ประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว!! สำหรับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
หลังรัฐบาลเร่งตรา ก.ม.ฉบับนี้ออกมาใช้ให้เร่งด่วนที่สุด โดยหวัง “สกัดและเด็ดหัว” โจรไซเบอร์ ที่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายทางทรัพย์สินให้กับประชาชนอย่างมาก!!
หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า คนไทยตกเป็นเหยื่อมากแค่ไหน? จากสถิติของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้เปิดรับแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://thaipoliceonline.com/ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความเป็นคดีสูงถึง 2.1 แสนคดี สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท!!
หรือ เรียกง่ายๆ ว่า มีคนแจ้งความถึงวันละเกือบ 600 คดี!! ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า รองลงมาคือ หลอกให้โอนเงิน!!
ขณะที่การอายัดบัญชีของทางเจ้าหน้าที่ มีการขออายัด 50,649 เคส จำนวน 68,870 บัญชี ยอดเงิน 6,723 ล้านบาท แต่สามารถอายัดได้ทัน 445 ล้านบาท เท่านั้น!?!
สิ่งที่จะบรรเทาความเสียหายให้ประชาชนได้ คือ ทำอย่างไรจะสามารถอายัดยัญชีได้เร็วที่สุด ก่อนที่เงินจะถูกโอนออกจากบัญชีไป เพราะหากเงิน “ลอย” ออกจากบัญชีของเราไปแล้ว การจะได้เงินคืนจึงเป็นเรื่องยาก!!
จึงได้มีการออก ก.ม.ฉบับนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเนื้อหาของกฎหมายที่สำคัญๆ อาทิ มาตรา 4 เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมเทคโนโลยี นั้น
ทางสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ผ่านระบบหรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานรัฐ เช่น ตํารวจ สามารถนําข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันท่วงที
หลังจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร ไม่มีอํานาจในการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลของประชาชน ทําให้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ.ร.ก.นี้ จึงช่วยปลดล็อกปัญหานี้
ขณะที่ มาตรา 5 เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทําความผิดฯ ตํารวจ ดีเอสไอ หรือ ปปง. สามารถขอรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้สะดวกรวดเร็วขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการขอรับ ข้อมูลจากผู้ให้บริการใช้ระยะเวลานาน เพราะติดขัดกฎระเบียบต่างๆ ทําให้แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ไม่ทันท่วงที เมื่อมี ก.ม.นี้ จะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลา ได้มาก!!
ส่วน มาตรา 6 หากมีเหตุอันควรสงสัยว่า บัญชีใดเกี่ยวข้องกับการกระทําผิด ธนาคารสามารถระงับการทําธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบัญชีดังกล่าวได้ทันที และสามารถแจ้งต่อให้ธนาคารอื่นระงับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย นอกจากนี้ หาก ตํารวจ หรือ ปปง. เป็นผู้พบเหตุฯ ก็สามารถแจ้งธนาคารให้ระงับการทําธุรกรรมได้ทันทีเช่นกัน มีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หากพ้นแล้ว ไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ให้ธนาคาร ยกเลิกการระงับบัญชี
ซึ่งที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถระงับบัญชีได้ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายแจ้งความและมีขั้นตอนต่างๆ ทําให้ไม่สามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันท่วงที พ.ร.ก. นี้ จึงจะช่วยให้สามารถทํางานเชิงรุก เพื่อตรวจจับ และระงับบัญชีต้องสงสัยได้ก่อนเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนควรรู้เมื่อกฎหมายเริ่มบังคับใช้แล้ว เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมาย หรือเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว ต้องรู้วิธีปฎิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น!!
โดยเมื่อถูกหลอกหรือ สงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อ กรณีหลอกลวง คอลเซ็นเตอร์ และ แอปดูดเงินเป็นต้น ให้รีบดำเนินการ คือ การแจ้งธนาคารทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุฮอตไลน์ หรือ ไปที่สาขาเพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว เป็นการช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน
จากนั้นให้แจ้งความกับตำรวจผ่านทางออนไลน์หรือท้องที่ใดก็ได้ เนื่องจากธนาคารจะระงับธุรกรรม ชั่วคราวไว้ได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อที่ตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อจะระงับธุรกรรมต่อ
ขณะที่ใครที่คิดจะรับจ้างเปิดบัญชีม้า- ซิมม้า บอกเลย โทษหนักจริงๆ แค่โฆษณาซื้อขาย ก็มีความผิดแล้ว!!
โดยหากใครเปิดหรือยินยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรเป็นบัญชีม้าหรือให้คนอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมมือถือนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนใครโฆษณาเพื่อให้มีการซื้อขายบัญชีหรือซิมโทรศัพท์ต้องรับโทษจำคุก 2 ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ธนาคารหรือหน่วยงานรัฐสามารถแลกเปลี่ยน ข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน โดยธนาคารและผู้ให้บริการมือถือแชร์ข้อมูลทุจริตระหว่างกันโดยไม่ผิด ก.ม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พีดีพีเอ)
ส่วนใครที่คิดไปแจ้งระงับบัญชี หวังกลั่นแกล้งกัน ไม่ใช่ผู้เสียหายจริง ก็อย่าหาทำเด็ดขาด จะมีความผิดถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยเช่นกัน!!
ทั้งหมดทางรัฐบาลเชื่อว่าจะช่วยลดบัญชีม้า และป้องกันจำกัดความเสียหายได้ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่!!
บทความโดย จิราวัฒน์ จารุพันธ์
เครดิตภาพ pixabay.com
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค. 2566
Link :https://www.dailynews.co.th/news/2143026/