ChatGPT คืออะไร วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาอธิบายสั้น ๆ ให้คุณสามารถเข้าใจได้ และปัจจุบัน ChatGPT ทำอะไรได้บ้าง เชื่อถือได้ไหม และอนาคตมันจะมาแย่งงานเราได้หรือเปล่า
ChatGPT (Chat Generative Pre-trained Transformer) คือ แชทบอทที่สามารถพิมพ์คำถามหรือคำสั่งเข้าไปและสามารถตอบได้ในรูปแบบบทสนทนา
ซึ่ง ดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้อธิบายที่มาของ ChatGPT ว่าเป็นการทำงานคล้ายกับว่าเป็นการเดาคำและจับคู่คำที่ทำได้อย่างแม่นยำ โดยเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ChatGPT จึงดูเก่งและฉลาดมาก
ChatGPT ทำอะไรได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยงานเขียนวิจัย ร่างฟอร์มอีเมลหรือจดหมาย รวมถึงการหาข้อมูลต่าง ๆ ในเชิงลึกที่รวดเร็วกว่าการค้นหากูเกิล ทำได้แม้กระทั่งการเขียนโปรแกรม
ChatGPT เบื้องหลังมี 3 ส่วนเล็ก ๆ ได้แก่
1.Transformer Model ทาง AI เป็นการแปลงข้อความข้อความหนึ่งไปอีกข้อความหนึ่ง เช่น เครื่องแปลภาษา สรุปข่าวอัตโนมัติ ซึ่งจะเรียนรู้ว่าคำแบบนี้ควรตอบแบบไหน ซึ่งจะจับคู่และเรียนรู้จนได้คำตอบออกมา
2.Large Language Model เป็นการทายคำ ที่การเรียนรู้มาเยอะ ใช้ศาสตร์ของสถิติ และความน่าจะเป็นในการหาลำดับคำที่เกิดขึ้นในประโยค โดยวิเคราะห์จากเนื้อความของบริบทเพื่อการทำนายคำถัดไป
3.คลังข้อมูลชนิดพิเศษ มีการใส่คำสั่งและคำตอบเข้าไป ซึ่งมีทั้งคำถามปลายปิด คำถามปลายเปิด
ซึ่งประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องแหล่งข้อมูลเนื่องจากมีขนาดเล็กอยู่ ในต่างประเทศมีข้อมูลสาธารณะจำนวนมาก แต่ในประเทศไทยยังคงเป็นข้อมูลปิดอยู่มาก ทำให้การพัฒนา ChatGPT ภาษาไทยเป็นไปได้ช้ากว่า
จุดอ่อนของ ChatGPT ทำอะไรได้ไม่ดีบ้าง?
ChatGPT มีจุดเด่นเรื่องการท่องจำ แต่งบทกลอน คิดคำต่าง ๆ แต่ที่ทำได้ไม่ดีนั้นคือเรื่องคณิตศาสตร์และการให้เหตุผลหรือคำถามที่ต้องการความเข้าใจและความละเอียดอ่อนเป็นสิ่งที่แชทบอทไม่สามารถทำได้
ซึ่งปัจจุบันยังมีการตอบผิดตอบถูกอยู่บ้าง เนื่องจากแชทบอทได้คำตอบมาจากการท่องจำ และ “เดาคำ” และต้องรีเช็กหรือตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปใช้งาน
รศ.ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ ได้พูดถึงจุดแข็งของ ChatGPT คือ Creative Writing หรือการเขียนเชิงสร้างสรรค์ , Essay Writing , Code Writing , Prompt Writing และการตอบคำถาม ซึ่งยังได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับการร่วมงานของมนุษย์และแชทบอทที่จะทำงานด้วยกันได้ ซึ่งจุดแข็งของมนุษย์ คือ ความยืดหยุ่นมากกว่าแชทบอท
ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง ChatGPT ในส่วนของงานวิจัย ซึ่งโดยปกติแล้วการทำวิจัยต้องอ้างอิงหมด ถึงแม้จะใช้ ChatGPT ควรจะต้องหาการอ้างอิงข้อมูล ถ้าระบุไม่ได้ ไม่ควรจะใส่ลงไปในงานวิจัย
เราสามารถสรุปได้ว่า ChatGPT ยังไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และยังไม่สามารถมาแย่งงานเราได้ แต่ทุกคนต้องปรับตัวและพัฒนาให้รู้จักและใช้ AI หรือ ChatGPT ควบคู่ไปกับการทำงานในปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นตัวช่วยและเครื่องมือที่น่าสนใจมาก
บทความโดย ทีมข่าว springnews
————————————————————————————————————————-
ที่มา : springnews / วันที่เผยแพร่ 25 ก.พ. 2566
Link :https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/835788