ตรวจพบสิ่งปลูกสร้างทางกองทัพอยู่บนเกาะ Great Coco ของเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่เกาะ Andaman and Nicobar ของอินเดียไปเพียง 55 กิโลเมตร ขณะที่จีนออกมาปฏิเสธ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างฐานลาดตระเวณบนเกาะของเมียนมา
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 เกาะ Great Coco ของเมียนมา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ อันห่างไกล ตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล ก็ตกเป็นประเด็นมาตลอด หลังจากมีข่าวลือว่า เกาะนี้เป็นที่ตั้งหน่วยงานข่าวกรองของจีน แม้จะขาดหลักฐานยืนยัน แต่ล่าสุด ก็มีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นมาอีก
ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นสัญญาณว่า มีสิ่งปลูกสร้างทางทหารที่ทันสมัยผุดขึ้นมาบนเกาะ จากรายงานของ Chatham House สถาบันจัดวางนโยบายอิสระตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ สิ่งปลูกสร้างประกอบไปด้วยรันเวย์ยาว 2,300 เมตร และสถานีเรดาร์ ตลอดจนโรงเก็บเครื่องบินใหม่ 2 แห่ง ทั้งยังมีถนนที่สร้างใหม่ เชื่อมไปสู่อีกเกาะที่เล็กกว่า เพียงเท่านี้ก็ชี้ชัดว่า น่าจะมีการก่อสร้างสิ่งอื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต
Great Coco เป็นเกาะเล็กๆ มีความยาวเพียง 11 กิโลเมตร แต่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่อยู่ใกล้กับช่องแคบมะละกา หนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลก แต่เกาะนี้ ยังอยู่ใกล้กับหมู่เกาะ Andaman and Nicobar ของอินเดียอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือของอินเดีย
สัญญาณการก่อสร้างบนเกาะ ก่อให้เกิดความวิตกว่า จีน อาจเข้ามารวบรวมงานข่าวกรองในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการจารกรรมข้อมูล หรือ การแบ่งปันข่าวกรองร่วมกับเมียนมา เนื่องจากสองประเทศนี้ ผูกติดกันมากขึ้น นับจากเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า จีนไปข้องเกี่ยวกับกิจกรรมบนเกาะของเมียนมา
ขณะที่อินเดียเอง ก็รายงานว่า กำลังจับตาความเคลื่อนไหวบนเกาะอย่างใกล้ชิด เมื่อไม่นานมานี้ อินเดียอ้างข้อมูลข่าวกรองว่า จีนกำลังจัดหาความช่วยเหลือในการสร้างฐานลาดตระเวณบนเกาะของเมียนมาแห่งนี้ แต่จีนปฏิเสธข่าวนี้ ไม่เป็นความจริง
นักวิเคราะห์มองว่า เมียนมากำลังเข้าตาจน มีเงินไม่พอ การลงทุนจากจีนจึงกลายเป็นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจไปโดยอัตโนมัติ และในเวทีโลก จีนกับเมียนมาก็ยังเป็นพันธมิตรกัน เมื่อปี 2020 ก่อนเกิดการรัฐประหาร ในเวลานั้น หนี้ต่างประเทศของเมียนมา ก็มาจากจีนถึง 40% แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จีนเข้าไปลงทุนในเมียนมาหลายอย่าง หลักๆ คือการสร้างท่าเรือน้ำลึก จ้าวผิ่ว ( Kyaukphyu ) ทางตะวันตกของเมียนมา เพื่อให้จีนใช้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย สำหรับการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมัน ลดการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาให้น้อยลง
นักวิเคราะห์มองว่า ยิ่งเมียนมาพึ่งพาจีนในการสนับสนุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ มันก็มีแนวโน้มอย่างมากที่กองทัพเมียนมาจะแบ่งปันข่าวกรองกับจีน และสนับสนุนจีนในการจัดวางกลยุทธ์ต่างๆ อย่างการสร้างสิ่งต่างๆ บนเกาะ Great Coco ของเมียนมา ถือเป็นการยั่วยุความมั่นคงของภูมิภาค และอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างจีนกับอินเดีย ในอ่าวเบงกอล ซึ่งก็เชื่อได้ว่า กองทัพเมียนมามีแนวโน้มจะยุให้อินเดียกับจีนมึนตึงใส่กัน เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทูตที่เพิ่มมากขึ้น
อินเดียและจีน รวมถึงรัสเซีย งดเว้นจากการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2022 ให้ยุติเหตุรุนแรงในเมียนมาและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่พบบนเกาะของเมียนมาครั้งนี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่า ประชาคมโลกอย่าเพิกเฉยต่อวิกฤติในเมียนมา เพราะอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศเพื่อนบ้านได้
อ้างอิงจาก The guardian
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เนชั่นออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1 พ.ค. 2566
Link : https://www.nationtv.tv/foreign/378913906