ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่คนทั่วโลกได้ทดลองใช้เอไอ โดยเฉพาะการเปิดตัวของ GPT4 รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดไปในวงกว้าง ผู้คนทั่วโลกต่างก็ได้พบกับศักยภาพใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกันอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะนำมาใช้ในการทำงาน การเรียนหรือชีวิตประจำวันได้ที่เอไอทำได้อย่างน่าทึ่ง
บิล เกตส์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ถึงกับนำเสนอมุมมองในเชิงบวกต่ออนาคตของเอไอผ่านจดหมายที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ส่วนตัว โดยบอกว่าเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตที่ได้เห็นการสาธิตเทคโนโลยีที่รู้สึกว่าเป็นการปฏิวัติวงการ
ครั้งแรกคือ การเห็นระบบอินเทอร์เฟซแบบกราฟิก (GUI) ในช่วงปี 1980 จนนำมาซึ่งระบบปฏิบัติการ Windows และเป็นพื้นฐานหลักของบริษัทไมโครซอฟท์ต่อมาอีกนับสิบปี การได้เห็นพัฒนาของเอไอ โดยทีม OpenAI เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 2 ที่บิล เกตส์รู้สึกตื่นเต้นประหลาดใจ จากการได้เห็นเอไอสามารถผ่านการสอบวิชาชีววิทยาขั้นสูงได้อย่างรวดเร็ว
ในจดหมาย บิล เกตส์ได้กล่าวถึงศักยภาพของเอไอในยุคต่อไปที่จะนำมาใช้พัฒนาทางธุรกิจ ตลอดจนงานด้านสาธารณสุขและการศึกษาให้ก้าวหน้า สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยสิ่งที่เอไอยังบกพร่องในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดย ณ จุดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอนาคตรูปแบบใหม่ที่กำลังจะมา
เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ได้มีกลุ่มผู้นำด้านเอไอออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ผ่านการออกจดหมายเปิดผนึกนำโดยอีลอน มัสก์ ร่วมกับผู้นำธุรกิจและนักวิชาการชื่อดังกว่า 1,000 คน
เช่น Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอ๊ปเปิ้ล Yuval Noah Harari นักคิดระดับโลก ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่างเซเปียนส์และโฮโมดิอุส รวมถึง Stuart Russell ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เขียนตำราหลักในด้านเอไอ อย่าง “Artificial Intelligence : a Modern Approach” ที่ทุกคนที่เรียนด้านเอไอต้องอ่านกัน
เนื้อหาหลักของจดหมายเปิดผนึกคือ การเรียกร้องให้หยุดพัฒนาเอไอลงอย่างน้อย 6 เดือนเป็นการชั่วคราวสำหรับการฝึกฝนเอไอที่เก่งไปกว่า GPT4
จดหมายเปิดผนึกได้ให้เหตุผลว่า การเพิ่มขึ้นของความสามารถของระบบเอไอที่สามารถแข่งขันกับมนุษย์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสังคมและมนุษยชาติโดยรวม
โดยระบบเอไอในปัจจุบันกำลังทำให้มนุษย์ยืนอยู่ที่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญ ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของเอไอกำลังจะเหนือกว่ามนุษย์อย่างรวดเร็วในหลากหลายงาน
จดหมายได้ตั้งคำถามถึงความเสี่ยงของเอไอ ทั้งประเด็นของโฆษณาชวนเชื่อ และข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงที่มีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้น ความเสี่ยงของการทำให้งานทั้งหมดเป็นอัตโนมัติและการแทนที่งานโดยเอไอ
รวมถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสียการควบคุมอารยธรรมของมนุษย์ ดังนั้น ระบบเอไอควรได้รับการพัฒนาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อเรามั่นใจว่าผลกระทบจะเป็นไปในเชิงบวกและเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้
เหล่าผู้นำจึงเรียกร้องให้ห้องปฏิบัติการเอไอทั้งหมดควรหยุดการพัฒนาลงชั่วคราว โดยเสนอให้หยุดการฝึกฝนเอไอที่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบ GPT4 ทันทีเป็นเวลา 6 เดือน และหากไม่มีการดำเนินการโดยสมัครใจก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง
ในช่วงที่หยุดชั่วคราวนี้ ห้องปฏิบัติการเอไอและผู้เชี่ยวชาญอิสระควรร่วมมือกันเพื่อสร้างโปรโตคอลความปลอดภัยที่ใช้ร่วมกันสำหรับการพัฒนาเอไอ เพื่อเปลี่ยนจากการแข่งขันกันพัฒนาเอไอที่เป็นกล่องดำที่คาดเดาไม่ได้ ไปเน้นที่การพัฒนาระบบเอไอที่แม่นยำ ปลอดภัยและเชื่อถือได้แทน
ในขณะเดียวกัน นักพัฒนาเอไอและผู้กำหนดนโยบายก็ต้องเร่งสร้างระบบการกำกับดูแลเอไอที่แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนาหน่วยงานกำกับดูแลโดยเฉพาะ กลไกการกำกับดูแลและการติดตาม ความรับผิดชอบต่ออันตรายที่อาจเกิดจากเอไอ
การหยุดพัฒนาลงชั่วคราวเพื่อตั้งหลักและเตรียมความพร้อมเพื่อทำให้การพัฒนาเอไอในอนาคตอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและสามารถจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
ณ วันที่เขียนบทความนี้ มีผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวไปแล้ว 2,482 คน กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในขณะนี้ เรากำลังอยู่ที่จุดเปลี่ยนอีกครั้งของอนาคตของเอไอที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทุกฝ่ายกำลังกลับมาทบทวนถึงโอกาสและความเสี่ยงในวงการต่างๆ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและจริยธรรม
เอไอจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะสำหรับนักเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องตระหนักและทำความเข้าใจ
ตั้งแต่ผู้ดำเนินนโยบาย ผู้นำภาครัฐและเอกชน นักการศาสนาและครูบาอาจารย์ คนทำงาน พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ทุกฝ่ายจะต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งจะเป็นจุดพลิกครั้งสำคัญต่ออนาคตของทุกคน
บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 เม.ย. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1061560