“บัญญัติ 2630” คือ กฎหมายฉบับใหม่ของบราซิล ซึ่งบรรดานักวิจารณ์เรียกว่าเป็น “กฎหมายการเซ็นเซอร์” ส่วนผู้เสนอยกย่องว่า มันเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกัน “ข่าวสารอันเป็นเท็จ” และพฤติกรรมสุดโต่งบนโลกออนไลน์
\
กฎหมายดังกล่าวได้รับการเสนอ เมื่อปี 2563 เพื่อจัดการกับข้อมูลเท็จทางออนไลน์จำนวนมาก โดยกฎหมายผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกลับมาป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังมวลชนฝ่ายสนับสนุน นายฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัด ก่อการจลาจลในกรุงบราซิเลีย เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาถูกยุยงปลุกปั่นด้วยข้อมูลบิดเบือนบนสื่อสังคมออนไลน์ที่กล่าวอ้างว่า ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิลคนปัจจุบัน ฉ้อโกงการเลือกตั้งในปี 2565
แม้รัฐบาลฝ่ายซ้ายของลูลา และกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่ม สนับสนุนกฎหมายฉบับใหม่นี้ แต่บริษัทเทคโนโลยี, สมาชิกสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ และกลุ่มผู้สนับสนุนโบลโซนารู แสดงท่าทีคัดค้าน โดยกล่าวว่า กฎหมายใหม่จะสร้าง “กระทรวงความจริง” เพื่อปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน
มาตรการข้างต้น กลายเป็นประเด็นใหญ่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลและศาลของบราซิล ตอบโต้เทเลแกรม และกูเกิล ที่ใช้แพลตฟอร์มของพวกเขาต่อต้านบัญญัติ 2630 โดยระบุว่าเป็น “การโจมตีประชาธิปไตย” และ “คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกอย่างร้ายแรง”
ปัจจุบัน กฎหมายของบราซิลระบุว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของบุคคลที่สาม ยกเว้นเมื่อมีคำสั่งศาลให้ลบออก หรือในกรณีการเผยแพร่ภาพอนาจารโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส และนำกฎระเบียบมาใช้เพื่อต่อสู้กับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายใน 7 ด้าน ได้แก่ การโจมตีต่อประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม, เด็ก, ระบบสุขภาพ และผู้หญิง รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ, การก่อการร้าย และการยุยงให้ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง
บัญญัติ 2630 ซึ่งส่วนหนึ่งอ้างอิงจากกฎหมายบริการดิจิทัลของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ จะมีผลบังคับใช้กับเครือข่ายสังคมออนไลน์, เสิร์ชเอนจิ้น และแอปพลิเคชันส่งข้อความทันทีทั้งหมด ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน และจะกำหนดให้พวกเขาจ้างผู้ตรวจสอบภายนอกด้วย
ทั้งนี้ การละเมิดกฎหมายใหม่จะมีบทลงโทษต่างกัน ตั้งแต่ การตักเตือน ไปจนถึงการระงับกิจการชั่วคราว หรือการปรับสูงสุด 10% ของรายได้ของบริษัทแห่งนั้น
ด้านนายมาร์เซโล ลาเซร์ดา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ กูเกิล บราซิล กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ต้องลบมุมมองทางกฎหมายออก เพราะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นมากเกินไป และกลายเป็นการเซ็นเซอร์รูปแบบใหม่ ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุเสริมว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลจะบังคับใช้บัญญัติ 2630 อย่างไร
บทความโดย เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————-
ที่มา : dailynews / วันที่เผยแพร่ 15 พ.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2327459/