นับตั้งแต่การสู้รบในซูดานปะทุขึ้นอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา กรุงคาร์ทูมในอีก 1 เดือนต่อมา คือพื้นที่สงครามอันอ้างว้าง ซึ่งยังมีหลายครอบครัวที่หวาดกลัวหลบอยู่ในบ้านของพวกเขา ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังสนั่นบนท้องถนนด้านนอกที่รกร้างและเต็มไปด้วยฝุ่น
ทั่วกรุงคาร์ทูม ผู้รอดชีวิตต่างหลบภัยในบ้านที่เสริมการป้องกัน โดยหวังว่าพวกเขาจะไม่โดนลูกหลง และอดทนต่อการขาดแคลนอาหารและสิ่งของพื้นฐานที่สิ้นหวัง เช่นเดียวกับการเผชิญปัญหาไฟฟ้าดับ, การขาดเงินสด, การสื่อสารที่ขาดหาย และภาวะเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้
ขณะที่ทหารสองฝ่ายกำลังต่อสู้กัน บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เหลืออยู่ต่างถอยร่น ไปปักหลักที่เมืองพอร์ตซูดาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาร์ทูมประมาณ 850 กิโลเมตร และเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้อพยพจำนวนมาก ทั้งชาวซูดานและพลเมืองชาวต่างชาติ
ซูดานมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับการรัฐประหารมาอย่างยาวนาน แต่ความหวังของประเทศเพิ่มขึ้นหลังเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ เมื่อปี 2562 แม้มีรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เป็นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด ในปี 2564
สำหรับชนวนเหตุของสงครามกลางเมืองในซูดานครั้งนี้ เป็นผลจากความตึงเครียดเกี่ยวกับการผนวกรวมกองกำลังเพื่อจัดตั้งกองทัพแห่งชาติ โดย พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน ซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำประเทศคนปัจจุบัน และ พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล ผู้นำกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (อาร์เอสเอฟ) ในฐานะรองผู้นำ “ตกลงกันไม่ได้”
การสู้รบยิ่งทำให้วิกฤติด้านมนุษยธรรมในซูดานเลวร้ายยิ่งขึ้น จากเดิมที่ชาวซูดานราว 1 ใน 3 พึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ทว่านับตั้งแต่เกิดสงคราม การดำเนินงานโดยองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศในซูดานเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมเสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบครั้งนี้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือน อยู่ที่มากกว่า 1,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเตือนว่า ในช่วงเวลา 6 เดือน ประชาชนมากถึง 19 ล้านคน อาจเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร
ทั้งนี้ นายอาลี เวอร์จี นักวิจัยซูดาน จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กของสวีเดน กล่าวว่า การสู้รบซึ่งเกิดขึ้นทั่วซูดาน สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐาน และโรงงานหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดการยกเลิกอุตสาหกรรมบางส่วนในประเทศ และนั่นหมายความว่า ชาวซูดานจะยากจนกว่านี้ต่อไปอีกนาน
บทความโดย เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————-
ที่มา : dailynews / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2355116/