เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางมาของผู้นำและบุคคลสำคัญระดับโลกในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติหรือ G7 ในเดือนพฤษภาคม ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้มาเยือนรวมถึงผู้คนในท้องถิ่น อาริมะ มาโมรุจาก NHK World พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความเสี่ยงได้ไปสำรวจดูว่า มีมาตรการด้านความปลอดภัยอะไรบ้าง
อิตาบาชิ อิซาโอะ หัวหน้านักวิเคราะห์จากสภานโยบายสาธารณะแห่งประเทศญี่ปุ่น ศึกษาการต่อต้านการก่อการร้ายและการจัดการวิกฤต เขาให้คำแนะนำแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและองค์กรเอกชน และเคยมีส่วนร่วมในงานขนาดใหญ่ รวมถึงการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่อิเสะ-ชิมะเมื่อปี 2559 และโตเกียวโอลิมปิก
การประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่โรงแรม Grand Prince ฮิโรชิมาซึ่งเป็นจุดเริ่มของการสำรวจ
สถานที่ประชุมตั้งอยู่บนเกาะ เช่นเดียวกับการประชุมสุดยอดที่อิเสะ-ชิมะ อิตาบาชิกล่าวว่า นั่นเป็นข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัย เนื่องจากการเป็นเกาะทำให้มีทางเข้าจำกัด
ลาดตระเวนริมทะเล
อิตาบาชิกล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยทางทะเลมีความสำคัญมากกว่าตอนที่จัดที่อิเสะ-ชิมะ เนื่องจากสถานที่ประชุมอยู่ใกล้ทะเลเปิดมากกว่า
อิตาบาชิอธิบายว่า “หน่วยตำรวจน้ำจะใช้เจ็ตสกีลาดตระเวนในพื้นที่ประชิดกับที่ประชุม และหน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่นจะป้องกันพื้นที่รอบนอก”
พื้นที่ที่เป็นภูเขา
ภูมิประเทศของอูจินาจิมะซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งของสถานที่ประชุมยังได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ
อิตาบาชิกล่าวว่า “มีภูเขาอยู่ด้านหลังโรงแรม ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องเฝ้าระวังด้านนี้ด้วย พวกเขาจะต้องปูพรมตรวจหาวัตถุระเบิด”
หลีกเลี่ยงเส้นทางรถราง
ตัวเมืองฮิโรชิมาก็อยู่ในจุดที่อิตาบาชิให้ความสำคัญเช่นกัน นั่นเป็นเพราะบุคคลสำคัญและผู้ติดตามจะต้องเดินทางผ่านเพื่อไปยังสถานที่ประชุม
ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของเมือง คือ เครือข่ายรถรางซึ่งทำให้มีความเสี่ยง อิตาบาชิกล่าวว่า เส้นทางสำหรับวีไอพีควรเลี่ยงถนนที่มีรถรางให้มากที่สุด
เขาชี้ว่า “เป็นเรื่องยากมากที่จะป้องกันยานพาหนะหากวิ่งเคียงข้างไปกับรถราง”
พื้นที่เปิด
คาดว่าผู้มาเยือนจำนวนมากจะแสดงความเคารพต่อเหยื่อของการทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สวนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา
อิตาบาชิกล่าวว่า ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เปิดโล่ง “ถ้าคุณมองไปรอบ ๆ คุณจะเห็นอาคารสูงหลายหลัง ทางการต้องระวังมือปืนซุ่มยิง เช่นเดียวกับการโจมตีด้วยโดรน”
ปกป้อง soft targets หรือเป้าหมายทางพลเรือน
จากข้อมูลของอิตาบาชิ ความปลอดภัยนอกสถานที่สำคัญหลัก ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่เรียกว่า soft target หรือเป้าหมายทางพลเรือน ที่รวมถึงสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันอย่างสถานีรถไฟฮิโรชิมา
อิตาบาชิกล่าวว่า “การรักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญหลัก ๆ เป็นไปอย่างเข้มงวด ดังนั้นผู้ก่อการร้ายอาจโจมตีสถานที่อื่นที่คิดว่าจะสร้างผลกระทบได้”
มีการจำกัดการใช้ตู้เก็บของที่สถานีรถไฟฮิโรชิมาเพื่อป้องกันการวางวัตถุระเบิด มันอาจจะไม่สะดวกสำหรับประชาชนในพื้นที่ แต่อิตาบาชิกล่าวว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนจะต้องร่วมมือกันเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
อิตาบาชิกล่าวว่า “ตำรวจเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถป้องกันการโจมตีเป้าหมายทางพลเรือนของผู้ก่อการร้ายได้ หากมีวัตถุหรือบุคคลต้องสงสัยก็ให้รายงานในทันที ประชาชนในเมืองเป็นเจ้าภาพต้องทำงานร่วมกัน”
เฝ้าระวังทั่วประเทศ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นได้ปรับแนวปฏิบัติในการคุ้มครองบุคคลสำคัญหลังจากเหตุยิงอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศต่างตื่นตัวก่อนการประชุมสุดยอด G7 ในเดือนพฤษภาคม
นอกจากนี้ ตำรวจในโตเกียวยังเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในเมืองหลวง โดยมีแผนส่งเจ้าหน้าที่ประจำการเพิ่มตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ราชการ สถานทูตต่างประเทศ สถานีรถไฟ และสนามบิน
บทความโดย Arima Mamoru
————————————————————————————————————————-
ที่มา : NHK / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ค. 2566
Link : https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/news/backstories/2452/