“พล.ต.ท.ประจวบ” ผู้ช่วย ผบ.ตร.นำคณะร่วมประชุมด้านอาชญากรรมข้ามชาติกับผู้แทนสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ณ ประเทศอินโดนีเซีย เผย สถานการณ์”อาชญากรรมข้ามชาติ”เพิ่มสูง”หลังเปิดประเทศโดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์
21 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา “พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข” ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อม พล.ต.ท.สรร พูลศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ รอง ผบก.ปคม.และผู้แทนจาก บช.ก., สตม., บช.ปส., บก.ปทส., ตท. และ ป.ป.ส. ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 23 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 มิถุนายน บริเวณเมืองยอร์กยากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
“พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข” ผู้ช่วย ผบ.ตร.
ร่วมกับนายไมเคิล เทเน รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พร้อมทั้งผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) สหภาพยุโรป (EU) ออสเตรเลีย รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
โดยมี พล.ต.อ.ลิสติโย ซิกิต ปราโบโว ผบ.ตร.อินโดนีเซีย และ พล.ต.ท.อกุส อันเดรียนโต ผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายสอบสวนคดีอาญา และประธานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ให้การต้อนรับ
“พล.ต.ท.ประจวบ” เปิดเผยว่า ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมา
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ในการทำหน้าที่เป็นกลไกและหน่วยงานในการกำกับนโยบายของอาเซียนในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว
ยังดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน โดยจะร่วมดำเนินการ ประสานงาน ดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับปรุง การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับพหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ การก่อการร้าย การฟอกเงิน การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“พล.ต.ท.ประจวบ” กล่าวต่อว่า จากการเปิดประเทศภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ศปอส.ตร.(PCT) ได้รับแจ้งเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่าหมื่นราย สร้างความเสียหาย กว่า 400 ล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์ โดย บช.สอท. ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ โดยเชิญชวนผู้ใช้โทรศัพท์รายงานหมายเลขต้องสงสัย และผู้ให้บริการให้ความร่วมมือสืบสวนหมายเลขต้องสงสัยและบล็อกหมายเลขคนร้าย แล้วส่งข้อมูลมายังตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้การสืบสวนจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการค้ามนุษย์ในห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยร่วมกับกัมพูชาทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกผ่านทางโซเชียลมีเดียไปทำงานแล้วถูกกักขัง บังคับใช้แรงงานกว่า 800 คน สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียนฯ และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด (ASEAN-NARCO)
โดยในครั้งนี้ได้พิจารณาความร่วมมือในโครงการต่อต้านยาเสพติดร่วมกับออสเตรเลีย สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบนิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตนและจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติตามแผนความร่วมมือ การเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือกุญแจสำคัญในการปราบปราม สกัดกั้นและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดในทุกรูปแบบ
“ผู้ช่วย ผบ.ตร.” กล่าวว่า ปัจจุบันอาชญากรรมข้ามชาติพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน
————————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เนชั่นออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 มิ.ย.66
Link : https://www.nationtv.tv/news/social/378920400