ปัจจุบันการคุกคามไอดอลรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวนอกเหนือเวลางาน ตั้งแต่ไปรับ–ส่งศิลปินถึงสนามบิน จงใจซื้อตั๋วไฟล์ตบินเดียวกัน สะกดรอยตาม ไปจนถึงดักรอศิลปินที่หอพักของพวกเขา หรือแม้แต่การถ่ายรูปไอดอลในเชิงลามก เช่น การพยายามถ่ายใต้กระโปรง หรือการซูมเน้นเฉพาะส่วนบนเรือนร่างของศิลปิน แล้วนำมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าขึ้น การเคารพสิทธิส่วนบุคคลกลับถอยหลังลงอย่างไม่น่าเชื่อ และ ‘AI กลายเป็นเครื่องมือในการคุกคาม’
สนองตัณหาทางเพศด้วยการชมหนังโป๊ปลอมของไอดอลคนโปรด
K-pop Deepfake กลายเป็นสื่อโป๊ที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย หากค้นหาคำว่า ‘Kpop Deepfake’ ใน Google จะพบผลการค้นหาประมาณ 6.87 ล้านรายการ (ข้อมูลวันที่ 5 มิถุนายน 2023) มีทั้งเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเพื่อ K-pop Deepfake โดยเฉพาะ และเว็บไซต์ Porn อื่นๆ มีการจำแนก K-pop Deepfake เป็นหนึ่งในประเภทคอนเทนต์ลามก รวมถึงมีการจัดหมวดหมู่คลิปโป๊ปลอมของไอดอลหญิงแต่ละคน และจัดอันดับความนิยมในบางเว็บอีกด้วย
ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ‘Kpop Deepfake’ ถูกค้นหาอย่างต่อเนื่องใน Google และได้รับความนิยมสูงกว่า 50% ของทุกเดือน และเคยสูงถึง 100% ในเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ 2023 นอกจากนี้ยังมีการนำรูปภาพและวิดีโอ K-pop Deepfake ไปเผยแพร่ในทวิตเตอร์อย่างเปิดเผยด้วย ซึ่งมิใช่เพียงไอดอลหญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคาม แต่ไอดอลชายหลายคนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
“การอยากดูหนังโป๊เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือ การอยากดูไอดอลคนโปรดของคุณในหนังโป๊ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพวกเขา” – จอน จียอน, มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (EWHA WOMANS UNIVERSITY)
“It’s one thing wanting to watch porn, but a totally different thing to want to watch your favorite idol in the porn without their consent,” – JEON JIYEON, EWHA WOMANS UNIVERSITY
Deepfake การปลอมแปลงอย่างแนบเนียน
เทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จาก AI ในการปลอมแปลงลักษณะบุคคลต่างๆ ผ่านรูปภาพ วิดีโอ และเสียง เช่น การนำใบหน้าของบุคคลหนึ่งไปแทนที่บุคคลอื่นซึ่งแสดงอากัปกิริยาต่างๆ ในวิดีโอได้อย่างแนบเนียน โดยช่วงปี 2019–2020 จำนวนเนื้อหา Deepfake เพิ่มขึ้น 900% ในโลกออนไลน์
การคาดการณ์บ่งชี้ว่า แนวโน้มนี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต บ่อยครั้งที่เทคโนโลยี Deepfake ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อหลอกลวง โจมตี และทำลายชื่อเสียงบุคคลอื่น ส่งผลให้เทคโนโลยี Deepfake กลายเป็นภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ รวมถึงวงการไอดอล K-pop ด้วยเช่นกัน จากรายงานในปี 2019 ระบุว่า 96% ของวิดีโอ Deepfake มีลักษณะลามกอนาจาร
K-pop Deepfake Porn ความรุนแรงทางเพศที่ไม่ได้รับการยินยอม
สื่อโป๊ปลอมของไอดอลเกาหลีแพร่กระจายในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพวกเขาถูกตัดต่อในวิดีโอ 18+ เสมือนเป็นนักแสดงหนังโป๊ เปลื้องผ้าเปลือยเรือนร่าง หรือกำลังร่วมกิจกรรมทางเพศ อีกทั้งยังมีการหากินกับ K-pop Deepfake Porn ผ่านการซื้อขายสื่อโป๊ปลอมของไอดอลเกาหลีทางออนไลน์ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย
ในปี 2019 นักวิจัยของบริษัท Sensity AI ติดตามภูมิทัศน์ของ Deepfake ที่เติบโตทางอินเทอร์เน็ต พบว่า 96% ของ Deepfake บนโลกออนไลน์นั้นเป็นสื่อลามกที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอม รวมถึง 5 อันดับแรกของวิดีโอบนเว็บไซต์ Deepfake Porn มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิง และจากการศึกษาของบริษัท Deeptrace Labs บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเนเธอร์แลนด์ พบว่า 25% ของเหยื่อเป็นไอดอลหญิงในวงการ K-pop
“รู้สึกเหมือนทุกคนกำลังมองดูร่างกายของคุณ… กลายเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่า ตัวเองถูกมองแบบนั้นโดยคนที่คุณไม่ได้เลือกให้มองคุณแบบนั้น” –แดเนียลล์ ซิตรอน, โครงการริเริ่มด้านสิทธิพลเมืองไซเบอร์ (CYBER CIVIL RIGHTS INITIATIVE)
“It feels like everyone is looking at your body… it becomes difficult to think about yourself being seen in that way by people you didn’t choose to see you that way.” – DANIELLE CITRON, CYBER CIVIL RIGHTS INITIATIVE
ในปี 2021 แฮชแท็ก #Deepfake_StrictPunishment ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้อย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์แอบถ่าย Nancy วง MOMOLAND ตลอดจนการนำเทคโนโลยี Deepfake มาใช้ตัดต่อใบหน้าของไอดอลเกาหลีไปใส่ในวิดีโอหรือรูปภาพลามก 18+ โดยที่พวกเขามิได้ยินยอม ชาวเน็ตเกาหลีใต้จำนวนมากจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลงโทษผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อลามกดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยมีการยื่นคำร้องไปยัง Blue House หรือทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกับภาพลามกอนาจาร ‘ปลอม’ ของไอดอลเกาหลี และผลักดันให้มีการลงโทษที่รุนแรงสำหรับอาชญากรเหล่านั้น ซึ่งมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนกว่า 3.75 แสนคน
เวลาต่อมาเกาหลีใต้ออกกฎหมายใหม่เพื่อพยายามยับยั้งวิดีโอปลอม โดยผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 50 ล้านวอน หรือประมาณ 1,331,785 บาท และหากก่ออาชญากรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โทษจำคุกอาจเพิ่มเป็น 7 ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถยุติปัญหานี้ได้
ความท้าทายของเทคโนโลยีที่ไร้ขอบเขต (จริยธรรม)
แม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายที่กำหนดให้การสร้าง Deepfake เป็นอาชญากรรมในเกาหลีใต้ แต่รัฐบาลยังคงประสบกับความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากหากวิดีโอ K-pop Deepfake Porn ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์จากประเทศอื่น กฎหมายของเกาหลีใต้จะไม่สามารถเอาผิดอาชญากรเหล่านั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งนำเสนอเนื้อหา Deepfake ของ K-pop นั้นใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ทำให้แทบจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้สร้างเว็บไซต์นั้นไม่ได้เลย
ขณะเดียวกัน สำนักงานกำกับดูแลด้านอินเทอร์เน็ตของจีน ระบุว่า รัฐบาลจีนร่างกฎหมายป้องกันปัญหาจาก Deepfake โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2023 ซึ่งมีจุดประสงค์หลักคือ ห้ามใช้อัตลักษณ์บุคคลเผยแพร่ข่าวหรือข้อมูลปลอม ป้องกันการทำลายชื่อเสียงของบุคคล และป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม การร่างกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะมีการใช้เทคโนโลยี Deepfake สร้างปัญหาทางการเมือง จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายนี้มิได้ร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา Deepfake ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร หรือช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ รวมถึงยังไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้ในเวลานี้เช่นกัน
Deepfake Porn = ล่วงละเมิดทางเพศ
ไอดอลเกาหลีจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของสื่อลามกที่ถูกดัดแปลงโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และเป็นการล่วงละเมิดทางเพศรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ต่างอะไรจากการบังคับให้พวกเขาแสดงออกทางเพศโดยที่พวกเขาไม่ยินยอม
แม้ในความจริง พวกเขาจะมิได้ถูกชำเราทางร่างกาย แต่ความเสียหายและบอบช้ำทางจิตใจนั้นเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันลบเลือน
ในขณะที่วัฒนธรรม K-pop Deepfake Porn กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า เหยื่อจากอาชญากรรมไซเบอร์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ปัญหาการคุกคามไอดอลโดยใช้ AI เป็นเครื่องมือจึงไม่ควรถูกมองข้ามอีกต่อไป เพราะปัจจุบัน มิใช่เพียงแค่กลุ่มไอดอลเกาหลีเท่านั้นที่ถูกคุกคาม แต่ผู้มีชื่อเสียงและบุคคลสาธารณะจำนวนมากก็ประสบปัญหา Deepfake เช่นกัน ปัญหานี้จึงนับเป็นปัญหาระดับโลกที่รัฐบาล บริษัทเทคโนโลยี และประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบ Deepfake หรือออกกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง รวมถึงปกป้องและคุ้มครองเหยื่อจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
เพราะไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกคุกคามทางเพศ
บทความโดย จุฬาลักษณ์ เดชะ
ที่มา : i-d.vice, koreaboo, salika, dw, youtube
————————————————————————————————————————-
ที่มา : The momentum / วันที่เผยแพร่ 5 มิ.ย.2566
Link : https://themomentum.co/feature-kpop-deepfake/