กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ ฉวยโอกาสช่วงค่าไฟฟ้าแพง
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวเตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพเข้ามาแฝงตัวในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ดังนี้
ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่าเริ่มมีผู้เสียหายหลายรายทยอยแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายแผงโซลาร์เซลล์ หรืออุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ให้กับเหยื่อผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายการอุปโภคและบริโภคจากการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบของที่พักอาศัย โดยมิจฉาชีพฉวยโอกาสในช่วงโซลาร์เซลล์กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โพสต์ประกาศขายสินค้าดังกล่าวในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด ใช้รูปภาพที่คัดลอกมาจากช่องทางที่มีการซื้อจริง โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ และมีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจว่าสินค้าใกล้จะหมด นอกจากนี้แล้วมิจฉาชีพยังใช้วิธีการสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหลอกลวงขายสินค้าประเภทดังกล่าวอีกด้วย
ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 16 เม.ย.66 พบว่าการหลอกลวงซื้อสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อ โดยได้แจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์สูงที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวนกว่า 85,395 เรื่อง หรือคิดเป็น 35.61% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,255 ล้านบาท
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอประชาชนพึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วรีบโอนเงิน โดยขอประณามการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงเร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกราย ไม่มีละเว้น เพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ล่าสุดได้จับกุมแก๊งหลอกลวงเหยื่อส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง ทลายโกดังตรวจยึดของกลางจำนวนมาก อยู่ระหว่างขยายผลไปยังนายทุนจีนที่อยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม ขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัทหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่าของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล
3.ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ประกาศขายสินค้าเบื้องต้นว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ มีเพื่อนมากน้อยเพียงใด สร้างบัญชีมานานเท่าใด เป็นต้น
4.ระมัดระวังเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจเฟซบุ๊กจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน และสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้
5.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊กว่ามีการเปลี่ยนชื่อขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ
6.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม นอกจากภาพที่ประกาศขาย สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
7.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือบัญชีอวตารหรือไม่
8.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
9.เมื่อชำระเงินแล้วควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง
10.กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรถ่ายคลิปวิดีโอพร้อมการเปิดกล่องพัสดุดูสินค้าว่าตรงกับที่สั่งหรือไม่ สินค้าชำรุดหรือไม่
11.หากท่านไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธและห้ามชำระเงิน หากไม่มั่นใจให้สอบถามบุคคลในบ้านให้ชัดเจน
12.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวไทย / วันที่เผยแพร่ 25 เม.ย. 2566
Link : https://tna.mcot.net/crime-1160494