สื่ออาวุโสในฮ่องกงชี้ปัญหากฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับใหม่ของฮ่องกงที่มีเงื่อนไขยาวเหยียด คุมเข้มทั้งเนื้อหาที่ห้ามกระทบความมั่นคงและรูปแบบการชุมนุมที่คนร่วมต้องติดแท็กเบอร์ ต้องถือเทปกั้นล้อมขบวนชุมนุมเองและห้ามออกนอกแนวเทปกั้น แม้แต่ผู้ชุมนุมยังมองว่ามันเป็นกฎที่ “ไร้สาระจนน่าหัวเราะ”
ย้อนไปเมื่อปี 2562 ในช่วงที่มีการลุกฮือของประชาชนในฮ่องกงที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในตอนนั้นมีนักกิจกรรมฮ่องกงที่ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะไม่ยอมแสดงหมายเลขประจำตัวหรือยศขณะเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม
ทิม แฮมเลตต์ ที่ทำงานสื่อในฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2523 และปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว ระบุว่ามันกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งในแบบที่อธิบดีกรมตำรวจฮ่องกงไม่ทันได้นึกถึง เนื่องจากกฎหมายควบคุมการประท้วงฉบับใหม่ของฮ่องกงบังคับให้ประชาชนที่มาชุมนุมต้องติดป้ายหมายเลขลำดับด้วย แต่กลับไม่บังคับให้ตำรวจทำในสิ่งเดียวกัน
กฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการประท้วงเล็กๆ ที่ย่านเจิ้งกวนโอ แม้สื่อจะรายงานว่าเป็นการเดินขบวน “ทางการเมือง” ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโควิด แต่ก็เป็นเพียงการประท้วงต่อต้านการปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าบ้านของพวกเขา เช่น การเทคอนกรีต และวางสิ่งของอื่นๆ
ทางอธิบดีกรมตำรวจฮ่องกงออก “จดหมายแจ้งไม่ขัดข้อง” ให้กับผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจดหมายนี้เป็นจดหมายที่ผู้ประท้วงฮ่องกงต้องได้มาเมื่อจะชุมนุม แต่การจะได้จดหมายที่ว่านี้ต้องผ่านเงื่อนไขยาวเหยียด
ในการชุมนุมดังกล่าวนี้มีผู้ชุมนุมเข้าร่วม 80 ราย ซึ่งอาจจะน้อยกว่าตำรวจที่วางกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยเสียอีก และผู้ชุมนุมเหล่านี้ก็ถูกกำหนดให้ต้องติดหมายเลขของผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังต้องให้ผู้ชุมนุมคอยถือเทปกั้นเขตของตำรวจล้อมขบวนไว้ระหว่างเดินจัดเป็น “เขตประท้วง” ซึ่งชาวเน็ตเรียกมันว่า “เทปสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม”
ในกฎการชุมนุมฉบับใหม่ของฮ่องกงยังกำหนดอีกว่าเมื่อการเดินขบวนเริ่มต้นแล้ว จะไม่มีใครอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ที่มีเทปกั้นเด็ดขาด ถึงแม้ว่าคุณจะมาประท้วงสายก็ตาม รวมถึงมีการห้ามไม่ให้นักข่าวเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย ถ้าหากว่าคนถือเทปกั้นเขตทำเทปตก พวกเขาก็จะถูกสั่งให้เก็บมันขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมลามไปถึง โปสเตอร์, แผ่นป้าย และ เนื้อหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจคัดกรองเนื้อหาบนป้ายและโปสเตอร์เหล่านี้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการชุมนุม อีกทั้งยังมีกฎห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีดำหรือเสื้อกันฝนสีเหลือง (ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2562) ห้ามไม่ให้มีการตะโกนคำขวัญที่ละเมิดกฎหมายหรือความมั่นคงชองชาติ ผู้ชุมนุมจะสามารถสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีใบรับรองแพทย์ที่มีเหตุอันควรให้ต้องสวมหน้ากากเท่านั้น
มีข้อกำหนดหลายอย่างในกฎหมายนี้ที่ถูกมองว่าชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง มีข้าราชการเกษียณอายุแล้วรายหนึ่งบอกว่า “ผมมาเพื่อที่จะเดินขบวนประท้วง ไม่ใช่ขบวนแห่ที่น่าอาย” มีผู้ประท้วงอีกรายหนึ่งบอกว่ากฎเกณฑ์ข้อบังคับเหล่านี้ “ไร้สาระจนน่าหัวเราะ”
ผู้จัดการชุมนุมบอกว่าการดูแลจัดการนั้น “เข้มงวด” แต่ก็มองว่า “ดีกว่าการถูกห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นของตัวเองเลย” แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาได้รับการเตือนแบบเดียวกับผู้จัดการชุมนุมรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่ ว่าถ้าหากพวกเขาฝ่าฝืนข้อห้ามใดๆ ก็ตามแม้แต่ข้อเดียว ก็จะมีการยกเลิกจดหมายอนุญาตชุมนุมทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาใดๆ จนทำให้กิจกรรมที่ดำเนินมาทั้งหมดกลายเป็นการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฮ่องกงยังมักจะมีการเตือนผู้จัดการชุมนุมเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าหากมีการกระทำผิดกฎหมายใดๆ ในการจัดกิจกรรมผู้จัดการชุมนุมจะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้มีความผิดด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลอย่างน่าเหลือเชื่อในแง่ของกฎหมาย
ในช่วงนั้นมีคำถามต่อ จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงว่า การติดป้ายตัวเลขให้กับผู้ชุมนุมนั้นจะกลายมาเป็นข้อบังคับการชุมนุมโดยถาวรนับจากนี้เป็นต้นไปหรือไม่ ลีตอบว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อให้การประท้วง “เป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นไปอย่างสงบ ถูกต้องตามกฎหมาย” และพูดอีกว่าอธิบดีกรมตำรวจมีหน้าที่ต้องทำให้แน่ใจว่าจะมีการชุมนุมอย่าง “เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างปลอดภัย และกระทำอย่างถูกต้องกฎหมาย”
แฮมเลตต์ระบุว่า เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงคำตัดสินของศาลอุทธรณ์สูงสุดของฮ่องกง ต่อคดี Leung Kwok-hung and others v HKSAR ปี 2548 ที่ศาลระบุว่า การชุมนุมนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นหนึ่งในสิทธิที่เป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันอาจจะถูกลิดรอนได้ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญบางอย่าง เช่น ความสงบเรียบร้อยในสังคม อย่างไรก็ตามแต่ การจะจำกัดใดๆ ก็ตามควรจะคำนึงถึงสัดส่วนของอันตรายที่ต้องการจะหลีกเลี่ยง และมองเห็นความจำเป็นของสังคมประชาธิปไตยด้วย
แฮมเลตต์มองว่าลีพูดเหมือนกับว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2562 เป็นผลมาจากการที่มีคนฝ่าฝืนกฎหมายเปลี่ยนให้การชุมนุมอย่างสันติกลายเป็นอะไรอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่แบบเดียวกับที่ทุกคนจดจำเหตุการณ์ในปีนั้นในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และรัฐบาลฮ่องกงก็พยายามสร้างภาพว่าบุคคลที่ก่อความวุ่นวายถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือหนีออกจากประเทศไปแล้ว
แฮมเลตต์ระบุว่า “ในขณะที่รัฐบาลฮ่องกงพยายามจะสร้างภาพว่าพวกเขาเป็น ‘สังคมประชาธิปไต’ แต่กลับมีการเลือกตั้งโดยผู้คนที่ไม่ชอบการเลือกตั้ง และมีกฎหมายกำกับการประท้วงโดยผู้คนที่ไม่ชอบการประท้วง”
บทความโดย ทีมข่าวประชาไท
เรียบเรียงจาก Hong Kong’s new protest regulations are designed by those who don’t like protests, Hong Kong Free Press, 31-03-2023
เครดิตภาพ China Hong Kong Flag | 黃埔體育會 一直支持中國香港兩地運動文化交流。我們游泳班一直有香港本地及國… | Flickr
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 27 เม.ย. 2566
Link : https://prachatai.com/journal/2023/04/103849