นับจากการเปิดตัวของ ChatGPT ในปลายปี 2565 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์ ผู้เขียนจึงหยิบยกมาอธิบายและวิเคราะห์ในมุมมองของผู้เขียน แต่ด้วยเนื้อหาที่มีค่อนข้างมากจึงขอแบ่งเป็นสองตอน
ChatGPT คืออะไร?
หากเราลองคีย์ถาม ChatGPT ให้อธิบายคุณลักษณะของตัวเอง ก็จะได้คำตอบทำนองว่า ChatGPT คือ Chatbot ที่ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท OpenAI ที่ใช้วิธีการประมวลผลภาษาธรรมชาติในการทำงาน
ดังนั้น ChatGPT คือ การทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์ จนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างข้อความอย่างที่มนุษย์ใช้สื่อสารได้
หากได้ลองใช้งาน จะทราบว่า ChatGPT ไม่ใช่แชตบอตธรรมดาที่ตอบคำถามแบบบอตอื่นๆ ที่เราเคยใช้งานมา แต่คำตอบที่ได้มานั้นผ่านการวิเคราะห์ รวบรวม และประมวลผลออกมาเป็นภาษาธรรมชาติคล้ายกับภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน
ChatGPT กับ การแทนที่งานในปัจจุบัน
ความกังวลในการแทนที่งานปัจจุบันของ ChatGPT เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด ซึ่งหากวิเคราะห์จากความสามารถของ ChatGPT ก็พบว่าสามารถประยุกต์ใช้ในงานที่ต้องการการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้
ดังนั้น ผู้เขียนขอจัดแบ่งกลุ่มงานที่อาจได้รับผลกระทบจาก ChatGPT ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนอาจไม่ได้ถูกแทนที่ทั้งหมด แต่อาจอยู่ในลักษณะเป็นผู้ช่วยในการทำงาน
เช่น งานในกลุ่มบริการลูกค้า ChatGPT จะเป็นผู้ช่วยเสมือน (virtual assistant) ที่ช่วยในการให้ข้อมูลสินค้า/บริการ รวมถึงสามารถจัดการตารางงานและจองบริการต่างๆ ได้ หรือในสาขาเทคโนโลยี ChatGPT สามารถทำงานในลักษณะเดียวกันกับนักเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกรซอฟต์แวร์ ได้
สำหรับสาขาเทคโนโลยีนี้ บริษัท OpenAI เองก็ได้เริ่มทดลองการใช้ AI เข้าช่วยงานทีมวิศวกรซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการลดปริมาณพนักงานลงได้
หรือในสาขาวิจัยหรือวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่ AI ทำได้ค่อนข้างดี ทั้งในด้าน marketing research และสาขา financial research รวมไปถึงงานในลักษณะ excel modeling ของ Trader หรือนักวิเคราะห์ในปัจจุบัน
หรือในสาขามีเดีย ChatGPT จะสามารถสร้างคอนเทนต์ (content generation) หรือทำกราฟิกดีไซน์ เช่น การจัดการคอนเทนต์บนเว็บไซต์ การเขียนข้อความหรือบทความลงในสื่อสังคมออนไลน์
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจาก Amazon ในเดือน ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันมีหนังสือว่า 200 เล่มที่วางขายบนแพลตฟอร์มของ Amazon มีการระบุว่าผู้เขียนคือ ChatGPT หรือมี ChatGPT เป็นผู้เขียนร่วม
ChatGPT กับ งานกฎหมาย
ผู้เขียนมองว่า ลักษณะงานกฎหมายเป็นงานที่ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยข้อมูลในรูปแบบ legal text จำนวนมากเพื่อประกอบการวิเคราะห์ ซึ่งอาจตรงกับข้อดีของ ChatGPT ที่ใช้โมเดลภาษาในการช่วยประมวลผลข้อมูล
ดังนั้น ประโยชน์ของ ChatGPT ในงานกฎหมาย คือการเป็นผู้ช่วยสืบค้นข้อมูล (ทั้งข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษา) หรือการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย (ที่เป็น paper-based) การตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา (Contract review/analytics) การทำนายผลคำพิพากษา และแชตบอตที่สามารถตอบคำถามพื้นฐานหรือข้อมูลกฎหมายทั่วไปได้ เป็นต้น
ตัวอย่างของแอปพลิเคชัน AI กฎหมายที่มีการใช้งานแล้ว เช่น Blue J legal ที่เป็น AI legal prediction ที่สามารถคาดเดาผลคำพิพากษาได้ หรือ AI lawyer Bots เช่น Automio และ BillyBot
หรือ AI ในงาน legal research เช่น Lex Machina หรือ AI บางโปรแกรมที่สามารถทำ Predictive Coding ได้ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในแบบ Assisted review ที่ช่วยตรวจสอบเอกสารทางกฎหมายและแยกย่อยเฉพาะชุดเอกสารที่ควรทำการศึกษา ซึ่งเป็นการลดกระบวนงานให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นกับกรณี
งานกฎหมายจะถูกแทนที่?
ในมุมมองของผู้เขียนเชื่อว่า Robot ยังไม่สามารถทดแทนงานกฎหมายได้ในทุกสาขา เนื่องจากโดยสภาพของงานกฎหมาย ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้วิจารณญาณและดุลยพินิจที่รอบคอบในการให้ความเห็น ตัดสิน และวิเคราะห์ข้อพิพาท รวมถึงหากพิจารณาไปถึงกระบวนการตรากฎหมายของภาครัฐยังคงต้องอาศัยการวิเคราะห์ความจำเป็นและเหมาะสม
จึงต้องเข้าใจถึงข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไปในการตรากฎหมายด้วย ทักษะเหล่ามีความเฉพาะทาง และยากต่อการที่ AI จะเลียนแบบได้
ข้อจำกัดของ ChatGPT ในงานกฎหมาย
จากการศึกษาการใช้งานของ ChatGPT ในปัจจุบันพบว่า ยังมีความบกพร่องในเรื่องการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งบางกรณีเราอาจได้รับคำตอบที่คลาดเคลื่อนไปกับข้อเท็จจริง
ดังนั้น จุดอ่อนดังกล่าวอาจเป็นประเด็นเมื่อนำมาใช้กับงานกฎหมายที่ต้องอาศัยความถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคู่กรณี
ประกอบกับหากเป็นงานกฎหมายที่ต้องอาศัย client relationship ในการวิเคราะห์ หรืองานที่ต้องสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงงานที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี AI อาจยังไม่มีทักษะเทียบเท่าการทำงานของมนุษย์ในปัจจุบันและอาจยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ในทางสังคมระหว่างมนุษย์ได้
หรืออาจกล่าวได้ว่า “legal expertise” คือ สิ่งที่มีความเฉพาะตัวของสาขาอาชีพที่ทดแทนได้ยากด้วยเทคโนโลยี
นอกจากนี้ เนื่องจาก ChatGPT ทำงานด้วยการวิเคราะห์ในเชิงภาษา ข้อสังเกตของผู้เขียนคือประเด็น การแสดงผลที่ไม่เป็นกลางจากการรวบรวมข้อมูลมีลักษณะของ Biased opinions ซึ่งอาจส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์และการให้คำแนะนำทางกฎหมาย หากผู้ใช้งานเลือกที่จะเชื่อข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการรวบรวมของ AI
ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นงานกฎหมายที่ต้องศึกษาตัวบทที่มีความซับซ้อนและมีกฎหมายลำดับรอง หรือแนวปฏิบัติจำนวนมาก เช่น กฎหมายภาษีอากร
ข้อสังเกตของผู้เขียน คือ AI จะสามารถแสดงผลที่ถูกต้องได้มากเพียงใด และจะสามารถอัปเดตโปรแกรมให้ทันต่อการยกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงกฎหมายได้แบบ real-time หรือไม่
ดังนั้น งานกฎหมายที่อาจถูกแทนที่หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำ งานที่เกี่ยวข้องกับการสืบค้นแบบ document-based เช่น งานของ paralegal หรือ legal assistant ที่ช่วยสืบค้นข้อมูลอาจมีบทบาทลดลง
AI จะสามารถช่วยสืบค้นและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ในเบื้องต้นได้ แต่ผู้ปฏิบัติงานต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้งอย่างเป็นกลางก่อนให้ความเห็นทางกฎหมาย
ท้ายที่สุด ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตทางกฎหมายในการใช้งาน ChatGPT และ AI ซึ่งจะขอนำมาวิเคราะห์ในบทความฉบับต่อไป
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 28 ก.พ. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1055304