กฎหมายต้านจารกรรมจีน สะเทือน’ธุรกิจต่างชาติ’ ขณะที่การขาดความโปร่งใสของการตรวจสอบของจีน สร้างความตื่นตระหนกให้กับบรรดากลุ่มธุรกิจข้ามชาติในจีนอย่างมาก
ธุรกิจต่างชาติในจีนตกอยู่ในภาวะกระวนกระวายใจ หลังมีการตรวจสอบด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ในบรรดาธุรกิจให้คำปรึกษาที่เป็นของต่างชาติ ตอกย้ำถึงความความเสี่ยงในการทำธุรกิจยุคผู้นำจีนอย่าง “สี จิ้นผิง”
“เอริก เจิ้ง” ประธานหอการค้าอเมริกัน (แอมแชม) เปิดเผยว่า บริษัทที่ให้บริการด้านการตรวจสอบหรือวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจของกิจการหลายแห่ง ตกเป็นเป้าของการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ
“เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน ควรวิเคราะห์ขอบข่ายการทำงานให้ชัดเจนว่า บริษัทต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์ทรัพย์สินของกิจการต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนจะทำให้บริษัทต่างชาติมีความมั่นใจมากขึ้นและสามารถปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลจีนได้” เจิ้ง กล่าว
คำแนะนำของเจิ้ง เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มธุรกิจสหรัฐได้รับคำเตือนที่คล้ายกันจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมาจากการขยายขอบข่ายกฎหมายจารกรรมฉบับล่าสุดของจีน ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจในจีนมากขึ้น
“จอร์จ โทเลโด อัลบินานา” เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ในจีน แถลงเมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) ว่า กฏหมายกฎหมายต้านจารกรรมจีนดังกล่าวไม่ใช่ข่าวดีสำหรับธุรกิจที่คาดหวังว่า เศรษฐกิจจีนจะเปิดกว้าง
หอการค้าสหภาพยุโรป เผยว่า การปราบปรามของรัฐบาลปักกิ่ง ส่งสัญญาณหลายอย่างมาก เนื่องจากจีนพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางธุรกิจ หลังยกเลิกมาตรการซีโร่โควิดในเดือน ธ.ค. ปี 2565
รัฐบาลปักกิ่งส่งสัญญาณความไม่ไว้วางใจต่อบรรดาบริษัทข้ามชาติตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา และขยายกฎหมายปราบปรามการสอดแนมในประเทศเมื่อเดือน เม.ย. เพื่อรวบรวมข้อมูล ปัจจัยและข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ
ซีซีทีวี สื่อรัฐบาลจีน รายงานเมื่อวันจันทร์ (8 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำการตรวจสอบ “แคปวิชัน” ธุรกิจให้คำปรึกษาที่มีสำนักงานหลายแห่งในนิวยอร์ก, เซี่ยงไฮ้, กรุงปักกิ่ง, ซูโจว และเซินเจิ้น เนื่องจากธุรกิจดังกล่าว ยื่นข้อเสนอเปิดเผยความลับของรัฐและข่าวกรองที่สำคัญของจีนให้กับธุรกิจต่างชาติ
แม้ในรายงานไม่ได้ระบุชื่อประเทศตะวันตก แต่บอกว่า ประเทศเหล่านั้นขโมยข้อมูลข่าวกรองในอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างอุกอาจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกองทัพและเศรษฐกิจจีน แถมยังกล่าวหาว่า สถาบันข้ามชาติใช้ธุรกิจที่ปรึกษาคอยเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว
รายงานกล่าวหาบริษัทแคปวิชันด้วยว่า กดดันผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นให้เปิดเผยความลับของบริษัทหรือรัฐบาลโดยไม่ต้องระบุชื่อ และออกมาเตือนเป็นบทเรียนว่า นักวิจัยอาวุโสในบริษัทรัฐวิสาหกิจถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ในข้อหาจารกรรมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล และมอบให้กับบริษัทให้คำปรึกษา
บริษัทแคปวิชัน, เบน และมินต์ซ ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ และเป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจของจีน เพื่อเปิดเผยให้ลูกค้าสำคัญอย่างธนาคารเพื่อการลงทุน, กองทุนเฮดจ์ฟันด์ และบริษัทเอกชนที่มีแนวโน้มลงทุนหรือประกอบธุรกิจในจีน
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามของจีนมุ่งเน้นไปที่บริษัทสัญชาติอเมริกันเป็นพิเศษ เกิดขึ้นท่ามกลางความพันธ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน โดยตกอยู่ภายใต้การแข่งขัดอย่างดุเดือด เพื่อเพิ่มอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์และสร้างอิทธิพลให้กับประเทศ
“นิก มาร์โร” นักวิเคราะห์การค้าทั่วโลกและจีน จากดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต กล่าวว่า ขณะที่การตรวจสอบล่าสุดของรัฐบาล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในจีนจำนวนมาก การขาดความโปร่งใสของการตรวจสอบสร้างความตื่นตระหนกให้กับบรรดากลุ่มธุรกิจข้ามชาติเช่นกัน
มาร์โร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า “เราเข้าใจและเห็นด้วยกับความจริงที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจำเป็นต้องลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น แต่การละเมิดกฎหมายจำนวนมากไม่มีความชัดเจน และไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราดำเนินธุรกิจตามข่าวลือมากกว่าความเป็นจริง และความไม่แน่นอน ก็บั่นทอนความพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของรัฐบาลจีน”
เศรษฐกิจจีนเมื่อปีก่อนขยายตัวแค่ 3% ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายเมืองและมีมาตรการควบคุมการเดินทางมากมาย แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังห่างไกลจากเป้าหมายของรัฐบาลปักกิ่งที่ตั้งไว้ว่าเศรษฐกิจะขยายตัว 5% ในปีนี้
“หวัง เหวินปิน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงเมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายตามปกติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ปกป้องความมั่นคงของประเทศ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศ
“หลี่ เฉียง” กล่าวไว้เมื่อเดือน มี.ค.ว่า จีนมีโอกาสมากมายให้กับบริษัทช้ามชาติ ในการดำเนินธุรกิจในประเทศ และมีโอกาสดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติให้กลับมายังจีน หลังยกเลิกมารตรการควบคุมโควิดและมารตรการคุมเข้มพรมแดน
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามของแอมแชม 87% ในเดือน เม.ย. ระบุว่า พวกเขามองความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐและจีนในแง่ลบ ขณะที่ 59% มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในแง่บวก
นักธุรกิจต่างชาติรายหนึ่ง ที่ทำงานในบริษัทให้คำปรึกษาระดับกลางในจีน บอกว่า เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการปรามปราบเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน น้อยกว่าสถานการณ์และความรวดเร็วของการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากมาตรการซีโร่โควิด และกฏระเบียบต่าง ๆ ที่สร้างภาระให้กับภาคเอกชน
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ค. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1067851