ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึง ChatGPT ในมุมที่อาจมีผลกระทบต่องานในปัจจุบัน โดยเน้นวิเคราะห์ในสายงานกฎหมาย ฉบับนี้จะวิเคราะห์ถึงข้อสังเกตทางกฎหมายในการใช้งาน ChatGPT และ AI
1.กฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์
ประเด็นแรก ธรรมาภิบาลและการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ AI เพื่อรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ จึงควรมีการกำหนดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ และการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม อันจะเป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ในกรณีของ ChatGPT การใช้ AI จะอยู่ในรูปแบบของแชตบอตที่สื่อสารตอบโต้และให้ข้อมูลกับผู้ใช้งาน ดังนั้น การใช้งานในลักษณะดังกล่าวอาจมากับปัญหา AI bias and discrimination ซึ่งเป็นความเสี่ยงในเรื่องข้อจำกัดและคุณภาพของข้อมูล ความน่าเชื่อถือและการให้ข้อมูลที่เป็นกลาง
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ควรมีแนวทางในการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมในระดับองค์กร และมีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ควบคุมการใช้งานอย่างเหมาะสม เช่น ในสหรัฐกำหนด AI Risk Management framework (จัดทำโดย NIST)
และในสหภาพยุโรปยกร่าง AI Act ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดแนวทางการจัดการ การประเมินความเสี่ยง และการตรวจสอบการงาน AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในระดับสูง
เช่น การใช้งาน AI ในการยืนยันตัวตนแบบชีวมิติ (Biometric Identification) การใช้งาน AI ในการให้บริการภาครัฐ (การตรวจคนเข้าเมือง การอนุญาต) หรือการใช้งาน AI เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล รวมไปถึงการใช้งาน AI ในงานกระบวนการทางยุติธรรมต่างๆ
กิจกรรมเหล่านี้ผู้ใช้งานต้องปฏิบัติตามหลักการจัดการความเสี่ยงในระดับสูงเพื่อลดข้อผิดพลาดอันอาจเกิดการดำเนินการ และอาจจำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐกำกับและตรวจสอบการใช้งาน AI ด้วย
ประเด็นความรับผิดของ AI หากมีข้อผิดพลาดจากการทำงานของ AI อันก่อให้เกิดความเสียหาย การพิจารณาความผิดจะเป็นเช่นไร? ในมุมมองของผู้เขียน อาจต้องพิจารณากฎหมายพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ความเสียหายจาก AI นั้น ก่อให้เกิดผลและความเสียหายในรูปแบบใด
เช่น กรณี ChatGPT หากมีการสร้าง misleading content จนทำให้มีผู้เสียหายจากการประมวลดังกล่าว อาจเป็นความผิดทางแพ่งที่ต้องกลับไปพิจารณาหลักความรับผิดทางละเมิด (ม.420 ป.พ.พ.) โดยต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบภายในของผู้กระทำความผิดว่ามีเจตนาจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่
“จงใจ” ในทางแพ่งนี้ตีความได้อย่างกว้าง หากเทียบหลักเจตนากระทำความผิดในทางอาญา เนื่องจาก กรณีความผิดทางแพ่ง แม้ไม่มีเจตนา แต่คาดได้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลอื่นก็อาจเป็นการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งแล้ว
ประเด็นนี้ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต หรือผู้ที่ควบคุมการทำงานของ AI พึงต้องตระหนักถึงเหตุอันอาจเกิดจากเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
ยิ่งหากเป็นกรณีการใช้ AI ในงานที่มีความเสี่ยงสูง (มีผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน) หลักความรับผิดอย่างเคร่งครัด (Strict liability) อาจถูกปรับใช้ ควบคู่กับกฎหมายอาญา และกฎหมายเฉพาะในสาขาต่างๆ เช่น กฎหมายที่กำหนดมาตรฐานสินค้าและบริการ และกฎหมายในกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
2.กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กระบวนการสำคัญในการทำงานของ ChatGPT คือ การ Trainning Data อันเป็นผลจากการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเพื่อสืบหา Data point ที่เกี่ยวข้องสำหรับแสดงผลคำตอบ
ดังนั้น ประเด็นแรกสำหรับเจ้าของข้อมูล คือ ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ควรถูกเผยแพร่ให้แตกต่างไปจากวัตถุประสงค์แรกในการสร้าง เก็บ รวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลของผู้ควบคุมข้อมูล หรืออาจกล่าวได้ว่า เจ้าของข้อมูลได้แสดงเจตนาให้ใช้ข้อมูลนี้เพื่อการใด ก็ควรอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของการนั้น
ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่ AI รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ อาจมีความเสี่ยงในการละเมิดความเป็นส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล ซึ่งข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างจากการให้ความยินยอมในครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลอ่อนไหว (sensitive data) เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมโดยชัดแจ้ง
ดังนั้น ChatGPT จะมีระบบจัดการความยินยอมหรือระบบแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบถึงการใช้งานข้อมูลก่อนการใช้งานหรือไม่
ประเด็นต่อมา เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลชุดใดถูกใช้เป็น Data point ที่ถูกรวบรวมเพื่อการประมวลผล เป็นไปได้ว่าข้อมูลชุดดังกล่าวจะกลายเป็น Database ของ AI เพื่อใช้ในการประมวลผลในกรณีต่อๆ ไป ซึ่งอาจถูกใช้เป็นคำตอบสำหรับคำถามของบุคคลอื่นที่คีย์ถาม
ยิ่งไปกว่านั้นเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้คิดค้น ChatGPT อย่างบริษัท OpenAI จะไม่เปิดเผยข้อมูลการใช้งานของ User ให้กับบุคคลที่สาม
ประเด็นสืบเนื่องจากกรณีข้างต้น คือ เจ้าของข้อมูลจะขอใช้ “สิทธิที่จะถูกลืม” (Right to be forgotten) หรือ “สิทธิให้ลบข้อมูล” ได้หรือไม่ กล่าวคือ เจ้าของข้อมูลสามารถร้องขอให้ลบข้อมูลของตนจากการสืบค้นข้อมูลของ AI ได้หรือไม่
โดยเฉพาะในชุดข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลเห็นว่าอาจเกิดส่งผลเสีย หรือเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด หรือไม่เป็นปัจจุบัน โดย ChatGPT มีระบบรองรับการร้องเรียนหรือการใช้สิทธิในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
3.กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
คำถาม คือ ใครเป็นเจ้าของ Content ที่ถูกสร้างและรวบรวมโดย ChatGPT? ในประเด็นนี้เมื่อลองคีย์ถาม ChatGPT ก็ได้คำตอบว่า “ChatGPT ไม่ใช่เจ้าของ Content” หากแต่มีกระบวนงานที่รวบรวมข้อมูลและประมวลผลภายใต้เงื่อนไขของบริษัท OpenAI
ซึ่งคำตอบนี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในหลายประเทศที่กำหนดว่า AI ไม่สามารถเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์เนื่องจากไม่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายตามหลัก “Human authorship”
ดังนั้น ในปัจจุบันสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐมีแนวทางปฏิเสธคำขอของงานที่เป็นผลมาจากการใช้อัลกอริทึมของ AI ในการสร้างสรรค์ หรือแพลตฟอร์มอย่าง Getty Images ได้มีนโยบายห้ามอัปโหลดหรือซื้อขายภาพที่ใช้โปรแกรม AI ในการสร้างสรรค์ เช่น โปรแกรม DALL-e และ Midjourney ที่ผู้ใช้งานสามารถคีย์สั่งให้ AI สร้างงานศิลปะในแบบสำเร็จรูปได้
นอกจากนี้ ในมุมกลับกัน การรวบรวมและใช้งานข้อมูลของ ChatGPT ก็มีความเสี่ยงในการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าทั้งหมดนี้คืออนาคตอันใกล้ กับความท้าทายทางกฎหมายที่อยู่ไม่ไกล ซึ่งในอนาคตหากมีกรณีพิพาทจากการใช้งานของ ChatGPT ประเด็นข้อกฎหมายที่ปรับใช้ และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องคดีคงเป็นอีกประเด็นที่น่าติดตาม
บทความโดย
Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 มี.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1057600