โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ห่วงภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ย้ำทุกกระทรวง-หน่วยงานภาครัฐ เฝ้าระวังป้องกันต่อเนื่องใกล้ชิด หากตรวจพบข้อมูลเท็จ ต้องรีบชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยเร็ว ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห่วงใยกรณีที่ขณะนี้พบปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการทุจริตหลอกลวงที่เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตและช่องทางออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เช่น ล่าสุดกรณีมิจฉาชีพส่ง SMS หลอกลวง อ้างชื่อกรมการจัดหางาน แจ้งผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชย 2,000 บาท ระหว่างว่างงาน รวมถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเท็จผ่านสื่อออนไลน์ ระบุรัฐบาลทบทวนสิทธิโอนเงินเข้าบัญชี 5,000 บาท ในเดือน มิ.ย. 66 ฯลฯ จึงเน้นย้ำให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานของภาครัฐ เฝ้าระวังป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด หากตรวจสอบพบข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้ทุกหน่วยงานรีบแก้ไขปัญหาและชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนและสังคมรับทราบโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารที่เป็นเท็จขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลเสียหายต่อประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
นายอนุชาฯ กล่าวว่าสำหรับการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การหมั่นตรวจสอบอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงจัดอบรมฝึกสอนพนักงานเจ้าหน้าที่ให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ขอให้สร้างการรับรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันภัยที่เกิดขึ้น พร้อมแนะนำให้ประชาชนควรหมั่นอัปเดตซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ IT อื่น ๆ ของตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะการตั้งพาสเวิร์ดควรตั้งให้คาดเดาได้ยาก และอย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ หรือเล่นเกมและควิซตอบคำถามจากเว็บไซต์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ สิ่งสำคัญคือระมัดระวังตัว อย่าหลงเชื่อหรือคลิกลิงก์โดยง่าย ป้องกันไม่ให้ถูกหลอกสอบถามรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวที่จะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้
“จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 2 – 8 มิถุนายน 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,210,839 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 236 ข้อความ ทั้งนี้ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 233 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line official จำนวน 13 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 155 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 88 เรื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ กลุ่มภัยพิบัติตามลำดับ โดยประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุชาฯ กล่าว
สำหรับข้อมูลที่ ดีอีเอส ระบุแบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในกระเทศ จำนวน 78 เรื่อง อาทิ รัฐบาลหนุนสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากปลาทูน่า โครงการคนละครึ่ง ส่งSMS แจ้งร้านค้าให้ติดต่อยกเลิกโครงการคนละครึ่งผ่านลิงก์ เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 54 เรื่อง อาทิ อาหารผัดน้ำมันทำให้ติดเชื้อภายในง่าย มีตกขาว หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการท้องผูก เลือดจาง และตะคริวเป็นสัญญาณอัมพฤกษ์ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 3 ภัยพิบัติ จำนวน 15 เรื่อง อาทิ พายุลูกใหญ่ทวีกำลังแรง ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ลมกระโชกแรงหนักที่สุดในรอบ 10 ปี เป็นต้น กลุ่มที่ 4 เศรษฐกิจ จำนวน 8 เรื่อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท Gulf Energy Development เปิดให้ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,269 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับโควิด-19 จำนวน 1 เรื่อง
Link : https://siamrath.co.th/n/456240