ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก่อนจะถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูก โดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้พ่ายแพ้สงครามในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ห้ามมิให้ญี่ปุ่นมีกองทัพทหารเยี่ยงประเทศอื่นใด แต่อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังสามารถมีกองกำลังป้องกันตนเองได้ (Self-defense force) โดยจะต้องปฏิบัติการแค่ภายในอาณาบริเวณ หรือน่านน้ำและน่านอากาศ และบนภาคพื้นดินภายในเขตดินแดนของตนเองเท่านั้น
ญี่ปุ่นจึงตกในสภาพที่อยู่ใต้อาณัติของสหรัฐอเมริกา ผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปริยาย เพราะสหรัฐฯ ได้ตั้งฐานทัพ และกองกำลังอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนัยของการควบคุมญี่ปุ่นให้อยู่ในร่องในรอยและในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็อ้างตนว่าเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองญี่ปุ่นจากภยันตรายจากภายนอกประเทศด้วย จึงจัดได้ว่าญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางด้านการทหารและความมั่นคงอย่างเหนียวแน่น
จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นรู้สึกว่ามีความมั่นคงปลอดภัย ก็เพราะมีสหรัฐฯ คอยเป็นโล่ และผู้ปกป้องคุ้มครองภัยให้ แต่ในระยะหลังๆ สหรัฐฯ ที่ทำตนเป็นเสมือนตำรวจโลก ได้มีภารกิจที่หลากหลายไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันก็พยายามเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรต่างๆ มาร่วมแบกภาระ แทนการพึ่งพาจากสหรัฐฯ อย่างเดียวแบบแต่ก่อน และยังขอให้ร่วมมือช่วยเหลือสหรัฐฯ ในโอกาสสำคัญที่จำเป็น ด้วยการร้องให้ประเทศพันธมิตรจัดเพิ่มงบประมาณทางทหาร เสริมสร้างความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ และการขยายและพัฒนากำลังพล อีกทั้งภยันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของโลก ก็มีรูปแบบขึ้นมาใหม่ เช่น การก่อการร้ายสากล และการบ่อนทำลายซึ่งกันและกันทางด้านระบบการสื่อสารทางอวกาศ ซึ่งประเทศที่เป็นพันธมิตรกันก็จะต้องร่วมมือกันมากขึ้น
ในการนี้ญี่ปุ่นจึงเริ่มปรับความคิด และการปรับตัวทางด้านความมั่นคง โดยฝ่ายผู้นำทางการเมืองก็มีเป้าหมายที่จะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การเปลี่ยนชื่อกองกำลังป้องกันตนเอง ให้เป็นกองทัพ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วไป แต่ก็ประสบกับเสียงคัดค้านภายในประเทศ ที่ยังคงต้องการรักษาสถานะของญี่ปุ่น ให้เป็นประเทศที่ใฝ่หาและยึดมั่นในเรื่องสันติ (Pacifist)
แต่อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็สามารถปรับท่าที และกระบวนยุทธ ขึ้นมาเป็นระยะๆ เช่น การอนุญาตให้กองกำลังของญี่ปุ่นออกไปทำการลาดตระเวน และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในทะเลหลวง ห่างจากเขตอาณาทะเลภายในออกไปได้เป็นพันกว่ากิโลเมตร หรือการที่ฝ่ายกองกำลังญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนประเทศพันธมิตรในการส่งกำลังบำรุง เพื่อช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในการต่อสู้กับการก่อการร้ายสากล หรือในกิจการรักษาสันติภาพในกรอบขององค์การสหประชาชาติ
แต่จากการที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีภัยคุกคามมาจากประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารในระดับโลกถึง 3 ประเทศด้วยกันคือ จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากการพิพาทว่าด้วยเขตแดนทางทะเลกับจีน และกับรัสเซีย อีกทั้งจีนและรัสเซียก็ได้ดำเนินการซ้อมรบในบริเวณรอบๆ เกาะต่างๆ ของญี่ปุ่นเป็นเนืองนิตย์ในขณะเดียวกันเกาหลีเหนือก็ดำเนินการคุกคามอย่างต่อเนื่องในเรื่องการทดลองยิงขีปนาวุธระยะใกล้และกลาง เข้ามาใกล้หรือข้ามเกาะต่างๆ ของญี่ปุ่น อีกทั้งในภาพกว้างในระดับโลก จีนและรัสเซียก็ผนึกกำลังในการต่อต้านและขจัดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งการที่ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรอันแน่วแน่กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นก็ต้องเข้าข้างสหรัฐฯ ในการต่อต้านการรุกรานและการขยายอิทธิพลของรัสเซียและจีน โดยญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มงบประมาณทางด้านการทหารและความมั่นคงเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อจัดซื้อจรวด ขีปนาวุธแบบโทมาฮอว์กจากสหรัฐฯ 400 ลูก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจากการตั้งรับป้องกัน เป็นการตั้งรับและโต้ตอบกลับ (แต่ยังไม่ถึงขั้นการครอบครองอาวุธเพื่อการบุกรุกและโจมตี)
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจที่จะเริ่มให้ความช่วยเหลือทางด้านทหารแก่มิตรประเทศ เช่นการจัดส่งหมวกเหล็กและเสื้อเกราะไปให้กับทหารยูเครน ในการสู้รบและป้องกันตนเองกับฝ่ายรัสเซีย และญี่ปุ่นได้เริ่มจัดส่งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารให้กับมิตรประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฟิจิ ในการเสริมสมรรถนะในระบบการสอดส่องดูแลการเคลื่อนไหวของเรือและเครื่องบินต่างชาติ (เนื่องจากจีนมักจะล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำ น่านอากาศของประเทศเหล่านี้) หรือเข้ามาทำการสอดแนม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศเหล่านี้ในการป้องกันตนเอง เท่ากับว่าญี่ปุ่นกำลัง “ส่งออก”ความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคงไปยังประเทศร่วมอุดมการณ์ หรือประเทศที่กำลังถูกจีนคุกคาม นอกจากนั้น ล่าสุดญี่ปุ่นก็จะร่วมซ้อมรบทางทะเลกับสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมมือช่วยเหลือมิตรประเทศแค่ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าอีกต่อไป แต่ได้เริ่มที่จะมีการร่วมมือช่วยเหลือมิตรประเทศทางด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีและกระบวนยุทธ์อย่างใหญ่หลวง และจะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปทางด้านความมั่นคง หรือภูมิศาสตร์ทางการเมืองไปอย่างมาก
สำหรับประเทศไทยเราก็ยังไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในเรื่องความมั่นคงและการทหาร เพราะประเด็นปัญหาที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมักจะชอบที่จะให้ประชาชนพลเมืองอยู่ในความมืดขององค์ความรู้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขการสื่อสารต่อประชาชนพลเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศ และก็หวังว่าในฤดูการหาเสียงในขณะนี้จะมีพรรคการเมืองออกมาเสนอตัวในเรื่องนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศด้วย คนไทยเราก็จะได้รู้ว่า เรามีจุดยืนและที่ยืนอยู่ตรงไหนในเวทีภูมิภาคและในโลกกว้าง
บทความโดย กษิต ภิรมย์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เเนวหน้าออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 เม.ย. 2566
Link : https://www.naewna.com/politic/columnist/54891