สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงเบอร์มือถือกับชื่อผู้ใช้งานเบอร์มือถือให้มีความถูกต้องตรงกัน จึงได้กำกับดูแลให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ (หรือการลงทะเบียนซิมการ์ด) เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่อาจได้รับบริการไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
ในวันที่โทรศัพท์มือถือไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์สื่อสารที่ไว้แค่ใช้โทรติดต่อหากันอย่างเดิม หากแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเชื่อมต่อไปยังโลกทั้งใบ ผ่านแอปพลิเคชันและช่องทางโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้อยู่นั้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งสำหรับการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วยการกรอกรหัส OTP (One Time Password) ที่จะได้รับผ่านทาง SMS โทรศัพท์และเบอร์มือถือจึงเป็นเสมือนเครื่องมือยืนยันตัวตนในยุคดิจิทัล
เมื่อย้อนเวลาไปในปี 2557 สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงเบอร์มือถือกับชื่อผู้ใช้งานเบอร์มือถือให้มีความถูกต้องตรงกัน จึงได้กำกับดูแลให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ (หรือการลงทะเบียนซิมการ์ด) เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่อาจได้รับบริการไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ หรือแม้แต่การขอคืนเงินค่าใช้บริการ และยังมีประโยชน์ในมิติเชิงสังคมและความมั่นคงของประเทศในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องนำข้อมูลไปปราบปรามหรือจับกุมผู้กระทำความผิดได้
และต่อมาเมื่อปี 2562 สำนักงาน กสทช. ได้ยกระดับการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยให้มีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนด้วยอัตลักษณ์ (Biometric) เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างหรือสวมสิทธิ์ในการลงทะเบียนซิมการ์ดอันอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ใช้บริการตลอดจนปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และความสะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้นจากช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย ก็มาพร้อมกับภัยที่มิจฉาชีพปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงให้ทันสมัยเช่นกัน กสทช. จึงได้กำหนดนโยบายจัดระเบียบการลงทะเบียนซิมการ์ดเพิ่มเติม โดยหากกรณีที่ประชาชนต้องการใช้ซิมการ์ดมากกว่า 5 เบอร์ต่อ 1 ค่าย ก็สามารถทำได้แต่ต้องไปลงทะเบียนและยืนยันตัวตนที่ศูนย์ให้บริการของค่ายมือถือเท่านั้น เพื่อยกระดับการยืนยันตัวตนให้มากขึ้น
แอปพลิเคชัน “3 ชั้น – ตรวจ แจ้ง ล็อก ที่ทุกคนควรมี”
แล้วประชาชนจะตรวจสอบอย่างไรว่าตอนนี้ลงทะเบียนซิมการ์ดไว้แล้วกี่เบอร์และอยู่ค่ายใดบ้าง และจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการลักลอบแอบอ้างเอาชื่อของเราบัตรประชาชนของเราไปลงทะเบียนซิมการ์ดไว้ในอดีตแล้วหรือไม่ สำนักงาน กสทช. ได้สร้างเครื่องมือร่วมกับผู้ให้บริการค่ายมือถือเพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเป็นเครื่องมือทางดิจิทัลที่สำนักงาน กสทช. ขอแนะนำให้ประชาชนใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของตนเองและมีเครื่องมือที่ดูแลตนเองได้ คือ แอปพลิเคชัน “3 ชั้น” ซึ่งประชาชนสามารถ download ใช้งาน “ฟรี” ได้ทาง Google Play และ AppStore โดยมีฟีเจอร์การใช้งานหลัก 3 อย่างคือ “ตรวจ” “แจ้ง” และ “ล็อก”
“ตรวจ” สามารถตรวจสอบเบอร์มือถือทั้งหมดที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชนของตนเอง (มีข้อมูลของทุกค่าย) ถ้ากรณีมีการใช้งานเกิน 5 เบอร์ต่อ 1 ค่ายแล้ว และหากต้องการเปิดใช้งานซิมการ์ดเพิ่มเติม ก็จะได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและจะได้ไปติดต่อศูนย์ให้บริการเพื่อลงทะเบียนซิมการ์ดและยืนยันตัวตน
“แจ้ง” หากตรวจแล้วพบข้อมูลว่า มีเบอร์หายไป หรือมีเบอร์แปลกปลอมที่เราไม่เคยลงทะเบียนใช้งานซึ่งอาจเป็นผลของการถูกแอบอ้างนำบัตรประชาชนของเราไปใช้ลงทะเบียนซิมการ์ด ก็สามารถ “แจ้ง” ไปยังผู้ให้บริการค่ายมือถือเบื้องต้นผ่านทางแอปฯ ได้เลย ก่อนไปแสดงตนที่ศูนย์บริการของค่ายนั้นเพื่อให้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
“ล็อก” เป็น function สำคัญที่สามารถ “ล็อก” หรือเป็นกุญแจป้องกันไม่ให้ผู้อื่นใช้เลขบัตรประชาชนของเราไปแอบอ้างเปิดใช้งานซิมการ์ดได้ แต่หากประชาชนอยากลงทะเบียนซิมการ์ดเพิ่มเติมก็สามารถปลดล็อกได้ด้วยตนเองผ่านแอปฯ ได้ทันที
เบอร์มือถือกลายเป็น Mobile ID
นอกจากนโยบายการจัดระเบียบการลงทะเบียนซิมการ์ดและการสร้างเครื่องมือทางดิจิทัลให้ประชาชนสามารถปกป้องตนเองได้แล้วนั้น เพื่อยกระดับให้เบอร์มือถือสามารถใช้ในการอ้างอิงเพื่อยืนยันตัวตนความเป็นเจ้าของเบอร์มือถือและเป็นเจ้าของบัตรประชนในการใช้บริการและทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการให้บริการออนไลน์ได้อย่างสะดวก ถูกต้อง ปลอดภัย และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย พร้อมด้วยหน่วยงานให้บริการประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาบริการ Digital ID รูปแบบหนึ่งภายใต้ชื่อ Mobile ID “เบอร์มือถือ แทนบัตร แทนตัวคุณ”
ปัจจุบัน Mobile ID ได้เริ่มทดลองการให้บริการจริงแล้ว โดยได้ทดลองการให้บริการในรูปแบบ Sandbox ภายใต้ข้อกำหนดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผู้ใช้บริการสามารถสมัครขอมี Mobile ID ได้ที่ศูนย์ให้บริการทั่วประเทศของ AIS DTAC TRUE NT (CAT TOT) โดยได้เริ่มทดลองการให้บริการเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพแบบออนไลน์ (ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร) ตลอดจนสามารถใช้ Mobile ID ไปยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ 9 สาขานำร่อง
ใน กทม. ได้แก่ สำนักงานใหญ่สีลม เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลวิลเลจ ดิเอ็มควอเทียร์ จามจุรีสแควร์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน เดอะคริสตัล 2 และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2 นอกจากนั้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 จะทยอยเปิดให้ประชาชนได้ใช้ Mobile ID ในการยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มเติมได้แก่
• การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับ Drone ของสำนักงาน กสทช.
• การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ผ่านระบบ E-FILING ของกรมสรรพากร
• การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ e-Self Service ของสำนักงานประกันสังคม
• การสมัครใช้บริการใบอนุญาตขับรถเสมือนจริงทางอิเล็กทรอนิกส์ DLT QR License ของกรมการขนส่งทางบก
• การรับฝากส่งพัสดุในประเทศของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
• การขอรายงานข้อมูลเครดิตของประชาชนทั่วไป ผ่านตู้ Kiosk ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
• การเปิดบัญชีลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นตัวกลางให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
• การยืนยันตัวตนในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
Mobile ID ถือเป็นหนึ่งในงานที่สำนักงาน กสทช. และภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้พัฒนาบริการให้ประชาชน รวมถึงผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีทางเลือกในการใช้ Digital ID ที่มีความสะดวกและปลอดภัย มีศักยภาพและมีการเติบโตในระยะยาว ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีความมั่นใจว่าการให้บริการ Mobile ID จะมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข้อมูลจาก นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข
ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม
———————————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 31 พ.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2380411/