เตรียมตัวให้พร้อม! “ดีอีเอส” ขีดเส้น 21 ส.ค.-18 พ.ย. 2566 บี้ผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายกว่า 1 พันราย ทยอยรายงานตัว หลังกฎหมาย DPS ปักหมุดบังคับใช้ ขู่เมินพร้อมงัดโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท ยันแม่ค้าออนไลน์-อินฟลูเอ็นเซอร์ไม่กระทบ ดีเดย์ 26 มิ.ย. นี้ เดินเครื่องรับฟังความคิดเห็นเรื่องการยืนยันตัวตนของผู้ให้บริการ ปิดช่องมิจฉาชีพหลอกลวง
22 มิ.ย. 2566 – นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังการประชุมทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 ส.ค. นี้ ว่า ตามที่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามเกณฑ์ต้องมาแจ้งกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระหว่างวันที่ 21 ส.ค.-18 พ.ย. 2566คือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการในระบบมากกว่า 5,000 ราย/เดือน มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท/ปี สำหรับนิติบุคคล และมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปีสำหรับแพลตฟอร์มของบุคคลธรรมดาหากไม่มาแจ้งตามกำหนดเวลามีโทษจำคุก 1 ปี โทษปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีจำนวนแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายจดแจ้งประมาณ 1,000 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ แพลตฟอร์มกลุ่ม Social Media ที่เป็นแพลตฟอร์มแสดงความคิดเห็น อาทิ Facebook, Twitter, Tiktok, Google, Blockdit, Pantip เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มก็เป็น E-Commerce, E-service ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมาซื้อขาย ได้แก่ Shopee , Lazada รวมไปถึงแพลตฟอร์มขายรถมือสอง ขายบ้าน ขายพระเครื่อง โดยต้องกำกับดูแลไม่ให้มีการหลอกลวงกัน หรือซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย ส่วนแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศก็ต้องมีตัวแทนจากไทยเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน หรือรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และต้องมีระบบดูแลอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่มีขนาดเล็กรองลงมาก็จะดูแลกำกับในระยะถัดไป โดยตั้งเป้าให้แพลตฟอร์มที่ให้คนมาพบกันทั้งซื้อขายสินค้า หรือให้ความคิดเห็น เข้ามาแจ้งให้ครบภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้เพื่อต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน
“หากบริษัทที่มีการค้าขายอยู่แล้ว แต่มีการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องจดทะเบียน รวมถึงอินฟลูเลนเซอร์ หรือ ประชาชนที่มีเพจขายของในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ด้วย เพราะผู้ที่ลงทะเบียนค้าขายกับเจ้าของแพลตฟอร์มต้องดำเนินการตามระเบียบของเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีการจดแจ้งอยู่แล้ว ดังนั้นประชาชนที่ค้าขายออนไลน์ไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้าย ในเรื่องการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบในการยืนยันตัวตนหลายรูปแบบ อาทิ อีเมล, เบอร์โทรศัพท์, บัตรประชาชน และดิจิทัลไอดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการยืนยันผู้ใช้งานว่ามีตัวตนหรือไม่ สามารถหาตัวเจอได้ หากมีการกระทำผิด เพื่อไม่ให้มีมิจฉาชีพมาใช้แพลตฟอร์มในการหลอกลวงออนไลน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 22 มิ.ย.66
Link : https://www.thaipost.net/economy-news/401403/