เหตุการณ์ที่มีผู้โยนระเบิดควันใส่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ระหว่างการเดินสายหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ ก่อให้เกิดคำถามถึงการรักษาความปลอดภัยต่อบรรดาผู้นำประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมกลุ่ม จี7 (Group of Seven) ที่ญี่ปุ่นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เมื่อวันเสาร์ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ถูกนำตัวออกจากพื้นที่ขณะกล่าวปราศรัย หลังผู้ต้องสงสัยโยนวัตถุคล้ายระเบิดควันใส่บริเวณสถานที่กล่าวปราศรัยที่จังหวัดวากายามะ ทางตะวันตกของประเทศ ตามรายงานของรอยเตอร์ที่อ้างอิงจากสื่อญี่ปุ่น
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคระบุว่า มีเสียงระเบิดดังเกิดขึ้น แต่ผู้นำญี่ปุ่นได้รับการคุ้มกันและไม่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ตำรวจเข้าควบคุมชายผู้ก่อเหตุ โดยเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นที่ท่าเรือประมงไซกาซากิ ในจังหวัดวากายามะ
คลิปวิดีโอจากเอ็นเอชเคเผยให้เห็นฝูงชนวิ่งหนีขณะตำรวจหลายนายเข้ากดตัวชายคนหนึ่งลงกับพื้น ก่อนนำตัวเขาออกไปจากพื้นที่ โดยสื่อรายงานว่า ชายคนดังกล่าวอาจมีอายุในช่วง 20-39 ปี และก่อนก่อเหตุเขาอยู่ห่างจากนายกฯ คิชิดะ เพียง 10 เมตรเท่านั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการรักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งนานที่สุด ถูกลอบยิงสังหารด้วยปืนที่ทำขึ้นเองขณะหาเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญระดับชาติและทำให้มีการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยของนักการเมืองที่ต้องลงพื้นที่สาธารณะเป็นประจำ
ศาสตราจารย์มิตสึรุ ฟุกุดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวิกฤติก่อการร้าย แห่งมหาวิทยาลัยนิฮอน (Nihon University) กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นความล้มเหลวด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังกล่าวปราศรัยในสถานที่ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งเขาไม่สามารถได้รับการปกป้องได้เลย”
“หลังจากเกิดเหตุลอบสังหาร (นายอาเบะ) ตำรวจรับปากว่าจะทบทวนและปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ แต่ไม่คิดว่ามีการจัดการแก้ไขอะไรเกิดขึ้น” ศาสตราจารย์ฟุกุดะกล่าว
จนถึงขณะนี้ ตำรวจยังไม่เปิดเผยแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุปาระเบิดควันเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญสำหรับญี่ปุ่นที่กำลังเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม จี7 ในขณะนี้ และการประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่ม จี7 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ที่เมืองฮิโรชิมา
ศาสตราจารย์ฟุกุดะ ระบุว่า ในงานประชุมใหญ่ระหว่างประเทศเช่นนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจัดหาการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็งด้วยการนำตำรวจจำนวนมากเข้าประจำการบริเวณสถานที่จัดการประชุม แต่ปัญหาคือในงานขนาดเล็กและเป็นทางการน้อยกว่าที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงมากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ว่า “เรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทางการญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดและระบบการรักษาความปลอดภัยโดยรวมเสียใหม่ เนื่องจากโอกาสที่จะมีผู้ตกเป็นเป้าหมายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก”
อิซาโอะ อิตาบาชิ นักวิเคราะห์แห่ง Council for Public Policy Chief เสนอว่า การปรากฎตัวของนักการเมืองระดับสูงของประเทศควรถูกจำกัดให้อยู่ภายในอาคาร และมีการตรวจรักษาความปลอดภัยของผู้ร่วมงานอย่างเข้มงวด เช่น การตรวจกระเป๋า และใช้เครื่องสแกนโลหะต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน สื่อหลายแห่งชี้ว่า แม้รายงานเบื้องต้นจะชี้ว่าระเบิดที่ผู้ก่อเหตุใช้เมื่อวันเสาร์นั้นเป็นระเบิดควัน แต่ก็มีแรงระเบิดที่ทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างสามารถลอยไปไกลได้ถึง 40 เมตร และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ จากการสืบสวนที่บ้านพักของผู้ก่อเหตุพบวัสดุหลายอย่างที่สามารถนำไปผลิตเป็นระเบิดจริงได้อีกด้วย
อ้างอิง รอยเตอร์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 18 เม.ย. 2566
Link : https://www.voathai.com/a/attack-in-japan-raises-alarm-about-vip-security-weeks-before-g7-summit/7053783.html