กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ร่วมกับทีมวิศวกร AIS เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มขบวนการส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน หลอกดูดเงินผู้เสียหาย
นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า จากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ได้สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ เช่น AIS Secure Net Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม ฟิชชิ่ง ไวรัสแล้ว เรายังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา
“มิจฉาชีพมีการพลิกแพลงรูปแบบการละเมิดเพิ่มเติมขึ้น อย่างกรณีการส่ง SMS จากเครือข่ายปลอมด้วยอุปกรณ์ผิดกฎหมายไปยังมือถือประชาชน ที่เรียกว่า False Base Station (FBS) หรือ Fake Base Station โดยใช้ชื่อผู้ส่ง (Sender name) ปลอมแปลงในนามขององค์กรต่างๆ เช่น ธนาคาร บริการประเภทต่างๆ เพื่อหลอกให้ประชาชนที่ได้รับข้อความหลงเชื่อว่าเป็น SMS จากหน่วยงานนั้นๆ จริง และล่อลวงให้กดลิงก์ แอดไลน์ และอื่นๆ จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สิน หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล”
AIS ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายได้ตรวจสอบพบความผิดปกติ และทีมวิศวกรได้ร่วมทำงานกับฝ่ายความมั่นคงอย่างเต็มกำลังมาแล้วระยะหนึ่ง ในการเฝ้าดูและติดตามพฤติกรรมของมิจฉาชีพตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเทคโนโลยี Tracking& Monitoring จนสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนตัวอย่างละเอียดเพื่อค้นหาให้ถึงตัวแหล่งกบดานของกลุ่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภารกิจการทลายแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มนี้สำเร็จลงได้
นายวรุณเทพ กล่าวต่อว่า AIS มุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้เพราะเป็นหน้าที่หลักของเราเช่นกันในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้งานดิจิทัลตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ภัยจากดิจิทัลยังคงมีอยู่รอบตัวในหลากหลายรูปแบบ
“จึงอยากเตือนประชาชนเมื่อได้รับข้อความทั้งจาก SMS, LINE หรือทุกช่องทาง อยากขอให้กรุณาตรวจสอบกับเจ้าของบริการให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ในส่วนของ AIS เองจะยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อร่วมกับฝ่ายความมั่นคงในการแก้ไข ป้องกันกรณีนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงติดตาม เฝ้าระวังกรณีอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตต่อไป”
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าคนร้ายจะกระทำการหลอกลวงโดยนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหากแล่นรถผ่านไปทางใดจะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอมอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
หากประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ดังกล่าวจะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล โดยสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking ทั้งนี้ พบข้อมูลจากระบบการรับแจ้งความออนไลน์ในห้วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2566 ที่มีการแจ้งความออนไลน์ รวมค่าเสียหาย 124,896,689.84 บาท
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ค. 2566
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9660000048404