‘ญี่ปุ่น’ ผู้นำเทคโนโลยีโลก แต่ล้าหลังด้าน’ดิจิทัล’ โดยการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานรัฐบาล 1,900 รายการ ยังคงใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบเก่า เช่น ซีดี, แผ่นดิสก์ขนาดเล็ก และฟลอปปีดิสก์
ญี่ปุ่น ในความทรงจำของคนทั่วโลกเป็นดินแดนแห่งอนาคต เพราะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นดินแดนแห่งวิทยาการด้านหุ่นยนต์ แต่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ ยังมีอีกหลายด้านที่ขัดแย้งในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล และดูเหมือนว่าการชอบใช้เงินสดของชาวญี่ปุ่น เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของความเฉื่อยชาในการตอบสนองต่อกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออก
ข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(เมติ) ระบุว่า แม้การชำระเงินแบบไร้เงินสดในญี่ปุ่นจะเติบโตกว่า 2 เท่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนการชำระเงินแบบไร้เงินสดอยู่ที่ 36% ในปี 2565 แต่สัดส่วนการชำระเงินแบบไร้เงินสดของญี่ปุ่น ยังคงล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ที่ล้วนเป็นประเทศที่มีการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากที่สุด
อาซาฮิ ร้านอาหารของ’ริวอิจิ อูเอกิ’ เป็นร้านที่รับเฉพาะเงินสด เช่นเดียวกับร้านอาหารอื่น ๆ ที่เขารู้จัก โดยอูเอกิ เจ้าของร้านอาซาฮิ รุ่นที่ 5 เป็นร้านราเมงในย่านประวัติศาสตร์อาซากูซะ กรุงโตเกียว ยังคงให้ร้านอาหารรับชำระเงินแค่เงินสดเท่านั้น เนื่องจากไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตหรือยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แอ๊ปเปิ้ลเพย์ และไลน์เพย์
อูเอกิ เจ้าของร้านอาซาฮิ ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2457 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า “ร้านของผมมีลูกค้าบางคนขอชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เพราะพวกเขาไม่มีเงินสด ผมเลยบอกพวกเขาให้ไปร้านสะดวกซื้อเพื่อกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม”
แม้การชำระเงินแบบไร้เงินสดจะเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่อูเอกิยังไม่มีแผนปรับเปลี่ยนการชำระเงินเร็ว ๆ นี้
“การชำระเงินแบบไร้เงินสดไม่สำคัญ เพราะเราสะดวกในการรับชำระเงินแบบนี้ ถ้าผมคิดจะเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงิน มันคงดูแปลก ๆ แต่ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้” อูเอกิ กล่าว และอธิบายว่า การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ก็ทำแบบเดียวกับที่กิจการครอบครัวทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งความพึงพอใจทำธุรกิจในรูปแบบนี้ของอูเอกิ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่น
การให้บริการต่าง ๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบออนไลน์ได้เช่นกัน และต้องพึ่งพาการใช้กระดาษหรือต้องไปติดต่อที่สำนักงานท้องถิ่นของรัฐบาล
ขณะที่สำนักงานต่าง ๆ มักใช้เครื่องโทรสารหรือแฟกซ์ แทนการใช้อีเมล ขณะที่ตราประทับ ซึ่งเรียกว่า “ฮังโคะ” ยังเป็นที่นิยมมากกว่าลายเซ็นดิจิทัล
สำนักงานดิจิทัลของญี่ปุ่น หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศ คาดการณ์ว่า กระบวนการดำเนินงานระหว่างองค์กรในรัฐบาล 1,900 รายการ ยังคงใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบเก่า เช่น ซีดี, แผ่นดิสก์ขนาดเล็ก, และฟลอปปีดิสก์หรือแผ่นดิสก์แบบอ่อน
ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นในจังหวัดยามากูจิตกเป็นข่าว หลังจากส่งฟลอปปีดิสก์ที่จัดเก็บข้อมูลพลเมืองไปให้กับธนาคารในท้องถิ่น เพื่อแจกจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน แต่ข้อมูลเกิดการปะปนกันจนสับสน จึงทำให้ประชาชนรายหนึ่งได้รับเงินเยียวยาไม่ถูกต้องเป็นจำนวนเงินมากมายถึง 46.3 ล้านเยน หรือประมาณ 11.5 ล้านบาท
ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก ที่เผยแพร่โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ พบว่า ญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 29 จากทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจ ยังคงตามหลังสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน
“มาร์ติน ชูลซ์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์นโยบายจากฟูจิตสึ บริษัทให้บริการด้านไอที กล่าวว่า การพึ่งพาระบบชำระเงินแบบเก่าของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการบรรลุการใช้เทคโนโลยีอะนาล็อกที่มีประสิทธิภาพระดับโลก
ชูลซ์ ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า “เมื่อระบบการทำงานของคุณดำเนินการเหมือนเครื่องจักรที่มีความเที่ยงตรง หากจะทดแทนด้วยระบบดิจิทัลก็ทำได้ แต่จะมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากโดยไม่มีรายได้ใด ๆ เพิ่มเติม ถ้าคุณมีระบบการทำงานที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ แล้วจู่ ๆ คุณก็บอกว่าต้องจัดระเบียบใหม่ในตอนนี้ การคำนวณค่าใช้จ่ายระหว่างระบบการทำงานแบบเดิมและแบบดิจิทัล มีความแตกต่างกันมาก”
รัฐบาลญี่ปุ่นทราบมานานแล้วว่า ประเทศมีความจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาทางดิจิทัลที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนความพยายามในการกระตุ้นผลิตภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศ และมูลค่าเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังคงน้อยกว่าในอดีต หลังเกิดวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในช่วงต้นยุค 1990
ในรายงานปี 2561 กระทรวงเมติเตือนว่า ญี่ปุ่นเผชิญกับวิฤติทางดิจิทัล เนื่องจากธุรกิจเกิดความล้มเหลวในการปรับตัวใช้ระบบดิจิทัล การจัดตั้งบริษัทจะเกิดการสูญเสียเงินมากถึง 12 ล้านล้านเยนในแต่ละปี หลังปี 2568
“ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไปใช้ดิจิทัลให้มากขึ้น ซึ่งมีทั้งนโยบายที่ใช้งบประมาณ 5.7 ล้านล้านเยน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในภูมิภาคที่กำลังขาดแคลนแรงงานอยู่ เนื่องจากประชากรสูงอายุของประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
เพื่อรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิทัลที่แต่งตั้งกันมาตั้งแต่สมัยโยชิฮิเดะ ซูกะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน คิชิดะได้แต่งตั้ง “ทาโร โคโนะ” ผู้ประกาศสงครามการใช้ฟลอปปีดิสก์และพูดประชดประชันเกี่ยวกับเครื่องแฟกซ์ของเขาที่มักจะเกิดการขัดข้อง แม้อยู่ในสังคมที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก
นอกจากนี้ สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือน ให้ประเทศเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลมากขึ้น
ชูลซ์ บอกว่า ขณะที่หลายประเทศดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ดิจิทัล สามารถใช้วิกฤติโควิด-19 สำรวจแนวทางใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจได้ แต่ญี่ปุ่นกลับพบว่า ประเทศเพิ่งอยู่ในช่วงการวางรากฐานเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลเท่านั้น
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 7 มิ.ย.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1072186