมีอิทธิพลเหนือกว่าความจริง (Post truth) อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
จากงานวิจัยพบว่า การทวีตประโยคที่เป็นความเท็จ สามารถจะแพร่ได้เร็วกว่าประโยคที่เป็นความจริงบนทวิตเตอร์ถึง 6 เท่า นอกจากนี้ความเท็จที่ถูกเผยแพร่อยู่ในกลุ่มของแพลตฟอร์มต่างๆ มักจะกลายเป็นความจริงที่เชื่อกันเฉพาะกลุ่ม เพราะสมาชิกแต่ละคนภายในกลุ่มต่างเชื่อข้อมูลซึ่งกันและกันมากกว่าการอ้างอิงสื่อกระแสหลัก อันเป็นผลมาจากอคติในกลุ่มที่เรียกกันว่า Confirmation bias ที่เกิดขึ้นจากการยืนยันของสมาชิกภายในกลุ่มนั่นเอง
และหากความจริงลวงตาเหล่านี้เป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง และชักนำไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ผลลัพธ์ทางการเมืองบิดเบี้ยวไปอย่างไม่ต้องสงสัย
8. มีม (Meme)
“มีม” เป็นคอนเทนต์ประเภท ภาพ คลิปวิดิโอ ข้อความสั้นๆ ปกติมักแสดงออกถึงอารมณ์ขันและถูกส่งต่อๆ กันบนอินเทอร์เน็ต โดยอาจมีการดัดแปลงเล็กน้อยจากต้นฉบับ
“มีม” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความสนใจจากผู้คนในกิจกรรมต่างๆ ตลอดมา รวมทั้งกิจกรรมทางการเมือง นอกจากภาพล้อเลียนบุคคลต่างๆ แล้วมีมภาพสัตว์ก็มีความนิยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมรูปแมวซึ่งถือว่าเป็นมีมที่ดีที่สุดบนโลกไซเบอร์ได้กลายเป็นมีมที่ครองพื้นที่มากกว่าใครๆ ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย และถูกนำมาใช้ทางการเมืองด้วยเช่นกัน
ก่อนการเลือกตั้งเริ่มมีมีมของบุคคลสำคัญๆ ทางการเมืองของไทยปรากฏตามไลน์กลุ่มต่างๆ หรือบนเฟซบุ๊กอยู่จนเป็นที่สังเกตได้ แต่มีมที่ปรากฏมากกว่าใครเห็นจะเป็นมีมภาพ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ส่งต่อกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะมาจากฝ่ายตรงข้ามคุณประยุทธ์ เพราะมีมแต่ละภาพและข้อความที่ปรากฏมักเป็นการเสียดสีหรือด้อยค่าเสียมากกว่าการชื่นชม ส่วนนักการเมืองคนอื่นๆ ก็พอจะเห็นมีมปรากฏอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าคุณประยุทธ์
9. สัญญาณจากแพลตฟอร์ม
เนื่องจากโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งของทุกประเทศค่อนข้างมาก และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา บรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และ Tik Tok จึงมีกฎกติกาสำหรับการใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง
ก่อนเลือกตั้งจึงมักเห็นบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ ออกมาเน้นย้ำจุดยืนเกี่ยวกับการวางตัวก่อนการเลือกตั้งเสมอ
ในการเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อปี 2562 เฟซบุ๊กได้กำหนดมาตรการต่างๆ ก่อนเลือกตั้ง เป็นต้นว่า กวาดล้างบัญชีผู้ใช้ปลอม, ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม, ความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับโฆษณาทุกประเภท, ยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มและสนับสนุนการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง
ในขณะที่การเลือกตั้งปี 2566 ที่จะมาถึง ยังเห็นเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ที่ได้ประกาศจุดยืนต่อการเลือกตั้งของไทยอย่างแข็งขันว่า จะไม่มีการอนุญาตให้มีการโปรโมทหรือการทำโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด TikTok จึงได้มีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง (GPPPA: Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการไม่อนุญาตให้บัญชีประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม
การส่งสัญญาณจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึ งสะท้อนให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งมากเพียงใด และยังแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มต่างๆ มิได้ละเลยต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น แต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้นจะได้ผลตามที่แต่ละแพลตฟอร์มประกาศไว้หรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์เมื่อเวลานั้นมาถึง
บทความโดย สำนักข่าวอิศรา
อ้างอิง
1.Grandstanding โดย Justin Tosi และ Brandon Warmke
2.The Hype Machine โดย Sinan Aral
3.Social warming โดย Charles Arthur
4.https://www.marketingoops.com/news/brand-move/facebook-measure-election-in-thailand/
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 20 มี.ค. 2566
Link :https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/117105-elect