เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปรุ่นใหม่ “ฮวาซอง-18” ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชนิดแข็ง (solid-fuel intercontinental ballistic missile) โดยอ้างว่าจะช่วยยกระดับศักยภาพในการโจมตีตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์อย่างมีนัยสำคัญ
สำนักข่าว KCNA รายงานวันนี้ (14 เม.ย.) ว่า ผู้นำ คิม ได้เดินทางไปมอบคำแนะนำในการยิงทดสอบด้วยตนเอง และเตือนว่าขีปนาวุธรุ่นนี้จะทำให้บรรดาศัตรูของเกาหลีเหนือ “ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านความมั่นคงที่ชัดเจน และเกิดความกังวลและหวาดกลัวอย่างสุดขีด (extreme uneasiness and horror) เพราะมันจะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถโจมตีตอบโต้ได้อย่างรุนแรง จนกระทั่งพวกเขาต้องยอมหยุดความคิดและการกระทำที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ”
KCNA ได้เผยแพร่ภาพผู้นำ คิม ชมการปล่อยจรวดฮวาซอง-18 พร้อมกับภริยา “รี ซอลจู” น้องสาว “คิม โยจอง” และบุตรสาวคนโปรด “คิม จูแอ”
“โครงการพัฒนา ICBM รุ่นใหม่ ฮวาซองโพ-18 จะปฏิรูปองค์ประกอบในด้านการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมประสิทธิภาพในการโจมตีตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อยุทธศาสตร์ทางทหารเชิงรุก”
ขีปนาวุธดังกล่าวถูกปล่อยจากฐานยิงใกล้ ๆ กรุงเปียงยาง และเดินทางไปได้ไกลราว 1,000 กิโลเมตร ก่อนจะตกลงสู่ทะเลนอกชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ ซึ่งรัฐบาลโสมแดงยืนยันว่าการทดสอบครั้งนี้ไม่ก่อภัยคุกคามใดๆ ต่อเพื่อนบ้าน
ด้านเจ้าหน้าที่กองทัพเกาหลีใต้ให้ข้อมูลว่า ขีปนาวุธโสมแดงพุ่งขึ้นไปถึงระดับความสูงต่ำกว่า 6,000 กิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าสถิติสูงสุดที่เคยทำได้เมื่อปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์เชื่อว่า นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการใช้เชื้อเพลิงแข็งขับเคลื่อนขีปนาวุธพิสัยกลางกึ่งสูง (intermediate-range missile) หรือขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) โดยการพัฒนา ICBM เชื้อเพลิงแข็งนั้นถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโสมแดงมานานแล้ว เพราะจะช่วยให้สามารถประจำการขีปนาวุธได้เร็วขึ้นในกรณีที่ต้องทำสงคราม
ทั้งนี้ ขีปนาวุธขนาดใหญ่ ๆ ของเกาหลีเหนือส่วนมากยังคงใช้เชื้อเพลิงเหลว (liquid fuel) ซึ่งต้องใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิงค่อนข้างนาน และยังมีความเสี่ยงสูงด้วย
“สำหรับประเทศใด ๆ ก็ตามที่ต้องการสร้างกองกำลังขีปนาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็งย่อมเป็นที่พึงปรารถนามากกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเติมในทันทีก่อนใช้งาน” อันกิต ปันดา นักวิจัยอาวุโสจากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ให้ความเห็น
“ศักยภาพเหล่านี้จะสามารถตอบโต้ได้ดีกว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น”
ปันดา ยังเชื่อว่าเกาหลีเหนือคงจะเก็บขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวเอาไว้ใช้งานต่อไปด้วย ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรประเมินสถานการณ์ได้ยากขึ้นเมื่อเกิดสงคราม
ที่มา : รอยเตอร์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 เมษายน 2566
Link : https://mgronline.com/around/detail/9660000034781