สัปดาห์นี้ผมตั้งใจจะไม่เขียนเรื่อง ChatGPT เพราะได้เขียนบทความเกี่ยวกับ ChatGPT ลงในคอลัมน์นี้มาหลายครั้งแล้ว แต่สุดท้ายบริษัท Open AI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT ได้ประกาศเปิดตัวโมเดลเอไอเวอร์ชันคือ GPT-4 เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา
สัปดาห์นี้ผมตั้งใจจะไม่เขียนเรื่อง ChatGPT เพราะได้เขียนบทความเกี่ยวกับ ChatGPT ลงในคอลัมน์นี้มาหลายครั้งแล้ว แต่สุดท้ายบริษัท Open AI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT ได้ประกาศเปิดตัวโมเดลเอไอเวอร์ชันคือ GPT-4 เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาพร้อมกับสาธิตความสามารถของโมเดลนี้ที่เหนือกว่า GPT-3.5 ที่ใช้ใน ChatGPT เวอร์ชันเดิม และเพิ่งประกาศให้ใช้งานมาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็อดที่จะนำความสามารถที่ทางบริษัทระบุว่า “เป็นโมเดลเอไอที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก และสามารถให้คำตอบที่ปลอดภัยและมีประโยชน์มากขึ้น” มาเขียนเรื่อง ChatGPT อีกครั้งหนึ่งไม่ได้
บริษัท Open AI ระบุว่า GPT-4 มีความสามารถที่โดดเด่นกว่า GPT ในรุ่นก่อน 3 ด้าน คือ 1. ความสามารถในการรับข้อมูลที่เป็นรูปภาพ 2. การมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเนื้อหาที่ดีขึ้น และ 3. การเก็บบทสนทนาที่ยาวขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ GPT-4 เป็นระบบเอไอที่เป็น Multimodal กล่าวคือ สามารถสนับสนุนการป้อนข้อมูลได้หลายรูปแบบ ซึ่งในรุ่นก่อนหน้านั้นจำกัดเฉพาะการป้อนข้อความเท่านั้น ขณะที่ GPT-4 สนับสนุนการป้อนข้อมูลทั้งข้อความและรูปภาพ หรือผสมกันทั้งสองแบบ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงเป็นข้อความ ไม่สามารถสร้างรูปภาพได้
จากความสามารถด้านนี้ทำให้เราใช้ GPT-4 สร้างคำบรรยายสำหรับรูปภาพ อธิบายข้อมูลต่าง ๆ ในรูปภาพได้ เช่น ผู้ใช้อาจแสดงรูปภาพของอาหารสดและเครื่องปรุงที่มีอยู่ในห้องครัวของตัวเองและถามว่าสามารถจะประกอบเมนูอาหารอะไรได้บ้าง รวมไปถึงการเขียนโค้ดในการพัฒนาโปรแกรมเว็บไซต์ จากรูปภาพที่มีอยู่
จุดเด่นอีกด้านของ GPT-4 คือ ความสามารถเก็บรายละเอียดของบทสนทนาได้ยาวขึ้น โดยสามารถป้อนข้อมูลได้สูงสุด 25,000 คำ ทำให้สามารถสรุปเอกสารขนาดใหญ่ได้ หรือสร้างเนื้อหาที่ยาวขึ้นได้ ซึ่งหากเทียบกับ ChatGPT เวอร์ชันเดิมเราจะพบว่ามันจะ “ลืม” บทสนทนาหลังจากที่เราป้อนข้อความไปประมาณ 3,000 คำ
บริษัท OpenAI ยังระบุว่า GPT-4 มีความสามารถในการสร้างเนื้อหาที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น เช่น การแต่งเพลง การเขียนบทภาพยนตร์ การเขียนเอกสารทางเทคนิค และสามารถที่จะปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับรูปแบบการเขียนของผู้ใช้แต่ละคน
นอกจากนี้ GPT-4 ยังมีจุดเด่นอีกหลายด้าน เช่น GPT-4 มีองค์ความรู้ทั่วไปที่กว้างขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ChatGPT ซึ่งในการทดสอบพบว่า GPT-4 มีประสิทธิภาพสูงในการทำข้อสอบมาตรฐานต่างๆ และมีข้อผิดพลาดน้อยลงในการให้คำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ตัวอย่างเช่น GPT-4 สามารถทำข้อสอบเนติบัณฑิตได้คะแนนเกือบ 75% (298 เต็ม 400 คะแนน) เมื่อเปรียบเทียบกับ GPT-3.5 ที่สอบผ่านครึ่งแบบฉิวเฉียด (213 เต็ม 400 คะแนน) สำหรับข้อสอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น SAT ข้อสอบการแพทย์ Uniform Bar Exam และ Biology Olympiad ก็สามารถทำคะแนนได้ดีขึ้น
GPT-4 ยังมีประสิทธิภาพในการประมวลผลภาษาต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งจากการทดสอบพบว่าสามารถตอบคำถามปรนัยด้วยความถูกต้องได้สูงใน 26 ภาษา ซึ่งผลการทดสอบเมื่อเทียบกับ GPT-3.5 ที่มีประสิทธิภาพของภาษาอังกฤษอยู่ที่ 70.1% พบว่าสามารถประมวลผลภาษาต่างๆ ได้ดีกว่า แม้กระทั่งภาษาที่มีฐานข้อมูลน้อยอย่างเช่น ภาษาลัทเวีย เวลส์ และสวาฮิลี ซึ่งใน GPT-4 นี้ประสิทธิภาพของภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นไปเป็น 85.5% ส่วนภาษาไทยพบว่าประสิทธิภาพสูงถึง 71.8% ซึ่งก็ถือว่าดีกว่าประสิทธิภาพในการประมวลภาษาอังกฤษในเวอร์ชันก่อน
นอกจากนี้ GPT-4 ยังมีความปลอดภัยและสร้างเนื้อหาที่มีความสอดคล้องมากขึ้นโดยโอกาสที่จะสร้างเนื้อหาในด้านลบน้อยลงกว่าเดิมถึง 82% และมีโอกาสจะสร้างเนื้อหาตามที่ต้องการสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 40%
ในการเปิดตัว GPT-4 ได้มีการระบุว่า บริษัทไมโครซอฟท์ได้นำ GPT-4 เข้าไปใช้ในบราวเซอร์ Bing เพื่อให้มีระบบแชตบอตที่ชาญฉลาดแล้ว และยังมีอีกหลายบริษัท เช่น บริษัท Stripe บริษัท Duolingo บริษัท Morgan Stanley และ Khan Academy ที่นำ GPT-4 เข้ามาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ส่วนผู้ใช้ที่ใช้ ChatGPT Plus ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 20 ดอลลาร์ ก็สามารถเริ่มเข้าไปใช้ได้แล้ว ซึ่งจากการที่ผมเข้าไปทดสอบพบว่า มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นจริง แต่องค์ความรู้ที่ได้มายังเป็นข้อมูลเดิมที่ใช้ในการพัฒนา GPT-3.5 คือ ความรู้ถึงช่วง กันยายน 2021 คิดว่าคงต้องรออีกพัก จึงจะได้ข้อมูลล่าสุดที่เป็นปัจจุบันกว่านี้ ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้บางส่วนก็ใช้ GPT-4 เป็นผู้ช่วยเขียน
แต่อย่างไรก็ตาม GPT-4 ก็อาจยังเสี่ยงต่อความผิดพลาด และยังมี “การจินตนาการ” บางเรื่องออกมาเอง ดังนั้น การใช้งานระบบเอไอแบบนี้ควรใช้งานด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันความผิดพลาดและผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคต
เราต้องใช้มันเป็นเพียงผู้ช่วย เราไม่ใช่ใช้ทำงานแทนเราได้ทั้งหมด ไม่ว่ามันจะเก่งขึ้นแค่ไหนก็ตาม
บทความโดย โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 มี.ค. 2566
Link :https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1058345