ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2003 มีข่าวครึกโครมดังไปทั่วโลกกับเหตุการณ์ “ขโมยเพชร” ที่นับได้ว่าเป็นการโจรกรรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และน่าจะบอกได้ว่าเป็นการโจรกรรมที่เกิดในพื้นที่ซึ่งมีระบบป้องกันดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนเคยเชื่อกันว่า “ไม่สามารถถูกเจาะได้”
แอนต์เวิร์ป ไดมอนด์ เซ็นเตอร์ (Antwerp Diamond Center) เป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์รวมเพชรของโลก ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม ภายในมีตู้เซฟจำนวนเกือบ 200 ตู้ในห้องนิรภัย ซึ่งอยู่ลึกลงไปในใต้ดิน 2 ชั้น เก็บเพชรและเครื่องประดับอัญมณีของผู้เช่าตู้เซฟ มูลค่ารวมแล้วหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ มีระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น
รายงานข่าวบางแห่งบ่งชี้ตัวเลขระดับชั้นของการรักษาความปลอดภัยว่ามีมากถึง 10 ชั้น และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะไปถึงขั้นเปิดตู้เซฟได้ ทุกตู้ยังต้องเปิดด้วยรหัสและกุญแจเช่นเดียวกับประตูห้องนิรภัย ซึ่งทำให้เป็นที่มั่นใจในความปลอดภัยสำหรับผู้มาเช่าตู้เซฟ
สถานที่แห่งนี้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแน่นหนาและทันสมัย แถมเพียบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดทุกซอกทุกมุม มีสัญญาณเตือนภัยแทบทุกระบบที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาติดตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวและการสั่นสะเทือน เซนเซอร์จับความร้อนจากร่างกายมนุษย์ เซนเซอร์จับแสง มีแม้กระทั่งอุปกรณ์ตรวจจับแบบแม่เหล็ก ซึ่งทันทีที่ประตูนิรภัยหนา 1 ฟุตเปิดในเวลาที่ไม่ควรเปิด สัญญาณเตือนภัยจะแจ้งเหตุทันที รวมทั้งมีเครื่องกีดขวางยานพาหนะยุคไฮเทค มีกลไกบังคับให้หุบหายลงใต้ดิน และโผล่กลับขึ้นมาทำหน้าที่ของมันได้ทุกเวลา
ที่สำคัญยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีตำรวจนัก และเจ้าหน้าที่ก็พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับแจ้งการก่อเหตุ
ผู้ก่อการ “ขโมยเพชร”
ก่อนหน้าเกิดคดีโจรกรรมเพชร 2 ปี คือในปี 2001 เชื่อว่าแผนปฏิบัติการการโจรกรรมได้เริ่มขึ้นอย่างแนบเนียนโดยชายวัยกลางคนชาวตูริน ประเทศอิตาลี ชื่อ ลีโอนาร์โด โนทาร์บาร์โทโล ซึ่งเดินทางเข้ามาในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ที่ตั้งของไดมอนด์ เซ็นเตอร์ ฉากหน้าเขาคือนักออกแบบเครื่องประดับ นักธุรกิจค้าเพชร เข้ามาเช่าออฟฟิศและตู้เซฟที่ไดมอนด์ เซ็นเตอร์ เพื่อเปิดเป็นสำนักงานประกอบธุรกิจค้าเพชร
ที่นี่นอกจากจะมีตู้เซฟให้เช่าแล้ว ยังมีห้องเพื่อใช้เป็นสำนักงานธุรกิจค้าอัญมณีของเหล่านักธุรกิจใช้เช่าอีกด้วย โนทาร์บาร์โทโลแฝงตัวเข้ามาเพื่อสำรวจเก็บรายละเอียดของสำนักงานนี้ เขาใช้เวลาเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งระบบความปลอดภัย กิจวัตรในแต่ละวันของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ส่วนต่างๆ ของอาคาร และเส้นทาง โดยรายละเอียดทั้งหมดที่ได้มา เขาใช้การจดจำ จากนั้นจะนำมาเขียนบันทึกในห้องทำงาน โนทาร์บาร์โทโลใช้เวลาร่วม 2 ปีแฝงตัวและเก็บข้อมูลในสถานที่แห่งนี้
แน่นอนว่าโนทาร์บาร์โทโลคงไม่ปฏิบัติการเพียงลำพัง เขามีผู้ร่วมขบวนการอีกคือ เอลิโอ ดอโนริโอ ผู้เชี่ยวชาญสัญญาณเตือนภัย คนช่างคิดที่สามารถเอาชนะมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายระบบ เฟอร์ดนานโด ฟิน็อตโต อาชญากรมืออาชีพมากประสบการณ์ และ ปิเอโตร ทาวาโน เพื่อนเก่าแก่ที่โนทาร์บาร์โทโลไว้ใจ
โนทาร์บาร์โทโลเล่ารายละเอียดทุกอย่างที่เขาเก็บข้อมูลมาให้ผู้ร่วมก่อการฟังอย่างละเอียด รวมทั้งร่วมวางแผนกันภายในร้านกาแฟนในตูรินเพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกต พวกเขาใช้เวลาเตรียมการรวม 27 เดือน นานกว่าระยะเวลาในหนังโจรกรรมแบบฮอลลีวูด ที่มักเล่าว่าสมาชิกแก๊งใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์
ปฏิบัติการ “ขโมยเพชร” ครั้งประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ปี 2003 ไล่เลี่ยกับช่วงวันวาเลนไทน์
ช่วงวันหยุด ไดมอนด์ เซนเตอร์ แห่งนี้หยุดทำการ ไม่มีการเปิดห้องนิรภัยและตู้เซฟทุกกรณี หากเปิดนอกเวลาทำการเช่นนี้สัญญาณเตือนภัยจะทำงานทันที แต่โนทาร์บาร์โทโลกลับเลือกใช้เวลานี้ปฏิบัติการ เนื่องจากปลอดคนและมีเวลาให้ปฏิบัติการได้มาก
การเจาะระบบป้องกัน (โดยคร่าว)
ด้วยระบบป้องกันภัยที่ทันสมัยและแน่นหนามาก การเจาะเข้าไปในตู้เซฟจึงต้องผ่านระบบป้องกันหลายด่าน ทั้งการใส่รหัสผ่าน ล็อกกุญแจ เซนเซอร์สนามแม่เหล็ก เซนเซอร์ตรวจจับความร้อน เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และเซนเซอร์แสง รายละเอียดมีข้อปลีกย่อยมากมาย ข้อมูลในที่นี้บอกเล่าอย่างคร่าวๆ โดยส่วนหนึ่งมาจากหลักฐานและการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมผู้เชี่ยวชาญ
โนทาร์บาร์โทโลและพวกจำเป็นต้องกำจัดอุปสรรคทีละด่าน ซึ่งผ่านการจำลองสถานการณ์ซักซ้อมมาอย่างดี พวกเขาเริ่มแผนการในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ ทาวาโนทำหน้าที่เฝ้าติดตามฟังวิทยุสื่อสารของตำรวจ ทราบความเคลื่อนไหวของตำรวจจากวิทยุสื่อสาร เขาทำหน้าที่อยู่ที่ห้องพักของโนทาร์บาร์โทโล
ส่วนโนทาร์บาร์โทโลกับพวกอีก 2 คน สวมถุงมือยาง ขับรถผ่านป้อมตำรวจ ประตูชั้นจอดรถเปิดขึ้น เขาหยุดรถชิดขอบทาง แต่ละคนพาดถุงบนไหล่ มุดผ่านใต้ขอบประตูม้วน พวกเขาใช้กุญแจดอกพิเศษที่ทำขึ้นเพื่อไขกุญแจประตูทางเข้า เดินลงบันไดถึงหน้าห้องนิรภัย ดอโนริโอใช้แผ่นเหล็กรูปตัวทีประกบแท่งแม่เหล็กทั้งสองที่ติดอยู่บานประตูและขอบประตูด้วยเทปกาวสองหน้า แล้วดึงมันหลุดออกมาโดยแท่งแม่เหล็กไม่แยกจากกัน สัญญาณแจ้งเตือนจึงไม่ดังขึ้น ช่วยให้เปิดห้องนิรภัยกว้างระดับหนึ่ง และสามารถแทรกตัวเข้าไปได้โดยปลอดสัญญาณแจ้งเตือน
ตำรวจเชื่อว่าดอโนริโอติดตั้งกล้องวิดีโอเพื่อใช้บันทึกการหมุนรหัสประตูห้องนิรภัย แต่ทฤษฎีของตำรวจมีผู้แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีอุปกรณ์บังรอบตัวหมุนรหัส ป้องกันไม่ให้คนอื่นเห็นเลข ข้อสันนิษฐานอื่นก็คือ โนทาร์บาร์โทโลอาจได้รหัสมาโดยวิธีอื่น หรืออีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประตูห้องนิรภัยนี้ไม่เคลียร์รหัสให้เอง หากเปิดแล้วต้องหมุนเคลียร์รหัสเอง ทั้งนี้ผู้ดูแลอาจลืมหรือขี้เกียจเคลียร์รหัส (เก่า) ทำให้รหัสคาอยู่ที่เดิม เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้กุญแจเพียงดอกเดียวเปิดประตูนิรภัยได้
ภายหลังตำรวจสรุปว่าคนร้ายใช้ชะแลงยาว 2 ฟุต งัดประตูห้องเก็บของ เพราะกุญแจที่ทำมาใช้การไม่ได้ (เสียงน่าจะดังมาก แต่ไม่มีสัญญาณเตือนภัย เนื่องจากในพื้นที่ไม่ได้ใช้การตรวจจับเสียง เพราะมองว่า หากมีคนทำของตก สัญญาณย่อมดังขึ้นทุกครั้ง) แต่ในห้องเก็บของมีกุญแจประตูนิรภัย จึงสามารถเปิดห้องนิรภัยได้ ข้างในห้องมืดสนิท และมีเครื่องตรวจจับแสงทำงานอยู่ พวกเขาใช้เทปกาว 2-3 ชิ้นปิดเซนเซอร์แสง แล้วทำการเปิดไฟ
ด่านต่อมาคือเซนเซอร์ตรวจจับความร้อน พวกเขาเอาชนะมันด้วยการใช้สเปรย์ตกแต่งทรงผมฉีดใส่เครื่องจนทำให้เครื่องรวนไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวพวกเขาใช้แผ่นโฟมวางทับตัวเซ็นเซอร์ไม่ให้มันทำงาน
ด่านสุดท้ายคือเปิดประตูตู้เซฟ พวกเขาประกอบอุปกรณ์ดึงฝาตู้เซฟที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ซึ่งแยกชิ้นส่วนใส่กระเป๋ามา และนำมาประกอบกันตรงกลางห้องนิรภัย เมื่อประกอบเสร็จพวกเขาก็ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเปิดตู้เซฟได้
หลังจากจัดการกับอุปสรรคแต่ละด่านเรียบร้อยแล้ว โนทาร์บาร์โทโลและพวกได้แบ่งหน้าที่กัน คนหนึ่งเปิดตู้เซฟให้เร็วที่สุด อีกสองคนทำหน้าที่แยกของมีค่า ทั้งเพชร นาฬิกา เครื่องประดับ และเงินสด แยกใส่ถุงอย่างละถุง
โนทาร์บาร์โทโลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาอะไรกลับไป และจะปล่อยสิ่งของอะไรไว้บ้างโดยประเมินจากมูลค่าของแต่ละชิ้น โดยรวมแล้วพวกเขาเปิดตู้เซฟได้ 109 ตู้ จาก 189 ตู้ เชื่อกันว่าทรัพย์สินที่กลุ่มนักโจรกรรมกวาดไปได้มีมูลค่ารวมกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขมูลค่าของทรัพย์สินที่หายไปยังเป็นที่ถกเถียง จากปากของกลุ่มผู้ก่อการอ้างว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่พวกเขาฉกไปอยู่แค่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอ้างว่าการโจรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ใหญ่กว่าเพื่อเคลมเงินประกัน)
ขณะที่การออกจากสถานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องขนสมบัติที่หนักกลับไปพร้อมกับเครื่องมืออุปกรณ์ เดิมทีแล้ว “แก๊งตูริน” นี้จะเก็บทุกอย่างกลับไปเพื่อไม่ให้ตำรวจเก็บหลักฐาน แต่ครั้งนี้พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งอุปกรณ์ โดยเช็ดถูให้สะอาดลบร่องรอยอื่นก่อน
การหิ้วถุงเพชรขึ้นบันไดขณะออกจากสถานที่เกิดเหตุหลังจากคนดูต้นทางรายงานว่าปลอดโปร่งแล้วก็ต้องหิ้วถุงโดยก้าวอย่างระมัดระวังมากที่สุด ถุงเพชรอย่างเดียวก็หนักเข้าไปถึง 44 ปอนด์ (ราว 20 กิโลกรัม) ขณะที่แบกขึ้นไป คนร้ายอีกรายใช้กุญแจปลอมเข้าไปเปิดประตูห้องควบคุมระบบรักษาความปลอดภัย เอาเทปบันทึกภาพการก่อเหตุออกจากเครื่อง และใส่เทปเปล่าไปแทน เขายังมองหาเทปเก่าโดยเลือกช่วงเดือนที่ผ่านมาอีก 4 ม้วน เป็นเทปบันทึกภาพช่วงที่สมาชิกเข้ามาทำลายระบบเตือนภัยแม่เหล็กไปด้วย
เมื่อคนดูต้นทางแจ้งว่าปลอดภัย พวกเขาก็ออกมาใส่ของที่ท้ายรถที่มาจอดเทียบชิดขอบทาง พวกเขานั่งเบียดกันในรถและขับหายไปตามถนน
เรื่องเล็กในการ “ขโมยเพชร” ที่พลาดมหันต์
แม้พวกเขาจะทำการสำเร็จ แต่ปัญหาของพวกเขาคือการกำจัดขยะที่เป็นร่องรอยจากปฏิบัติการทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วนักโจรกรรมอัจฉริยะระดับโลกต้องถึงจุดจบ โดยมีหลักฐานคือ “ถุงขยะ”
หลังจาก “ขโมยเพชร” แล้ว พวกคนร้ายขับรถซึ่งมีถุงขยะอันบรรจุอุปกรณ์และสิ่งของที่เหลือใช้จากปฏิบัติการเต็มรถไปตามไฮเวย์ด้วยความกระวนกระวาย จนเลือกทิ้งถุงขยะโดยเร็วที่สุดเมื่อออกจากเมือง เลี่ยงความเสี่ยงโดนตำรวจเรียกจอดหากละเมิดกฎจราจร การทิ้งขยะตามสถานที่ส่วนบุคคลหรือเอกชนก็เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะเจ้าของกิจการในเบลเยียมจริงจังกับการใช้ถังขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต หลายแห่งล็อกฝาถัง หรือติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณถังขยะ ปั๊มน้ำมันบนไฮเวย์แทบทุกแห่งมีป้ายห้ามทิ้งสิ่งของส่วนตัว ขณะที่การเผาถุงก็ย่อมมีควันไฟที่เรียกความสนใจจากเจ้าหน้าที่ไฮเวย์
ในถุงพวกนี้มีถุงขยะที่ยัดถุงจากร้านค้าซึ่งดันมีใบเสร็จ ซองเอกสาร และเอกสารอื่นจากไดมอนด์ เซ็นเตอร์ และเลือกทิ้งข้างทางหลวงตรงถนนทางเข้าป่าฟลอร์ดัมบอส แต่แล้วดันมีผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินละแวกนั้นที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมาพบถุงขยะ และคู่สามีภรรยาคือกลุ่มที่โทรศัพท์แจ้งตำรวจ (แม้แต่คำถามว่า ใครกันแน่ที่รู้ว่าถุงขยะเกี่ยวกับการโจรกรรมที่เป็นข่าวดังเวลานั้น และออกไอเดียให้โทรศัพท์หาตำรวจ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า สรุปแล้วเป็นสามีคือออกุสต์ ฟาน ดัมป์ หรือภรรยาของเขากันแน่)
ถุงที่ฟาน ดัมป์ พบคือหลักฐานสำคัญที่ทางการแกะรอยได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คิด ทำให้ผู้ก่อการทั้ง 4 คนถูกจับในที่สุด โดยเฉพาะใบเสร็จที่เมื่อตำรวจนำไปสอบถามกับแคชเชียร์ พนักงานจำได้ทันที และให้รูปพรรณกับตำรวจซึ่งเชื่อว่าเป็นดอโนริโอ และฟิน็อตโต
ขณะที่ตำรวจเบลเยียมส่งข้อมูลผู้ต้องสงสัยให้ตำรวจสากล โนทาร์บาร์โทโลและพวกยังฉลองความสำเร็จ และกำลังเดินทางหลบหนี แต่เหลือสิ่งที่เขาต้องทำคือทำลายร่องรอยที่เหลือในแอนต์เวิร์ป อีกทั้งคืนรถเช่า และทำความสะอาดห้องพักซึ่งจากมาอย่างรีบร้อน และยังต้องรูดบัตรผ่านเข้า-ออกไดมอนด์ เซ็นเตอร์ เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นหลักฐาน เพราะตำรวจจะต้องตรวจสอบว่าผู้เช่ารายใดที่หายไปเลยหลังเกิดเหตุ
เมื่อตำรวจตรวจสอบหลักฐานการเข้า-ออกของโนทาร์บาร์โทโล ก็พบว่าเขาอยู่ในกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากอาคารก่อนวันเกิดเหตุ จึงนำภาพวิดีโอหลายชั่วโมงมาดู แล้วพบว่า หนุ่มใหญ่ชาวอิตาเลียนเข้า-ออกห้องนิรภัยทุกวันตลอดสัปดาห์ก่อนหน้าเกิดเหตุ ตำรวจเชื่อว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรม
โนทาร์บาร์โทโลมั่นใจว่าไม่มีอะไรที่พาดพิงมาถึงเขา แม้ว่าในข่าวจะมีเรื่องพบถุงขยะแล้ว แต่เขาไม่รู้ว่า เพื่อนร่วมงานฉีกใบจ้างงานติดตั้งกล้องที่ออฟฟิศของเขาแล้วโยนลงถังขยะในครัว ไม่รู้ว่าตำรวจค้นออฟฟิศและตู้เซฟของเขา การกลับที่เกิดเหตุย่อมเหมือนกับการฆ่าตัวตาย แต่โนทาร์บาร์โทโลมั่นใจ และความมั่นใจนั่นเองทำให้เขาโดนรวบตัว ทันทีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบูธด้านหน้าเห็นเขาก็คว้าโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่โดยพลัน
ช่วงแรกเขายังคิดว่าตำรวจไม่มีหลักฐานพอ และยังเป็นเพียงพยาน แถมยังตีบทงง ไม่เข้าใจว่าควบคุมตัวผู้บริสุทธิ์อย่างเขาทำไม โนทาร์บาร์โทโลมีคำตอบให้ทุกคำถาม แต่ท้ายที่สุดก็จนกับหลักฐานหลายอย่าง ทั้งดีเอ็นเอบนแซนด์วิชไส้กรอกที่โนทาร์บาร์โทโลทำกินเอง แต่กินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งโยนทิ้งถังขยะในครัวขณะเตรียมขนของหนีไปอิตาลี และมันไปโผล่ในถังขยะใกล้ป่าฟลอร์ดัมบอส และยังพบดีเอ็นเอของผู้ร่วมก่อการอีกหลายจุดที่เชื่อมเข้ากับหลักฐานการโจรกรรม
แม้ว่าคนร้ายจะถูกจับกุมได้ แต่เพชรที่ถูกปล้นก็ไม่ได้กลับคืนสู่เจ้าของ เพราะไม่มีคนร้ายคนไหนบอกถึงที่อยู่ของเพชรที่ปล้นมา ช่วงที่โนทาร์บาร์โทโลอยู่ในคุกยังให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารไวร์ด (Wired) ว่า การปล้นทั้งหมดเกิดจากแผนที่ผู้เช่าตู้เซฟซึ่งเป็นพ่อค้าเพชรชาวยิวหวังใช้เรียกค่าประกันจากไดมอนด์ เซ็นเตอร์ โดยที่พวกเขาซึ่งมีผู้เช่าตู้เซฟร่วมแผนการด้วยประมาณ 50-60 ราย จะไม่เอาเพชรหรือของมีค่าใส่ไว้ในตู้เซฟ และวางแผนการปล้นโดยจำลองห้องนิรภัยขึ้นมา แล้วเข้าปล้น
เขายังกล่าวต่ออีกว่าแผนการครั้งนี้โดนพ่อค้าเพชรชาวยิวหักหลัง แต่มีหลายคนวิเคราะห์ว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องโกหกของโนทาร์บาร์โทโล เพราะสิ่งที่เขาเล่าย้อนแย้งอย่างมาก อีกทั้งเรื่องที่มีผู้เช่าตู้เซฟวางแผนร่วมกันนั้น ผู้เช่าตู้เซฟเห็นว่าเป็นเรื่องตลกที่ไม่มีทางเกิดขึ้น การที่โนทาร์บาร์โทโลให้สัมภาษณ์เช่นนี้ก็เพื่อโยนความผิดให้กับผู้อื่นหรือปกปิดข้อมูลและร่องรอย
โนทาร์บาร์โทโลยังต้องการให้นำเรื่องราวของเขาไปทำภาพยนตร์ เพราะเขาหวังส่วนแบ่งรายได้จากสิทธิ์ของข้อมูลเพื่อนำไปใช้อย่างสบายหลังออกจากคุก อีกทั้งเป็นเงินที่ได้มาโดยถูกกฎหมาย และใช้ชีวิตอย่างหรูหราได้โดยอ้างแหล่งที่มาของเงินจากส่วนแบ่งการนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ (ทั้งที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีวันเผยเรื่องจริง)
ท้ายที่สุดแม้ว่าเขาจะถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี และรับโทษติดคุก เขาก็ยังไม่ได้บอกที่ซ่อนอัญมณีและแผนการปล้น เขากับพวกอีก 3 คน ถูกปล่อยตัวก่อนกำหนด และหลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ทั้งนี้ศาลได้ตัดสินคดีจนถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จึงจบลง
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับคดีให้ความเห็นเมื่อปี 2009 ว่า แม้แต่โนทาร์บาร์โทโลนำเพชรหรือทรัพย์สินที่ปล้นมาขายก็อาจไม่สามารถแจ้งจับได้อีก เพราะไม่สามารถฟ้องซ้ำคดีที่ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาด นอกเหนือจากมีหลักฐานใหม่ แต่สิ่งที่ทำได้เบื้องต้นคือแค่ยึดเป็นของกลางไว้ และอาจดำเนินคดีในอิตาลีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ในขณะที่กลุ่มเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกปล้นไปก็ไม่หวังกันแล้วว่าจะได้ของกลับคืน
คนในแวดวงเพชรยังรู้สึกโกรธกับบทสรุป เมื่อพวกคนร้ายติดคุกไม่นาน ทรัพย์สินก็ไม่สามารถติดตามกลับมาได้ ที่สำคัญบทสรุปของเรื่องนี้ยังออกมาว่าการทำงานหนักของเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามคนร้ายและดำเนินคดี แลกมากับการจองจำผู้ก่อเหตุเพียงไม่กี่ปี
และยังพิสูจน์อีกว่า ความเสี่ยง ความยากลำบาก การถูกจับและจองจำ อาจคุ้มค่ากับชีวิตหลังผ่านคดี เมื่อพวกที่ก่อการอาจใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างราบรื่นและสุขสบายจากสิ่งที่ได้จากการโจรกรรม
บทความโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
อ้างอิง :
เซลบี้, สก๊อต แอนดรูว์. Flawless แผนโจรกรรมหลักเหลี่ยมเพชร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
Davis, Joshua. “The Untold Story of the World’s Biggest Diamond Heist”. Wired. Online. Published 12 MAR 2009. Access 2 JAN 2020. <https://www.wired.com/2009/03/ff-diamonds-2/>
“The Antwerp Diamond Heist: $100 Million Gone And Never Recovered”. all thats interesting. Online. Access 27 December 2019. <https://allthatsinteresting.com/antwerp-diamond-heist>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2563
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ค. 2566
Link : https://www.silpa-mag.com/history/article_43585