แผนลอบสังหาร “ฮิตเลอร์” ผู้นำนาซีเยอรมนี กลับรอดหวุดหวิด เพราะโชคช่วย?
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นหนึ่งในบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ผู้เขย่าประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่นำพามนุษยชาติก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) มหาสงครามที่ยิ่งใหญ่และคร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตราว 60,000,000 ถึง 85,000,000 คน !!
นอกจากนี้ฮิตเลอร์ยังเป็นผู้นำปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดเหี้ยมที่รู้จักกันในชื่อ โฮโลคอสต์ (The Holocaust) ด้วยความยิ่งใหญ่และโหดเหี้ยมของเขาจึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะปลิดชีพเขาเพื่อหยุดการกระทำอันนำไปสู่หายนะต่อชาวเยอรมันและชาวโลก
“การลอบสังหารฮิตเลอร์” ไม่ได้มีแค่ “ครั้งเดียว”
หากพูดถึงการลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้คนโดยส่วนใหญ่มักจะนึกถึงปฏิบัติการวัลคีรี (Operation Valkyrie) หรือ แผนการ 20 กรกฎาคม (July Plot) ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งนำโดย พันเอกเคลาส์ ฟอน ชเตาเฟนแบร์ก (Claus von Stauffenberg) นายทหารเยอรมันผู้เคยผ่านสมรภูมิสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างโชกโชน
ทั้งในปฏิบัติการบุกโปแลนด์ ค.ศ. 1939, ยุทธการฝรั่งเศส ค.ศ. 1940, ปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า ค.ศ. 1941 (การบุกสหภาพโซเวียตโดยกองทัพนาซีเยอรมนี) และยุทธการที่ตูนิเซีย ค.ศ. 1943
จากความโกรธแค้นต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสถานการณ์ที่เลวร้ายลงของกองทัพเยอรมนีหลังจากการยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตรในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 แต่แผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ที่ รังหมาป่า (Wolf’s Lair) ศูนย์บัญชาการใหญ่ในแนวรบตะวันออกของนาซีเยอรมนีในปรัสเซียตะวันออก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์) ด้วยระเบิดพลาสติกที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเอกสารนั้นได้ประสบความล้มเหลว และฮิตเลอร์ได้รับบาดเจ็บเพียงเท่านั้น
เมื่อการลอบสังหารฮิตเลอร์ไม่สำเร็จก็ส่งผลให้คณะผู้ก่อการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังต้องรับผิดชอบด้วยชีวิตของตน แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง พวกเขาได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษกลุ่มหนึ่งของเยอรมนี
ในปี ค.ศ. 1980 รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานระลึกถึงขบวนการต่อต้านนาซีเยอรมัน (The German Resistance Memorial Center หรือ Gedenkstätte Deutscher Widerstand) ขึ้นในพื้นที่ตึกเบนด์เลอร์บลอค (Bendlerblock) อดีตสถานที่ทำงานของซเตาเฟนแบร์ก ได้มีการจัดแสดงภาพถ่าย 5,000 รูป รวมทั้งเอกสารสำคัญและสิ่งของเครื่องใช้ของขบวนการต่อต้านนาซีจัดแสดง
และต่อมาถนนเบนด์เลอร์บลอค ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนซเตาเฟนแบร์ก (Stauffenbergstraße) ได้มีการจัดสถานที่ไว้อาลัยและระลึกถึงซเตาเฟนแบร์กและผู้ร่วมก่อการที่ถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ 21 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1944 โดยมีแผ่นป้ายโลหะจารึกและรูปปั้นของซเตาเฟนแบร์ก ผู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านทรราชนาซี
ต่อมาในปี ค.ศ. 2008 ฮอลลีวูดได้มีการสร้างภาพยนตร์ Valkyrie ซึ่งกำกับโดยไบรอัน ซิงเกอร์ (Bryan Singer) และได้ทอม ครูซ (Tom Cruise) มารับบทนำแสดงเป็น ซเตาเฟนแบร์ก ทำให้ผู้คนได้รู้จักปฏิบัติการลอบสังหารฮิตเลอร์ในครั้งนี้มากยิ่งขึ้น แต่นั่นไม่ใช่การลอบสังหารเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้น โดยนักประวัติศาสตร์ไม่สามารถระบุจำนวนครั้งที่มี แผนลอบสังหาร ฮิตเลอร์ แต่ที่อ้างอิงจากเอกสารที่พบอาจมีแผนการลอบสังหารมากถึง 42 แผนการ !!
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบยุติลงได้อย่างรวดเร็วที่โรงเบียร์เดียวกับที่ฮิตเลอร์เคยก่อกบฎ
หนึ่งในแผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ที่มีการกล่าวถึงในวงการประวัติศาสตร์คือ แผนการลอบสังหารที่เกิดขึ้นที่โรงเบียร์เกอร์บร็อยเค็ลเลอร์ (Bürgerbräukeller) ที่มิวนิก ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ฮิตเลอร์เคยก่อการกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch) ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1923 ซึ่งก่อการโดยช่างไม้ธรรมดาคนหนึ่งคือ เกออร์ค เอลเซอร์ (Georg Elser)
โดยเขาวางแผนการลอบวางระเบิดที่โรงเบียร์แห่งนี้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1939 เขาได้สืบทราบว่าฮิตเลอร์จะมาพูดปาฐกถาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาได้ก่อกบฏที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1923 เอลเซอร์ได้แฝงตัวมาเป็นลูกค้าขาประจำที่นี่ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1939 และได้ลอบเข้าไปเตรียมการเจาะรูเสาและติดตั้งกลไกวางระเบิดเวลาไว้ในห้องเก็บเบียร์เกือบทุกคืน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1939
เมื่อถึงวันปฏิบัติการเอลเซอร์ได้โดยสารรถไฟเพื่อพยายามเดินทางหลบหนีไปสวิตเซอร์แลนด์ ตัดกลับมาที่โรงเบียร์ฮิตเลอร์ได้เดินทางมาที่นี่จริงๆ แต่ฮิตเลอร์กลับพูดปาฐกถาไวกว่าปกติและเดินทางกลับในเวลา 21.07 น. โดยเอลเซอร์ตั้งเวลาระเบิดไว้ที่ 21.20 น. เมื่อระเบิดทำงานฮิตเลอร์ได้เดินทางกลับเป็นที่เรียบร้อย แรงระเบิดทำให้เพดานถล่มลงมาเกือบฝังทุกคนในโรงเบียร์มีผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 62 คน ส่วนเอลเซอร์ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ที่พรมแดนและส่งตัวไปที่ค่ายดาเชา
แม้จะถูกสอบสวนอย่างหนักหน่วงโดยเกสตาโปเพื่อสืบหาผู้สมรู้ร่วมคิดแต่กลับล้มเหลว เอลเซอร์ได้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1945 แต่สิ่งที่เขาได้ทำไว้ในช่วงปี ค.ศ. 1939 นั้น เกือบจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลก นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าถ้าหากฮิตเลอร์ออกจากโรงเบียร์ช้าไปเพียง 13 นาทีเท่านั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะไม่ได้รุนแรงหรือสร้างความสูญเสียให้แก่โลกมากขนาดนี้
รัฐบาลเยอรมนีได้มีการยกย่องเอลเซอร์ด้วยการมอบรางวัล The Georg Elser Prize ทุก ๆ 2 ปี ให้กับบุคคลธรรมดาที่กล้าหาญต่อสู้และขัดขืนต่อความอยุติธรรมของรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 นอกจากนี้มีการออกตราไปรษณียากรรูปเอลเซอร์เพื่อระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญและครบรอบ 100 ปีของเขาในปี ค.ศ. 2003 และมีการนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นถนนและสถานที่ต่าง ๆ ในเยอรมนี
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเรื่องราวของเขาไปสร้างภาพยนตร์เยอรมันเรื่อง 13 Minutes หรือ Elser – Er hätte die Welt verändert กำกับโดย Oliver Hirschbiegel
เมื่อ “ฮิตเลอร์” ผู้นำนาซีหวิดสิ้นชีพเพราะ “ขวดเหล้า” !!!
หลังจากการลอบสังหารที่โรงเบียร์ในปี ค.ศ. 1939 ได้ประสบความล้มเหลว ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนาซีเริ่มมีการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น ฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์จึงพยายามหลีกเลี่ยงการลอบวางระเบิดเพื่อใช้ในการสังหาร
ดังเช่นแผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ด้วยการใช้ปืนซุ่มยิงในงานสวนสนามกองทัพนาซีที่ปารีสในปี ค.ศ. 1941 โดย ร้อยเอก ฮันส์ อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฟอสส์ (Hans-Alexander von Voss) หนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านนาซีที่ฝรั่งเศส แต่แผนการเขาต้องล้มเหลว
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1943 เมื่อกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ในแนวรบตะวันออกซึ่งนำโดย พลตรีเฮนนิง ฟอน เทรสโค (Henning von Tresckow) นายทหารนาซีอดีตสาวกของฮิตเลอร์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสังหารหมู่ของกองทัพนาซี เขาจึงจัดตั้งกลุ่มขบวนการผู้ต่อต้านนาซีขึ้นมาโดยรวบรวมนายทหารผู้ต่อต้านนาซี และได้มีการวางแผนการกับ ร้อยโทฟาเบียน ฟอน ชลาเบรนดอร์ฟฟ์ (Fabian von Schlabrendorff)
ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1942 แผนแรกของพวกเขามีแผนการใช้อาวุธปืนในการสังหารฮิตเลอร์ โดยเทรสโคจะเป็นผู้ลงมือเองแต่มีการคาดการณ์ว่าเขาคงใส่ชุดเกราะกันกระสุนเอาไว้และบรรดาทหารองครักษ์ต่างคุ้มกันแน่นหนาและล้วนแล้วแต่เป็นเสือปืนไวทั้งสิ้น แผนที่สองคือการระดมยิงใส่ฮิตเลอร์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งจะลงมือโดยทหารม้ามือดีซึ่งอยู่ใต้การบัญชาการของ เคานต์ เกออร์ค ฟอน เบอเซอลาเกอร์ (Georg von Boeselager) แต่แผนนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น
ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1943 กองทัพที่ 6 ภายใต้การนำของ จอมพลฟรีดริช เพาลุส (Friedrich Paulus) ได้ยอมจำนนต่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตที่เมืองสตาลินกราด (Stalingrad) เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อำนาจและความน่าเชื่อถือของฮิตเลอร์เสื่อมลงไปอย่างมาก ประชาชนรวมทั้งผู้นำกองทัพเริ่มขาดความเชื่อมั่นในตัวฮิตเลอร์มากยิ่งขึ้น
ขบวนการผู้ต่อต้านนาซีของเทรสโคจึงได้ริเริ่มดำเนินแผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการแสงวาบ (Operation Spark หรือ Operation Flash) โดยให้พันเอกรูดอล์ฟ คริสตอฟ ฟอน แกร์สดอร์ฟฟ์ (Rudolf-Christoph von Gersdorff) ทหารฝ่ายข่าวกรองติดต่อหาระเบิดจากอังกฤษที่ถูกยึดได้จากการทิ้งร่มให้กับฝ่ายต่อต้านในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ใช้ต่อสู้กับนาซี เพราะระเบิดเยอรมนีจะมีเสียงดังเวลาตัวตั้งเวลาทำงานและจะมีเสียงแผดดังก่อนระเบิดทำงาน
ระเบิดอังกฤษจึงเหมาะกับการปฏิบัติการลอบสังหารมากกว่า แกร์สดอร์ฟฟ์ได้ทำเรื่องเบิกระเบิดเพื่ออ้างว่าไปสาธิตให้ผู้บังคับบัญชาดู และได้มีการทดลองระเบิดในพื้นที่อุณหภูมิต่ำจนมันได้ผลที่น่าพอใจ มาถึงวันปฏิบัติการในวันที่ 13 มีนาคม ปี ค.ศ. 1943 ขบวนการต่อต้านได้ทราบตารางงานของฮิตเลอร์ว่าจะเดินทางมาดูงานที่ศูนย์บัญชาการของกองทัพกลางในแนวรบตะวันออก ชลาเบรนดอร์ฟฟ์ได้ลงมือห่อระเบิด 2 ลูกให้เหมือนขวดกวงโทร (Cointreau) หรือ เหล้าฝรั่งเศสที่มาจากค็อกเทลผสมผิวส้ม
เมื่อฮิตเลอร์และคณะมาถึง เทรสโคได้วางแผนจะนำระเบิดไปวางไว้บนรถฮิตเลอร์แต่มีการตรวจตราอย่างแน่น จึงเปลี่ยนแผนโดยเทรสโคขอให้หนึ่งในเสนาธิการทหารของฮิตเลอร์คือ พันโทไฮนทซ์ บรันท์ (Heinz Brandt) หิ้วระเบิดที่ทำให้เหมือนขวดเหล้าไปมอบให้กับ พันเอกเฮลมุท ชตีฟฟ์ (Hellmuth Stieff) ซึ่งอยู่ที่กองบัญชาการสูงสุดที่ปรัสเซียตะวันออก
เมื่อฮิตเลอร์ทานอาหารกลางวันกับคณะทหารเสร็จได้เตรียมตัวโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับไปยังกองบัญชาการสูงสุดในปรัสเซียตะวันออก ชลาเบรนดอร์ฟฟ์ได้ออกไปโทรศัพท์และให้สัญญาณโดยพูดว่า “แสงวาบ (FLASH)” จากนั้นเทรสโคกดตัวหน่วงให้วงจรระเบิดเวลาเริ่มทำงาน ฮิตเลอร์และคณะติดตามได้โดยสารเครื่องบินพร้อมทั้งนำระเบิดที่คิดว่าเป็นขวดเหล้าติดตัวไปด้วย
หากปฏิบัติการสำเร็จระเบิดทำงานตามแผนจะทำให้เครื่องบินของฮิตเลอร์ระเบิดกลางอากาศอย่างรุนแรงน่าจะเป็นการปิดตำนานฮิตเลอร์ได้อย่างแน่นอน แต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเข้าข้างฮิตเลอร์อีกครั้ง ผู้ก่อการได้รับข่าวสารว่าเครื่องบินลงจอดโดยสวัสดิภาพ โดยที่เขาไม่ได้รับอันตรายใดๆแม้แต่นิดเดียว เทรสโคที่กลัวแผนแตกจึงรีบติดต่อว่าส่งขวดเหล้าไปผิดใบขอเดินทางไปเปลี่ยนแต่ห้ามทำอะไรกับขวดนั้นโดยเด็ดขาด เมื่อเทรสโคได้ระเบิดกลับคืนมาเขาพบว่ากลไกมันสามารถทำงานได้ตามปกติแต่ระเบิดกลับไม่ทำงาน
ขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ของเทรสโคยังไม่ลดละความพยายาม โดย แผนลอบสังหาร ฮิตเลอร์ มีแผนอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม ปี ค.ศ. 1943 โดยฮิตเลอร์จะเดินทางมาชมโรงงานสรรพาวุธ แกร์สดอร์ฟฟ์ซึ่งรับหน้าที่เป็นวิทยากรนำชมของฮิตเลอร์และคณะผู้นำนาซี ได้อาสาเป็นผู้ลงมือสังหารโดยติดระเบิดไว้กับตัวเมื่อเข้าใกล้ฮิตเลอร์ก็จะกดระเบิดพลีชีพ
หากภารกิจนี้สำเร็จนอกจากจะสังหารฮิตเลอร์ได้แล้วยังสามารถสังหาร ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์(Heinrich Himmler), แฮร์มัน เกอริง(Hermann Göring) และ โจเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) ได้พร้อมกันนั่นย่อมกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์เยอรมนีและโลก แต่ฮิตเลอร์ก็รอดชีวิตได้อีกครั้งเพราะฮิตเลอร์เมื่อพูดปราศัยเสร็จก็รีบเดินทางกลับโดยไม่สนใจการเดินชมสรรพาวุธ การเปลี่ยนตารางงานกระทันหันของฮิตเลอร์ทำให้เขารอดชีวิตอีกครั้งเหมือนดังเหตุการณ์การลอบวางระเบิดเขาที่โรงเบียร์ในปี ค.ศ. 1939
บทส่งท้าย
นับตั้งแต่ฮิตเลอร์ได้เริ่มลงเล่นการเมืองเรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่เขาตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมตนเองและภรรยาในบังเกอร์วันที่ 30 เมษายน ปี ค.ศ. 1945 เขาได้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายมานับครั้งไม่ถ้วน จากผู้ต่อต้านเขาจากหลากหลายกลุ่มคนมีทั้งนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ประชาชนธรรมดา นายทหารที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อเขา
หรือแม้กระทั่งนักการเมืองพรรคนาซีที่เขาไว้ใจจนได้รับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีรัฐมนตรีกระทรวงยุทธภัณฑ์และผลิตกรรมสงครามอย่าง อัลแบร์ต สเปียร์ (Albert Speer) ก็เคยวางแผนลอบสังหารเขาและคณะคนใกล้ชิตทั้ง โจเซฟ เกิบเบิลส์, มาร์ติน บอร์แมน และโรแบร์ต ไล ด้วยวิธีการรมแก๊สพิษในบังเกอร์ที่สเปียร์เป็นคนออกแบบและรู้โครงสร้างของระบบระบายอากาศเป็นอย่างดีแต่แผนนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้แต่อย่างใด
อาจจะกล่าวได้ว่าแม้ว่าฮิตเลอร์จะเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวจิตใจคนได้และมีอำนาจนำทางการเมืองในเยอรมนีจนแทบไม่มีใครเทียบได้ และสามารถฟื้นฟูเยอรมนีที่กำลังอยู่ในสภาวะใกล้ล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจโลก และสามารถยึดดินแดนสถาปนาอำนาจเหนือชาติต่างๆ ได้เกือบทั้งยุโรปก็ตาม
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามต่อต้านและต้องการที่จะยุติแผนการอันทะเยอทะยานในการนำพามนุษยชาติต้องเผชิญหายนะจากไฟสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดานายทหารและข้ารัฐการที่เคยจงรักภักดีต่อเขา
แม้ว่าฮิตเลอร์จะมีกำลังขุนพล, นักการเมืองผู้เก่งกาจ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์สุดปราดเปรื่องดังเช่น ออตโต ฮาห์น (Otto Hahn) นักวิทยาศาสตร์เยอรมันผู้เกือบคิดค้นระเบิดปรมาณูให้กับเยอรมนีสำเร็จก่อนสหรัฐอเมริกา หรือ แวร์เนอร์ ฟอน เบราน์ (Wernher von Braun) ผู้ออกแบบขีปนาวุธ V-2 และต่อมาได้กลายเป็นวิศวกรอวกาศคนสำคัญของ NASA และเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งยานอะพลอลโลไปยังดวงจันทร์อีกด้วย
แต่ฮิตเลอร์ก็มิอาจเป็นผู้ชนะสงครามนี้ได้เพราะความโหดเหี้ยมและบ้าอำนาจของเขาย่อมนำไปสู่การถูกต่อต้าน เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าการลอบสังหารเป็นสิ่งที่เลวร้ายและน่ารังเกียจหากมองในแง่ศีลธรรมทางศาสนา แต่หากมองในอีกมุมของทางแยกแห่งศีลธรรม (Moral Dilemma) กลุ่มขบวนการผู้ต่อต้านที่พยายามลอบสังหารฮิตเลอร์จำนวนหนึ่งก็มีความต้องการที่จะยุติหายนะต่อมวลมนุษยชาติจนได้รับการยกย่องและสร้างอนุสรณ์สถานเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเกียรติให้กับพวกเขาและได้มีการสร้างให้พวกเขาเป็นวีรบุรุษของชาติมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะมีบางส่วนที่กระทำเพียงแค่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงเท่านั้นก็ตาม
บทความโดย นายคีรี คีรีวัฒน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม / วันที่เผยแพร่ 24 มี.ค. 2566
Link :https://www.silpa-mag.com/history/article_87036