“ณัฐพล” ผอ.ดีป้า แจงพร้อม ถ่ายโอน ทรัพย์สิน บุคลากร และ งบประมาณปี 2565 ให้ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นองค์กรบิ๊กดาต้าของประเทศไทย หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศ จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ครั้งแรก รวมข้อมูลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือใช้ประโยชน์
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ สขญ.ที่จะเป็น บิ๊กดาต้า ประเทศไทย เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐบาล หรือบิ๊กดาต้า ภาครัฐ แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณทำให้ยังไม่สามารถตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาได้
ดีป้าจึงรับเข้ามาเป็นแผนกหนึ่งของดีป้าตั้งแต่ปี 2562 จากงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) มาโดยตลอด ปัจจุบันมีบุคลากรประมาณ 70 อัตรา จากนักเรียนทุนที่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล มีทรัพย์สินประมาณ 200 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อมีการยกระดับสขญ.เป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ ดีป้ามีความพร้อมในการถ่ายโอนทรัพย์สิน บุคลากร และ งบประมาณปี 2565 ที่เหลือให้หน่วยงานใหม่นี้ โดยจะยังคงใช้พื้นที่ของดีป้าเป็นสำนักงานไปก่อน เพราะหน่วยงานนี้ไม่ได้ต้องการพื้นที่มาก สามารถทำงานที่ไหนก็ได้
โดยเมื่อเป็นหน่วยงานใหม่แล้วตามแผนต้องมีบุคลากร 117 คน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ วิเคราะห์ข้อมูลภาครัฐ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบิ๊ก ดาต้า ให้หน่วยงานอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายบิ๊ก ดาต้า ที่สำคัญคือหน่วยงานนี้ต้องมีการประเมินการทำงานใน 3 ปีแรกด้วยว่าควรอยู่ต่อหรือไม่เพื่อไม่ให้ตั้งขึ้นมาเป็นภาระต่อรัฐบาล ส่วนบุคลากรที่มีให้กระจายไปอยู่ตามส่วนงานด้านข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ แทน ซี่งเป็นตำแหน่งงานขนาดแคลน
“ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ เรื่องบิ๊ก ดาต้า เป็นเรื่องใหม่ คนเข้าใจน้อย แต่ทุกวันนี้คนมีความเข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลาวด์ หรือ เอไอ รวมถึงกฎหมายที่มีความพร้อมทั้งเรื่องปกป้องข้อมูลและความปลอดภัยไซเบอร์ แต่หน่วยงานยังไม่สามารถนำข้อมูลของทุกหน่วยมากองรวมกันได้ ด้วยชั้นความลับ หรือ ความเป็นเจ้าของข้อมูล ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเชื่อมโยงเข้ามูล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะเรื่องที่มีความร่วมมือด้วยกันได้ โดยที่ผ่านมาเราได้เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลไปแล้วกับภาคสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว” นายณัฐพล กล่าว
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กำลังอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายบิ๊ก ดาต้านั้น จะเป็นส่วนเติมเต็มด้านนโนบายระดับประเทศ ซึ่งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐควรอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย
อ่านรายละเอียดใน ราชกิจจานุเบกษา ที่นี่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A034N0000000000500.pdf
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ จัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ครั้งแรก เป็นบิ๊กดาต้าของประเทศไทย ศูนย์รวมข้อมูลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือใช้ประโยชน์ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับการจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อให้การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
รวมทั้งเพื่อให้เกิดการร่วมมือในข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สมควรจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นเป็นองค์การมหาชน
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
สำหรับสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สขญ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “BDI” โดยให้สถาบันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
หน้าที่ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ และหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. จัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2. ส่งเสริม ประสาน และให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ในการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการ หรือการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3. ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาหรือเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน
4. ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ
5. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจด้านการวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ
6. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่
7. ดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ สถาบันอาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือร่วมดำเนินการกับสถาบันตามมาตรานี้ได้
บทความโดย ปานฉัตร สินสุข
————————————————————————————————————————-
ที่มา : bangkokbiz / วันที่เผยแพร่ 4 มิ.ย.2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1071790