สพฐ. เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 เน้นสร้างความปลอดภัยนักเรียนทุกมิติ กำชับสถานศึกษาเข้าถึงสวัสดิภาพเด็กรายบุคคล เสริมสร้างคุณภาพเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองสำคัญของชาติ
15 พ.ค. 66 – นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ที่สถานศึกษาจะต้องสร้างให้เกิดขึ้น เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ในการสร้างคุณภาพของเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองสำคัญของชาติ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มองเห็นภัยที่เกิดแก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงเปิดการเรียนการสอน จึงขอให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา การเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย และการจัดกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียน ดังนี้
1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียนตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียนถึงบ้าน กล่าวคือ ในการเดินทางมาเรียนของนักเรียน ต้องมีการดูแลนักเรียน โดยมีการจัดครูเวรดูแลหน้าประตูโรงเรียนช่วงเช้าและเย็น มีการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียนที่ปลอดภัย
รวมถึงการใช้รถบนท้องถนนและพาหนะในการมาเรียนของนักเรียน โดยจัดบริเวณที่จอดรถให้มีความปลอดภัยต่อนักเรียน กำหนดพื้นที่จอดรถและจุดรับ-ส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย และจัดครูดูแลทางข้ามม้าลายหน้าโรงเรียน
ส่วนในด้านการจัดสภาพแวดล้อมให้นักเรียนปลอดภัย ต้องมีการเข้มงวดกวดขันให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ “ปลอดภัยยาเสพติด/สารเสพติดทุกชนิด” รวมถึงสมุนไพรควบคุม (กัญชา) และปลอดอาวุธทุกชนิด ในขณะที่ประตูโรงเรียน รั้วโรงเรียน ต้องมีความแข็งแรงไม่ชำรุด มีการสำรวจและซ่อมบำรุงระบบป้องกัน ระบบแจ้งเตือน ระบบอาณัติสัญญาณเตือนภัยให้สามารถพร้อมใช้งาน
อาทิ สัญญาณเสียงเตือนภัย ทางหนีไฟหรือประตูหนีไฟ สัญญาณเตือนอัคคีภัย เครื่องตรวจจับควันไฟ เครื่องตรวจจับความร้อน ระบบไฟสำรอง ระบบป้องกันไฟฟ้ารั่ว ระบบสายดิน ไฟฉายฉุกเฉิน ถังดับเพลิง เป็นต้น
พร้อมทั้งขจัดมุมอับและจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อนักเรียน อาทิ สายไฟฟ้าแรงต่ำ ไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารเรียนและอาคารประกอบ พื้นที่อันตรายในเขตก่อสร้าง สระน้ำ บ่อน้ำ คูคลอง รางระบายน้ำ อาคารที่ชำรุด บริเวณพื้นที่รกร้างตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ ติดตั้งกล้องวงจรปิด เป็นต้น
สำหรับในส่วนของสนามเด็กเล่น เครื่องเล่น ต้องปลอดภัย ไม่ชำรุด เครื่องเล่นมีการยึดฐานติดกับพื้นแข็งแรง รวมถึงห้องน้ำ ห้องส้วม ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีป้ายสัญลักษณ์บอกห้องน้ำชายหรือหญิงที่ชัดเจน มีการปรับปรุงห้องน้ำให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอไม่เป็นมุมอับ มุมเสี่ยง โรงอาหารสะอาดถูกสุขลักษณะ มีที่นั่งเพียงพอสำหรับนักเรียน มีครูดูแลในช่วงที่นักเรียนรับประทานอาหาร มีการจัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และสร้างเครือข่ายการสื่อสารความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
พร้อมทั้งตรวจสอบและคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้าและออกสถานศึกษาตลอดเวลา อาทิ ผู้มาติดต่อราชการ ผู้ปกครองนักเรียน หรือบุคคลภายนอกอื่น ๆ ที่จะเข้ามาภายในสถานศึกษาทุกกรณีอย่างเคร่งครัด ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ
นอกจากนั้น ในด้านการให้บริการและดูแลด้านโภชนาการ ด้านสุขภาพ ต้องจัดรายการอาหารกลางวันที่มีคุณค่าครบถ้วนตามหลักโภชนาการและเพียงพอสำหรับนักเรียนแต่ละช่วงวัย โดยบุคลากรที่มีหน้าที่ประกอบอาหารต้องปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีการบำรุงรักษาภาชนะ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารให้สะอาดถูกสุขอนามัย จัดเก็บให้เป็นสัดส่วน มีที่บริการน้ำดื่มที่สะอาด เพียงพอ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข
งดจำหน่าย หรือปรุง หรือโฆษณา อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของยาเสพติด/สารเสพติดทุกชนิด รวมทั้งสมุนไพรควบคุม (กัญชา) และต้องมีห้องพยาบาลเบื้องต้น มีเวชภัณฑ์ยา มีการตรวจสอบวันหมดอายุของยา มีครูอนามัยโรงเรียนหรือผู้รับผิดชอบ ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้
ทางด้านการป้องกันภัยธรรมชาติ ในเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขอให้สถานศึกษาเฝ้าระวังสถานการณ์คุณภาพอากาศโดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และคู่มือแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
ส่วนภัยที่เกิดจากพายุฤดูร้อน ขอให้สถานศึกษาเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากพายุฤดูร้อน ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนที่รุนแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน และน้ำป่าไหลหลาก อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษาต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยที่เกิดจากพายุฤดูร้อน
และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งขณะนี้ มีการระบาดเพิ่มขึ้นภายหลังเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 เพื่อให้นักเรียนปลอดภัย ขอให้สถานศึกษายังคงเฝ้าระวัง เคร่งครัดตามมาตรการ 6-6-7 และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
หากมีเหตุเกิดขึ้นให้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ให้สถานศึกษาหารือกับผู้ปกครองในวันประชุมปฐมนิเทศก่อนเปิดเทอมในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เพื่อทำความเข้าใจและขอความยินยอมจากผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน
สำหรับการป้องกันภัยจากยาเสพติด ให้สถานศึกษาดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ขณะที่การป้องกันภัยจากการพกอาวุธมาโรงเรียน ให้จัดทำข้อมูลและเฝ้าระวังกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง เป็นพิเศษ โดยจัดให้มีมาตรการป้องกัน ตรวจสอบและควบคุมการใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่เป็นอันตรายและสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักเรียนหรือบุคลากรในโรงเรียนได้
พร้อมทั้งติดตั้ง ‘emergency panic button’ หรือปุ่มแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณเตือนดังออกไปภายนอกอาคาร เพื่อความรวดเร็วในการเข้ามาช่วยเหลือจากผู้รักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ผู้เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการเอาตัวรอดให้กับครูและผู้เรียน
มีป้ายประชาสัมพันธ์สายด่วน หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ฉุกเฉิน ติดไว้ทุกอาคารเรียน ฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉินในโรงเรียนอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติหรือภัยคุกคามทุกรูปแบบ และจัดระบบรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเข้มงวด โดยมีเครือข่ายจากภายนอกร่วมดำเนินการ
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) โดยให้สถานศึกษาเฝ้าระวังนักเรียน จากโรคลมแดด หรือ “ฮีทสโตรก” ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
2. การเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ให้สถานศึกษาเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเด็กก่อนเปิดภาคเรียน โดยสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งต้องนำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาใช้ ตามองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ
คือ จัดให้มีการเยี่ยมบ้านนักเรียน คัดกรองสุขภาวะทางจิต จำแนกเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา กรณีพบว่ามีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา ให้รีบดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาทันที โดยให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งตระหนักถึงผลกระทบสุขภาวะทางจิตของเด็กนักเรียน
เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ซึ่งไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย หากสถานศึกษามีการเก็บเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่ม ให้สถานศึกษาพิจารณางด หรือขยายระยะเวลา หรือลดจำนวนการเก็บเงินค่าใช้จ่ายนั้น โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
หากมีการร้องเรียน ร้องทุกข์เป็นสื่อสาธารณะในวงกว้าง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือเจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือนักเรียน เพื่อลดปัญหาทางสุขภาพจิต
โดยให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบสาธารณสุขและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาวะทางจิต เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที จัดให้มีคณะกรรมการระดับสถานศึกษา โดยมีเครือข่ายภายนอก เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงานเอกชน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ร่วมกันเฝ้าระวัง ที่สามารถติดต่อหรือส่งต่อได้อย่างทันท่วงที พร้อมส่งเสริมการปฏิบัติของครูแนะแนวหรือครูที่ปรึกษาแกนนำที่ดูแลนักเรียนด้านจิตใจให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ โดยให้ได้รับการอบรมหลักสูตรผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อการคุ้มครองเด็ก ถ้าผ่านหลักสูตรจะได้รับเกียรติบัตรจาก สพฐ.
3. การจัดกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียน ในช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เพื่อให้มีการเปิดเรียนอย่างมีความสุขและปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชน และสังคมว่า สพฐ. มีแนวทางสร้างความปลอดภัย และดูแลคุ้มครองนักเรียนในทุกมิติ มีการพัฒนาความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
สพฐ. จึงกำหนดให้มีกิจกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ได้พบปะสนทนากับผู้ปกครองนักเรียน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เจตคติซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างบ้านกับนักเรียน ทำให้ครูได้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนอย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
โดยมีขั้นตอนการเยี่ยมบ้าน 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ ระยะเยี่ยมบ้าน และระยะหลังการเยี่ยมบ้าน โดยกลับมาทบทวนข้อมูล สรุปรายงาน และความเห็นของผู้เยี่ยมบ้าน เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูล และนำไปใช้ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน และแก้ไข ได้อย่างทันเวลาและถูกวิธี
ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องประสานสัมพันธ์ให้หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ข้าราชการในเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียน เห็นความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และการเยี่ยมบ้านนักเรียน
โดยเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเยี่ยมบ้านนักเรียนกับโรงเรียนในพื้นที่ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบและเห็นความสำคัญเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการเยี่ยมบ้านนักเรียน และประสานงานสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาเพื่อกำหนดแผนการเยี่ยมบ้านนักเรียนร่วมกัน
ขณะเดียวกัน สถานศึกษาต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและประชาชนทราบการดำเนินงาน และมอบหมายให้ครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น กำหนดแผนการเยี่ยมบ้านนักเรียนให้ชัดเจน โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ระยะทาง สมาชิกในครอบครัวนักเรียน พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และประเด็นในการสนทนา และสรุปรายงานความเห็นของผู้เยี่ยมบ้าน เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลนักเรียนต่อไป
“สพฐ. ได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง โดยเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 อย่างครบถ้วนรอบด้าน พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุรับมืออยู่เสมอ
ขอให้ผู้ปกครองและนักเรียนเชื่อมั่นได้ว่า การเปิดภาคเรียนใหม่นี้จะสามารถดำเนินการไปได้อย่างเรียบร้อย และโรงเรียนจะเป็นสถานที่ปลอดภัยในการสร้างคุณภาพของเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นพลเมืองสำคัญของชาติได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ.
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : khaosod / วันที่เผยแพร่ 15 พ.ค. 2566
Link : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7664553