ทางการปากีสถานจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ท่ามกลางความรุนแรงของการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศ หลังมีการจับกุมตัวนายอิมราน ข่าน อดีตนายกฯ ของปากีสถาน
การต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนายอิมราน ข่าน และกองทัพอันทรงอำนาจของปากีสถาน ยังคงครองพื้นที่สมรภูมิรบ 2 ช่องทาง ได้แก่บนถนน และในโลกโซเชียลมีเดีย แต่การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตดูจะไม่เป็นผล เพราะยิ่งสร้างกระแสไม่พอใจของผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเป็นวงกว้างขึ้นทุกที
สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของปากีสถานปะทุขึ้นอย่างรุนแรง หลังจากที่นายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีถูกจับกุมเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยในเมืองละฮอร์กลุ่มผู้สนับสนุนนายข่านต่างเคลื่อนไหว และยิ่งทำให้การประท้วงไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้น
ภาพของผู้ประท้วงที่ขว้างปาก้อนหิน เพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก๊สน้ำตา มีการเผยแพร่ไปในโลกโซเชียลมีเดีย ขณะที่คลิปขณะที่นายอิมราน ข่านถูกควบคุมตัวโดยทหารก็กลายเป็นคลิปไวรัล
เพื่อหวังควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงตัดสินใจปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือทวิตเตอร์ แม้แต่คลื่นโทรศัพท์ก็ถูกบล็อกในบางพื้นที่อย่างไม่มีกำหนด เพื่อหวังลดกระแสความร้อนแรงลง แต่ผลกลับออกมาในทิศทางตรงข้าม เมื่อเกิดการประท้วงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ประชาชนบางส่วนเข้าระบบ VPNs โดยมีการใช้งานพุ่งสูงขึ้นถึง 1,300 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใครที่ยังสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ก็ใช้การสื่อสารผ่าน วอตส์แอป
“ข่าวจริง” ทางออนไลน์
การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนจะเป็นมาตรการที่พบเห็นได้บ่อยครั้งของทางการ โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทางการจะปิดกั้นช่องทางออนไลน์เพื่อควบคุมช่องทางไหลของข้อมูลสื่อสาร และพยายามสกัดกั้นการประท้วง
นายคาธิค นาเชียพาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียใต้จากสิงคโปร์ระบุว่า รัฐบาลมีค้อนอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องง่ายที่จะนำเอาเรื่องอินเทอร์เน็ตมาเป็นตะปู
ในปากีสถาน การเคลื่อนไหวดังกล่าวดูจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะอินเทอร์เน็ตเหมือนจะเป็นช่องทางเดียวที่จะเข้าถึงข่าวจริงได้ ถ้าเป็นในช่วงทศวรรษก่อนหน้า เป้าในการโจมตีของกองทัพก็คือสำนักข่าวอิสระ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักของประเทศในช่วงเวลานั้น แต่ปัจจุบันคนเข้าหาสื่อออนไลน์เป็นหลัก เพราะเชื่อว่าไม่มีใครเข้าไปกำกับควบคุมการนำเสนอข่าวให้เป็นไปในทางที่รัฐต้องการเพียงอย่างเดียวได้ และยิ่งเมื่อเป็นข่าวด่วน อย่างเรื่องของอิมราน ข่านคนก็หลั่งไหลไปยังช่องทางออนไลน์ทันที เพราะสามารถหาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการประท้วงได้จากที่นั่น ทั้งในวอตส์แอป และทวิตเตอร์
นางแด๊ด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสิทธิทางดิจิทัล ในเมืองละฮอร์ ของปากีสถานระบุว่า เมื่อปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ประชาชนจะไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพของแสดงความเห็น การเข้าถึงข้อมูล และสิทธิในการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญของปากีสถาน อีกทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองที่ยูเอ็นให้การรับรองด้วย
การเซนเซอร์ที่รุนแรงที่สุด
เน็ตบล็อกส์ ฝ่ายมอนิเตอร์อินเทอร์เน็ต ที่มีฐานอยู่ในอังกฤษ ได้พบข้อมูลการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับการชุมนุมประท้วงของนายข่านก่อนที่เขาจะถูกจับมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ครั้งล่าสุดนี้ดูจะเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เคยพบในปากีสถานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการตัดสัญญาณหลายรูปแบบทั้งสัญญาณโทรศัพท์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการจะควบคุมการส่งสารทุกทาง
โดยเน็ตบล็อกส์ยังระบุด้วยว่า สัญญาณโทรศัพท์ ในพื้นที่ปัญจาบล่มทั้งหมด เพราะพื้นที่นี้คือฐานที่มั่นหลักของนายข่าน ส่วนการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่เพียงแต่ทำให้การสื่อสารยากลำบากเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เหตุฉุกเฉินต่างๆ และการบริการด้านการเงินด้วย ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะล่มสลายทั่วประเทศ
ขณะที่ชาวปากีสถานกว่า 10 ล้านคน ตั้งแต่คนส่งสินค้า ไปจนถึงชุมชนเทคโนโลยีต่างๆ ก็ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเพื่อเลี้ยงชีพด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ผู้นำด้านธุรกิจหลายร้อยคน และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนต่างก็ร่วมลงชื่อในจดหมายเพื่อประณามการปิดอินเทอร์เน็ต เพราะจะส่งผลร้ายต่อประเทศ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยอมแลกเรื่องนี้ เพื่อหวังตัดช่องทางการสื่อสารหลักของนายข่าน ที่ใช้ในการปลุกระดมมวลชนขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล เพราะกองทัพไม่สามารถเอาชนะเขาผ่านทางช่องทางออนไลน์ในการเปลี่ยนความคิดมวลชนได้ การปิดจึงเป็นหนทางที่ง่ายที่สุด แม้จะเป็นเพียงการยื้อเวลาไว้ชั่วคราวเท่านั้น
โดยในอดีตกองทัพปากีสถานมักจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการจับกุมและตั้งข้อหาผู้ที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีของกองทัพเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของปากีสถานเปราะบาง แต่ในยุคปัจจุบันการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะคงไม่สามารถจะหยุดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่กำลังปะทุขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความพยายามในการปราบปรามนายข่าน และเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดิ่งลงเหว และอาจจะทำให้ผลลัพธ์เป็นไปในทางตรงข้ามกับสิ่งที่กองทัพต้องการ.
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : thairath / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ค. 2566
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2694171