เมื่อเร็วๆ นี้มีคนร้ายเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป (Hacker) โดยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวประกอบไปด้วย เลขบัตรประจำตัวประชาชน, ชื่อ-นามสกุล, วัน เดือน ปีเกิด, ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ และพบมีการโพสต์จำหน่ายข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลคนไทย 55 ล้านรายการ ต่อมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนจนทราบว่าแฮ็กเกอร์ผู้ก่อเหตุที่ใช้ชื่อ 9near นั้นเป็นจ่าทหาร จ.ส.ท.เขมรัฐ บุญช่วย ทหารสังกัดกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ล่าสุดผู้ต้องหารายนี้ได้มอบตัวต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ก่อเหตุยังไม่ได้นำข้อมูลไปขายหรือนำไปใช้ เพียงเป็นการนำมาโพสต์เพื่อสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย และเป็นการกระทำส่วนบุคคลเท่านั้นตามที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยัน แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งสำหรับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) ของไทย
ข้อที่น่าสนใจคือ…ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเลือกตั้ง เรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้นนำไปสร้างเป็นประเด็นทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้อันเนื่องมาจากประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก แต่ยังมีความรู้ความเข้าใจต่อ cyber security ไม่มากพอ
ยิ่งไปกว่านั้น…ประเทศของเรายังไม่มียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่อิสระไม่ขึ้นต่อใคร ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของรัฐ และอดคิดไม่ได้ว่าการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศหรือกลุ่มอิทธิพลนอกประเทศหรือไม่ ….ในที่สุด การก่ออาชญากรรมไซเบอร์ที่เป็นการกระทำส่วนบุคคลก็อาจกลายเป็นเรื่องของการก่อการร้ายทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางได้
การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต้องมีความเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นต่อใคร แต่จากข้อมูลที่ได้ทราบมาประเทศอย่างสหรัฐอเมริกากำลังใช้ช่องทางต่างๆ แทรกแซงเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตน โดยได้ใช้ Pacific Northwest National Laboratories (PNNL) มาร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศก่อตั้ง “ศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Cybersecurity Center) เพื่อทำการประเมินสภาพแวดล้อมการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับชาติในไทย
นอกจากนี้ยังได้ใช้บริษัทเอกชน Bow Wave Capital Management ของสหรัฐอเมริกามาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจฟินเทค ซึ่งหนีไม่พ้นต้องมีการรวบรวมและขโมยข้อมูลส่วนตัวของพลเมืองคนไทย
การกระทำดังกล่าวเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแสวงหาความเป็นเจ้าโลกทางเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาภายใต้แนวคิด “America First” ซึ่งได้นำเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างเป็นเงื่อนไขทางการเมืองและการทหาร ทำให้ประเทศต่างๆ สูญเสีย “สิทธิดิจิทัล” และเป็นการขัดขวางการพัฒนาของประเทศที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพราะการสร้างพรรคพวกวงเล็กโดยใช้ข้ออ้างทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้นจะก่อให้เกิดความแตกแยก และส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเทคโนโลยีของโลก
บทความโดย ทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 เม.ย. 2566
Link : https://mgronline.com/local/detail/9660000036574