นับตั้งแต่เหตุกราดยิงครั้งร้ายแรงที่ จ.นครราชสีมา มาจนถึงเหตุกราดยิงที่ จ. หนองบัวลำภู รวมทั้งกรณีล่าสุดที่ จ. เพชรบุรี ล้วนลงเองด้วยปฏิบัติการวิสามัญฆาตกรรม หรือไม่ก็ผู้ก่อเหตุฆ่าตัวตาย
แต่คำถามที่มักเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการ คือ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการทันสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพียงพอหรือไม่
ในกรณีกราดยิงที่ จ. เพชรบุรี ครั้งล่าสุด พล.ต.ท. ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 7 อธิบายกับสื่อมวลชนว่า
“การปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนยุทธวิธีจากเบาไปหาหนัก พยายามป้องกันประชาชน และดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัยทุกนาย ตามนโยบายที่ พ.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. มอบหมาย เพราะสถานการณ์ยืดเยื้อ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย พยายามให้โอกาสเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวหลายครั้ง ทั้งให้แม่และเพื่อนพยายามเกลี้ยกล่อมแต่ไม่เป็นผล คนร้ายยังยิงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง”
จากพฤติกรรมรุนแรงของผู้ก่อเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 3 ราย ทั้งประชาชนและตำรวจ จึงจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการเด็ดขาด ขณะชุดจับกุมเข้าปฏิบัติการพบผู้กระทำผิดยังต่อสู้และยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระสุนถูกโล่กันกระสุนถึง 6 นัด เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องวิสามัญคนร้าย ทั้งที่ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลของเหตุกราดยิงครั้งร้ายแรงทั้ง 4 ครั้ง ในรอบ 3 ปีที่ผ่านดังนี้
เหตุกราดยิงโคราช
เกิดขึ้นช่วงบ่ายของเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2563 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา โดยผู้ก่อเหตุคือ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา เริ่มแรกได้กราดยิงผู้บังคับบัญชา ก่อนที่จะขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ กราดยิงประชาชน โดยจุดสุดท้ายคือห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากมีการจับประชาชนเป็นตัวประกัน 50 คน
ปฏิบัติการครั้งนั้น ใช้ทั้งเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางอย่าง พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม พร้อมด้วยทีมหนุมานกองปราบหน่วยคอมมานโดมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 รวมทั้ง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในขณะนั้น พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ลงมายังพื้นที่เพื่อควบคุมปฏิบัติการ
ระยะเวลา : ในการควบคุมเหตุกราดยิงแบบข้ามวันข้ามคืนจนถึงการลงมือวิสามัญฆาตกรรมรวม 17 ชั่วโมง
ความสูญเสียต่อชีวิต : ประชาชนเสียชีวิตรวม 29 ราย และบาดเจ็บ 57 ราย
มูลเหตุแห่งการเกิดเหตุ: ผู้ก่อเหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ โดย 2 ฝ่ายได้ซื้อขายที่ดินผิดสัญญากันในเรื่องผลตอบแทน
เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
เหตุอุกฉกรรจ์ครั้งร้ายแรงนี้ กลายเป็นที่สนใจของสำนักข่าวต่างชาติเนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก โดยผู้ก่อเหตุคือ ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ เคยรับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรนาวัง จ. หนองบัวลำภู ก่อนถูกไล่ออกจากราชการจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ต.ค. 2565 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 46 ปี เหตุสังหารหมู่นักศึกษากลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519
ผู้ก่อเหตุได้ขับรถไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต. อุทัยสวรรค์ อ. นากลาง จ. หนองบัวลำภู แล้วก่อเหตุกราดยิงเด็กอนุบาลขณะที่บางคนยังนอนหลับพักผ่อนอยู่ ก่อนที่เขาจะกลับมาก่อเหตุอีกครั้งที่บ้านด้วยการสังหารภรรยาและลูกเลี้ยง และปลิดชีพตัวเอง
ระยะเวลาและความสูญเสียต่อชีวิต: แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าระงับเหตุเพราะผู้ก่อเหตุใช้ระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ผลที่เกิดขึ้นและความสูญเสียถือว่าไม่น้อย โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 37 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก และในจำนวนนั้นรวมผู้ก่อเหตุไปด้วย ส่วนผู้บาดเจ็บมีอย่างน้อย 10 คน
มูลเหตุแห่งการเกิดเหตุ: สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน แต่จากการเปิดเผยของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า อาจจะมีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเงิน และอาจจะเชื่อมโยงกับความเครียดสะสมที่เกิดจากการต้องจ่ายค่างวดรถ ในช่วงที่มีปัญหาครอบครัวรุมเร้า รวมทั้งถูกไล่ออกจากราชการตำรวจจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
เหตุตำรวจคลั่งใช้อาวุธยิงกราดภายในบ้านย่านสายไหม
แม้เหตุการณ์นี้จะไม่ถือว่าเป็นเหตุกราดยิง แต่ก็สร้างความสะเทือนขวัญให้กับชุมชนในหมู่บ้านมั่นคง เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ก่อเหตุคือ พ.ต.ท. กิตติกานต์ แสงบุญ สารวัตรฝ่ายปกครอง ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ได้ใช้อาวุธปีนยิงกราดภายในบ้านอย่างต่อเนื่อง
ระยะเวลาและความสูญเสียต่อชีวิต: ในปฏิบัติการยับยั้งเหตุดังกล่าวต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยคอมมานโดรวมกว่า 100 นาย เพื่อควบคุมสถานการณ์ ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งการเจรจา ใช้แก๊สน้ำตา พร้อมกับให้ญาติช่วยเกลี้ยกล่อม รวมเป็นระยะเวลาราว 28 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเหตุครั้งนั้น แต่ผู้ก่อเหตุได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมาในวันที่ 15 มี.ค.
มูลเหตุแห่งการเกิดเหตุ: พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบายว่า ตลอด 28 ชั่วโมง ที่พยายามเจรจากับสารวัตรกานต์ ตำรวจทุกนายมองเขาเป็น “ผู้ป่วย” ไม่ใช่คนร้าย โดยประเมินว่าแรงจูงใจการคลุ้มคลั่งไม่ได้เกิดจากเรื่องงาน แต่เป็นเพราะไม่สมหวังในความรัก จากการไปชอบผู้หญิงอายุน้อยกว่า
เหตุกราดยิงเพชรบุรี
แค่เพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ เหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุใช้ปีนยิงกราดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ที่ชุมชนแห่งหนึ่งใน ต.ต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ผู้ก่อเหตุคือ นายอนุวัช แหวนทอง โดยเขาได้ใช้ปืนกระหน่ำยิงคนในหมู่บ้านจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ระยะเวลาและความสูญเสียต่อชีวิต: ปฏิบัติการยับยั้งเหตุรวมทั้งการระงับเหตุซึ่งใช้เจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย ใช้ระยะเวลากว่า 15 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเจรจากว่า 15 ชั่วโมง มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งเป็นคู่กรณีกับผู้ก่อเหตุ และผู้เคราะห์ร้ายที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้จนกระทั่งเวลาราวเที่ยงคืนที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 3 ราย
มูลเหตุแห่งการเกิดเหตุ: พล.ต.ต.ปิติ นฤขัตรพิชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ปมการก่อเหตุในครั้งนี้ เกิดจากปัญหากับคู่กรณี ซึ่งเป็นนักศึกษา 2 คน ที่เช่าบ้านอยู่ตรงข้าม เมื่อเดือน พ.ย. 2565 มีปัญหาทะเลาะวิวาทเป็นคดีความ ขึ้นศาลมาแล้ว 2 ครั้ง โดยผู้ก่อเหตุเป็นจำเลย ช่วงบ่ายของวันที่ 22 มี.ค. ทั้ง 2 ฝ่าย มีนัดขึ้นศาลเป็นครั้งที่ 3 แต่ผู้ก่อเหตุไม่มาตามนัด
เราควรจัดการกับความเศร้าเสียใจหลังเหตุยิงกราดอย่างไร
ในช่วง 2-3 ปีหลัง สังคมไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์อาชญากรรมรุนแรงอย่าง เหตุกราดยิง หรือ เห็นความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยสร้างความบอบช้ำให้เกิดขึ้นในสังคมชาวอเมริกัน
เว็บไซต์ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เผยแพร่บทความแนะนำบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากเหตุกราดยิง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตทั้งผู้ที่พบเห็นข่าวดังกล่าว หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ประสบเหตุร้ายด้วยตัวเอง ดังนี้
1. เปิดใจสนทนาเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง: คุณสามารถขอความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากคนรอบข้างที่เป็นห่วงคุณได้ หรือผู้ที่รับฟังปัญหาหรือข้อกังวลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ทำให้คุณรู้สึกแปลกแยกหรือโดดเดี่ยว
2. พยายามสร้างความสมดุล: เมื่อเหตุโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น มักจะเกิดมุมมองและความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบในการมองโลก พยายามมองโลกให้สมดุลมากขึ้น ด้วยการเตือนสติตัวเองด้วยการอยู่กับบุคคลหรือสถานการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกมีความหมายและปลอดภัย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คอยให้การสนับสนุนทางจิตใจและให้กำลังใจ
3. หยุดพักและปิดการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์นั้นสักระยะ: อาจจะติดตามข่าวอยู่บ้าง แต่ก็ควรจำกัดปริมาณการรับรู้ข่าวสารลง ทั้งจากสื่ออินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสาร เพราะการเสพข่าวจะก่อให้เกิดความเครียดและยิ่งจะย้ำเตือนให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจขึ้นอีก การหยุดพักหรือปิดการรับรู้ข่าวสารชั่วคราว แล้วหันไปทำกิจกรรมเพื่อบำรุงจิตใจน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วย
4. ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง: การผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายต่อจิตใจก็ไม่แตกต่างจากการได้รับบาดแผลทางร่างกาย ดังนั้น จะต้องเข้าใจและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองว่า คนเราเจ็บปวดได้ เหนื่อยท้อได้
5. ดูแลสุขภาพให้ดีสมบูรณ์: การมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยส่งเสริมให้จัดการกับความเครียดส่วนเกินได้ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย หรือกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ โดยหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางขนานที่อาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจหรือร่างกาย
6. ช่วยเหลือบุคคลอื่น หรือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตของตัวเอง: การหากิจกรรมช่วยเหลือสังคม มักจะช่วยเยียวยาและทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ได้เช่นกัน
7. กรณีที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุโศกนาฏกรรม: การจัดการกับความโศกเศร้าต้องใช้ระยะเวลานานในการเยียวยา ดังนั้นจำเป็นต้องให้เวลาตัวเองในการเรียนรู้ความรู้สึกดังกล่าวรวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ
บางคนอาจจะขอปลีกตัวอยู่ที่บ้าน บางคนอาจจะกลับมามีกิจวัตรประจำวันได้ แต่อย่าลืมว่า การจัดการกับเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบต่อสภาพจิตใจต้องใช้เวลา
หากว่า ผู้ประสบเหตุการณ์ดังกล่าวยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยหาวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม
บทความโดย BBC NEWS ไทย
————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC NEWS ไทย / วันที่เผยแพร่ 23 มี.ค. 2566
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/crgqnd7w6npo