ศาลอินโดนีเซียตัดสินลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอล 2 คน ในความผิดฐานประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมในสนามฟุตบอลครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลของอินโดนีเซีย ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
นายอับดุล ฮาริส ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลจากทีม อารีมา เอฟซี ซึ่งเป็นทีมเหย้า ถูกศาลในเมืองสุราบายา ตัดสินว่ามีความผิดจากการประมาทเลินเล่อและถูกจำคุกเป็นเวลา 18 เดือน ผู้พิพากษายังตัดสินจำคุกนายซูโก ซูทริสโน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เขาถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี
ผู้พิพากษากล่าวด้วยว่า จำเลยไม่คาดคิดว่าจะเกิดความวุ่นวาย เพราะไม่เคยเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมาก่อน จำเลยจึงไม่เข้าใจหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดีเพียงพอ ทั้ง 2 คน มีเวลา 7 วัน ที่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาล นอกจากนี้ยังมีตำรวจอีก 3 นาย ที่ถูกตั้งข้อหาและกำลังรอคำตัดสินของศาล ส่วนอดีตผู้อำนวยการของบริษัทที่บริหารการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอินโดนีเซีย ตกเป็นผู้ต้องสงสัยและกำลังอยู่ในระหว่างการถูกสอบสวนความผิด
หลังคำตัดสินเมื่อวันพฤหัสบดี ครอบครัวของเหยื่อแสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินที่พวกเขากล่าวว่าเป็นการลงโทษแบบผ่อนปรน หลังจากอัยการเคยเสนอให้ลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน
เหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมเปอร์เซบายา สุราบายา ซึ่งเป็นทีมเยือน และทีมอารีมา เอฟซี ซึ่งเป็นทีมเหย้า ที่สนามคันจูรูฮัน ในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 135 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 600 ราย หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาไปยังอัฒจันทร์ที่มีแฟนบอลอยู่กันอย่างหนาแน่น เพื่อพยายามระงับเหตุเมื่อแฟนบอลพากันกรูลงไปในสนามแข่งขัน แฟนบอลหลายร้อยคนพยายามหนีออกจากสนามผ่านทางประตูทางออกที่แคบ ทำให้เกิดเหยียบกันตายจากความแออัดและขาดอากาศหายใจ
เนื่องจากแฟนบอลของสโมสรทั้งสองแห่งมีประวัติการใช้ความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ดังนั้นผู้จัดงานจึงได้ออกข้อกำหนดต่าง ๆ ในเย็นวันนั้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการจำกัดการขายตั๋วให้กับกองเชียร์ฝั่งเหย้า แต่ผู้พิพากษากล่าวว่าผู้จัดงานได้จำหน่ายตั๋วหลายพันใบที่เกินความจุของสนามกีฬา และไม่สนใจเรื่องทางออกที่ถูกปิดกั้น และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ของตนเอง
การพิจารณาคดีดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวพลเรือนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่าจัดขึ้นในศาลแบบปิด โดยครอบครัวของเหยื่อระบุว่าการดำเนินคดีขาดความโปร่งใส โดยนับตั้งแต่การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม มีการประท้วงนอกสนามคันจูรูฮัน และสำนักงานใหญ่ของอารีมาเอฟซีเป็นประจำ.
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 มี.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2650085