เด็กนักเรียนหญิงหลายสิบคนยังคงถูกวางยาพิษในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศอิหร่าน นับเป็นเหตุปริศนาที่ดำเนินยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน นักเรียนหญิงอิหร่านจำนวนหลายร้อยคนในโรงเรียนหลายแห่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ยาพิษอย่างกะทันหันทั้งแก๊สพิษและสารพิษ ในบางกรณีทำให้นักเรียนเป็นลมหมดสติและต้องเข้าโรงพยาบาล
มีรายงานผู้ป่วยรายแรกๆ ในช่วงที่การประท้วงในอิหร่านกำลังดำเนินไปด้วยความรุนแรง ในช่วงแรกมีโรงเรียนหญิงล้วนเพียงไม่กี่แห่งในกอม ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์คล้ายๆ กันได้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ หรือแม้กระทั่งผู้อาจก่อเหตุ
มีรายงานภายในว่า รัฐบาลสงสัยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงว่าน่าจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนและคำชี้แจงจากหน่วยงานใดๆ ของรัฐอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ผู้ปกครองพากันร้อนใจและเดือดดาล
ล่าสุด การวางยาปริศนายังคงดำเนินต่อไป เมื่อมีรายงานนักเรียนอย่างน้อย 60 คนถูกวางยาพิษในโรงเรียนหญิงล้วนในเมืองฮัฟท์เคลของจังหวัดคูเซสสถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ตามข้อมูลจากสำนักข่าวไออาร์ไอบี
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวฯว่า มีเด็กนักเรียนหญิงจำนวนหนึ่งถูกวางยาพิษในโรงเรียนอีก 5 แห่งในเมืองอาร์ดาบิลทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเหยื่อแสดงอาการอึดอัด, หายใจติดขัด และปวดศีรษะ
เช่นเดียวกับเมืองเออร์เมียของจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตก ที่มีรายงานว่าเด็กนักเรียนหญิงจำนวนหนึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันเสาร์ หลังจากรู้สึกไม่สบายตัว
จากการนับอย่างเป็นทางการเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม มีนักเรียนมากกว่า 5,000 คนได้รับผลกระทบจากสารพิษที่คล้ายกัน ในสถานศึกษามากกว่า 230 แห่งใน 25 จังหวัด จากทั้งหมด 31 จังหวัดทั่วประเทศ
เมื่อวันศุกร์ ส.ส.ฮามิเดรซา คาเซมี หัวหน้าคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนกรณีเหล่านี้ ระบุว่า “รายงานขั้นสุดท้าย” จะได้รับการเผยแพร่ในอีก 2 สัปดาห์
“เราได้รับรายงานจากหน่วยงานต่างๆ และเรากำลังศึกษาประเด็นนี้เพื่อเสนอข้อสรุปต่อรัฐสภา” คาเซมีกล่าวแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐ
เมื่อต้นเดือนมีนาคม อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เรียกร้องให้ตัดสินโทษขั้นรุนแรงจนถึงประหารชีวิต ต่อผู้ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับสารพิษดังกล่าว ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็น “อาชญากรรมที่ให้อภัยไม่ได้”
คดีวางยาพิษเริ่มขึ้นสองเดือนให้หลังจากการคลื่อนไหวประท้วงในอิหร่านซึ่งจุดชนวนจากกรณีมาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด เสียชีวิตหลังจากถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในกรุงเตหะราน ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดกฎที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมศีรษะฮิญาบและเสื้อผ้าที่สุภาพเรียบร้อย
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยโพสต์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 เม.ย. 2566
Link : https://www.thaipost.net/abroad-news/357244/