ดิจิทัลฟุตพริ้นท์ คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดความประพฤติของบุคคลที่กระทำบนโลกอินเทอร์เน็ต และผู้ใหญ่หลายคนถึงกับเตือนว่า “สิ่งที่เคยกระทำในอดีตจะส่งผลถึงปัจจุบัน” ดังนั้น คิดก่อนโพสต์
Digital Footprint (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) หรือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่จะเก็บประวัติทางพฤติกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือการกรอกข้อมูลใส่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ การกดไลก์เพจ การแชร์หรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถค้นหาได้ง่ายๆ เพียงแค่กรอกข้อมูลส่วนตัวบางอย่างก็ค้นเจอบนโลกดิจิทัลแล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียน วัยทำงาน หรือเจ้าของกิจการก็ต้องรอบคอบเรื่องการโพสต์ข้อความใดๆ ก็ตามบนโซเชียลมีเดีย
มีข้อมูลจาก CareerBuilder ระบุว่า เรื่องดิจิทัลฟุตพริ้นท์เป็นหนึ่งในเหตุผลที่องค์กรจะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกพนักงานใหม่ในการเข้าทำงาน หากพนักงานคนนั้นมีพฤติกรรมการโพสต์ภาพ วิดีโอหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เหยียดเพศ บูลลี่หรือแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองแบบรุนแรง เหยียดศาสนา เป็นต้น
เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีองค์กรกว่า 41.19% ให้ความเห็นพ้องตรงกับผลวิจัยว่า นำการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มาใช้ประกอบในการพิจารณาคุณสมบัติในการรับเข้าทำงาน
เนื่องจากบุคคลนั้น อาจแสดงถึงความคิดเห็นต่อต้านการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีความเห็นต่าง รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะแสดงความเห็นที่รุนแรงต่อองค์กร
การแบ่งรอยเท้าดิจิทัล จะมี 2 รูปแบบ
Active Digital Footprint คือ ประวัติที่เกิดจากความตั้งใจเปิดเผย เช่น การส่งอีเมล เขียนบล็อก โพสต์ข้อความ รูปแบบ วิดีโอ บนโซเชียลมีเดีย
Passive Digital Footprint คือ ประวัติที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เช่น IP Address รหัสเข้าคอมพิวเตอร์ ล็อกอินในการเข้าโซเชียลมีเดียต่างๆ ประวัติการค้นหาข้อมูล
ดังนั้น ยิ่งเราท่องโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ แสดงความคิดเห็น จ่ายเงินซื้อของ หรือค้นหาข้อมูลด้วยโปรแกรมแล้วกดยอมรับ Cookie ทุกเว็บที่เข้าใช้งาน (หรือไม่ยอมรับก็ตาม) ระบบออนไลน์จะบันทึกไว้ทั้งหมด (นั่นถึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีกฎหมาย PDPA เข้ามาควบคุมอิสระในการท่องอินเทอร์เน็ตและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล)
นอกจากนี้ Forbes ยังเคยให้เหตุผลเกี่ยวกับดิจิทัลฟรุตพริ้นต์ในการรับเลือกพนักงานสำหรับเข้าทำงานไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น
1. โลกออนไลน์บอกถึงความเหมาะสมของบุคคลต่อบริษัท
2. แสดงให้เห็นตัวตนอีกด้านของพนักงาน
3. การแสดงตัวตนทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์ของคนแบบ 360 องศา
4. ประเมินบุคลิกภาพเบื้องต้น
5. สร้างความชัดเจนในตัวบุคคลมากกว่าคำตอบที่เตรียมมา
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มคนเจน X , Y , Z ก็ต้องคิดให้ดีก่อนโพสต์ทุกครั้ง เพราะการใช้โซเชียลแบบไม่ยั้งคิด อาจจะเป็นดาบสองคม ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทั้งบุคคลและองค์กรก็เป็นได้
บทความโดย BEE SUTTHICHAROEN
————————————————————————————————————————-
ที่มา : springnews / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ค. 2566
Link : https://www.springnews.co.th/digital-business/digital-marketing/838899