ในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศไทยซึ่งมีอยู่มากมายหลายฉบับ ได้มีการกำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือคณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าว กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานอื่นของรัฐนำไปปฏิบัติอย่างมีมาตรฐานและมีความมั่นคงปลอดภัย อย่างไรก็ดี มาตรฐานเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความซับซ้อนในทางเทคนิคสูง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติรวมถึงประชาชนทั่วไปประสบความยากลำบากในการทำความเข้าใจและไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องครบถ้วน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นั้น นอกจากวัตถุประสงค์หลักในการรับรองผลทางกฎหมายของการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมตลอดทั้งการรับรองผลทางกฎหมายของเอกสารหรือหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้วางรากฐานและกรอบแนวทางเกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และมาตรฐานทางเทคนิคของการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความประหยัดคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐ
โดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรวมถึงมาตรฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องใช้และปฏิบัติให้สอดคล้องกัน เชื่อมโยงถึงกันได้ มีความมั่นคงปลอดภัย และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และมาตรา 19 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสี่หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการจัดทำและเสนอวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติให้หน่วยงานของรัฐใช้และถือปฏิบัติ โดยจะจัดแบ่งวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเริ่มต้นและระยะต่อ ๆ ไปก็ได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงถึงกันโดยสามารถใช้อุปกรณ์และข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ โดยวิธีการดังกล่าว สี่หน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันจัดทำขึ้นตามแนวทางของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จัดแบ่งตามระดับความพร้อมของหน่วยงานรัฐออกเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานที่ยังมีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี หรืองบประมาณ ดังนั้น วิธีการระดับนี้จึงมุ่งเน้นที่การจัดให้มีบริการพื้นฐาน เช่น อีเมล และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ (เช่น ไลน์ Facebook) และ 2) ระดับมาตรฐาน สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการรูปแบบ Web Application หรือ Mobile Application ที่ให้บริการ e-Service ได้อย่างครบถ้วน (End-to-end) ทั้งนี้ วิธีการและมาตรฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว
ได้เปลี่ยนรูปแบบของการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีต่างไปจากเดิม โดยจัดทำในลักษณะของคู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual) เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติรวมทั้งประชาชนทั่วไปมากที่สุด แต่ก็ยังคงมีการเชื่อมโยงถึงมาตรฐานตามกฎหมายอื่น ๆ ด้วย เช่น มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล
ทั้งนี้ นอกจากการจัดให้มีช่องทางสำหรับรับคำร้องคำขอ และการติดต่อจากประชาชนแล้ว วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ยังได้กำหนดเรื่องต่าง ๆ อย่างครอบคลุมครบวงจรของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่วิธีการรับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น การลงทะเบียนรับทางอิเล็กทรอนิกส์ การตอบกลับหรือ reply ไปยังผู้ส่งว่าได้รับแล้ว หรือแจ้งว่าส่งมาผิดช่องทาง) การดำเนินการต่อภายในหน่วยงาน (เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐาน และการส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง) การออกใบอนุญาตหรือหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ประชาชน โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมตลอดทั้งการจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตและเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐออกให้ประชาชน และเผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยง่าย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว นอกจากหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องศึกษาและดำเนินการทั้งในทางปฏิบัติและทางเทคนิคให้สอดคล้องกับวิธีการดังกล่าวหน่วยงานของรัฐยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ (เช่น อีเมลกลางของหน่วยงาน) และต้องกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น ๆ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ระบบ intranet เฉพาะภายในหน่วยงาน หรืออีเมลที่มีโดเมนเนมของหน่วยงานซึ่งหน่วยงานนั้นจัดหาให้แก่เจ้าหน้าที่ของตน) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งก็คือ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 โดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวของทุกหน่วยงาน ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 มอบหมายตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติฯ
อนึ่ง สำหรับหน่วยงานที่ได้มีการประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการและกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานตนแล้ว ก็ยังคงมีหน้าที่ในการศึกษาและตรวจสอบว่าช่องทางหรือระบบตามประกาศหรือคำสั่งของตนนั้นสอดคล้องกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหรือไม่ หากไม่สอดคล้องก็ต้องดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้สอดคล้องต่อไป แต่หากช่องทางและระบบที่ประกาศไปแล้วและใช้อยู่ในปัจจุบันสอดคล้องกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว หน่วยงานนั้นก็ไม่จำต้องประกาศซ้ำใหม่ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 แต่ก็ไม่เป็นการห้ามหากหน่วยงานนั้นจะแก้ไขหรือปรับปรุงประกาศหรือคำสั่งของตนเพื่อเพิ่มเติมหรือพัฒนาช่องทางหรือระบบปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ แล้ว แต่วิธีการดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแค่ระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยสี่หน่วยงานตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จะยังคงเดินหน้าจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับขั้นสูง (advance) ต่อไป รวมตลอดทั้งการติดตามตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะเริ่มต้นไปใช้ของหน่วยงานต่าง ๆ ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตลอดจนสามารถลดขั้นตอนและภาระงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย
——————————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 30 พ.ค.66
Link : https://mgronline.com/politics/detail/9660000049409