ตั้งแต่อิลูมินาติ จนถึง CIA ตั้งฐานทัพในประเทศไทย หรือพระธาตุที่หน้าตาคล้ายซิลิก้าเจล จนถึงการดื่มปัสสาวะรักษาโรค – ข้อมูลข่าวสารมากมายที่แชร์กันผ่านกลุ่มไลน์ อาจยากที่จะแยกว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ยิ่งหากเป็นข้อมูลที่มาจากเพื่อนสนิท หรือคนที่ไว้ใจ ก็อาจทำให้หลายคนหลงเชื่อ โดยไม่คิดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
โดยทั่วไป เรามักพบว่ากลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของ ‘เฟกนิวส์’ โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งหากว่าเฟกนิวส์ต่างๆ มาจากช่องทางที่ผู้สูงอายุติดตามเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวที่โปรดปราน หรือกลุ่มเพื่อนสนิทวัยเก๋าที่ไว้ใจ ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ว่า ปู่ย่าตายายของเราจะเชื่อข้อมูลเหล่านั้น โดยไม่คิดหาเหตุผลโต้แย้ง
มีการศึกษาที่พบว่า ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์ง่ายกว่าช่วงอายุอื่นๆ โดยการศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักแชร์บทความที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ สูงกว่าคนที่อายุระหว่าง 18-29 ปี ถึง 7 เท่า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่าผู้สูงอายุที่มีการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น มักแชร์ข้อมูลต่างๆ ออกไปด้วยความปรารถนาดี แต่ปัญหาคือ ก่อนแชร์ข้อมูลมักไม่ทันได้ตรวจสอบว่า ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด เป็นข้อมูลที่มีความคิดเห็นเจือปน หรือเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวหรือเปล่า
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อผู้สูงอายุหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว อาจยากที่จะยอมรับว่าสิ่งที่ตนเชื่อไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือกระทั่งอาจเข้าข่ายเฟกนิวส์ ซึ่งเมื่อลูกหลานพยายามอธิบาย ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัวได้
เมื่อลูกหลานกับปู่ย่าตายายยึดถือชุดความจริงที่ต่างกัน การสื่อสารเชิงบวกและพยายามเข้าใจความต่างของยุคสมัย จึงอาจช่วยลดความบาดหมางในครอบครัวลงได้
เมื่อความต่างของยุคสมัย ทำให้รับรู้ ‘ข้อเท็จจริง’ ต่างกัน
สำหรับเด็กที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เล็กๆ การรับข้อมูลข่าวสารหลายช่องทาง จึงกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กยุคนี้ โดยยังสามารถค้นหาคำตอบของสิ่งต่างๆ ได้จากหลากหลายแหล่งข้อมูล – เด็กยุคดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital Native จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้เสพสื่อหรือรับสื่อเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและผลิตสื่อผ่านช่องทางต่างๆ ด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับคนยุคพ่อแม่ปู่ย่าตายาย จึงไม่แปลกหาก Digital Native จะไม่เชื่อข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมาโดยง่าย เพราะพวกเขามีทักษะในการค้นหาข้อเท็จจริงออนไลน์ และคุ้นเคยกับการหาข้อมูลด้วยตนเองมากกว่า ขณะที่ผู้สูงวัยเติบโตมาในยุคที่โทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ช่อง ข่าวที่นำเสนอก็ใกล้เคียงกัน และสิ่งที่นำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์ในยุคนั้น ก็เป็น ‘ความจริงเพียงหนึ่งเดียว’ ที่ประชาชนทั่วไปพอจะเข้าถึงได้
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้ใหญ่หลายคนอาจยังคุ้นเคยกับการรับข่าวสารทางเดียว เหมือนกับสมัยที่พวกเขาเติบโตมา อะไรที่ออกข่าวในทีวี นั่นคือความจริงสำหรับพวกเขา ดังนั้น จึงไม่แปลกหากพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อผ่านกลุ่มไลน์อย่างง่ายดาย
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้ใหญ่หลายคนอาจยังคุ้นเคยกับการรับข่าวสารทางเดียว เหมือนกับสมัยที่พวกเขาเติบโตมา อะไรที่ออกข่าวในทีวี นั่นคือความจริงสำหรับพวกเขา ดังนั้น จึงไม่แปลกหากพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อผ่านกลุ่มไลน์อย่างง่ายดาย ยิ่งในโลกออนไลน์ ที่ใครๆ ก็ทำช่องรายงานข่าวให้ดูน่าเชื่อถือได้ ก็อาจทำให้ผู้ที่ไม่เท่าทันสื่อดิจิทัลต กเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์โดยไม่รู้ตัว
ขณะที่ลูกหลานซึ่งเป็น Digital Native ความจริงของพวกเขาอาจไม่ได้มีหนึ่งเดียวเหมือนกับคนเจเนอเรชันก่อนๆ คนหนุ่มสาวรู้ว่าข้อมูลจากแต่ละแหล่งอาจเจือปนด้วยทัศนคติส่วนตัว หรือบางครั้งก็เป็นความจริงเพียงด้านเดียว ซึ่งการนำเสนอข้อมูลลักษณะนี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่คุ้นชิน พวกเขาจึงมักไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรืออย่างน้อยๆ ก็มักต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะปักใจเชื่ออะไร
ความต่างของยุคสมัยนี่เอง จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้คนต่างวัย รับมือกับข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์แตกต่างกัน
เพราะชอบจึงเชื่อ เลยตกเป็นเหยื่อเฟกนิวส์
สำหรับเด็กยุคใหม่ที่วันดีคืนดีปู่ย่าตายายก็ส่งไลน์มาชวนให้พาไปพบปู่ฤาษีรักษาเบาหวานด้วยการดื่มฉี่ อาจทำให้ลูกหลานเกิดอาการ “อิหยังวะ” และเมื่อคัดค้านไป ปู่ย่าตายายก็ย้อนกลับมาว่า “คุณป้าข้างบ้านไปหาปู่ฤาษี ดื่มฉี่ครั้งเดียว กลับมาระดับน้ำตาลเป็นปกติเลย” ซึ่งถึงแม้ลูกหลานจะอธิบายอย่างไร ยกผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ ก็ดูเหมือนปู่ย่าตายายจะไม่ยอมรับฟังเหตุผล ทั้งยังยืนกรานว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” และเมื่อลูกหลานปฏิเสธที่จะพาไป ก็พาลงอน หาว่าลูกหลานหาข้ออ้าง “ไม่อยากพาไป ก็บอกตรงๆ” กลายเป็นว่าลูกหลานไม่ใส่ใจเสียอย่างนั้น
กรณีตัวอย่างนี้ คงเคยเกิดขึ้นกับหลายๆ ครอบครัว ซึ่งก่อนจะบาดหมางกันไปมากกว่านี้ เราอยากชวนลูกหลานมาเข้าใจพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของผู้สูงวัย ว่าเพราะอะไรจึงทำให้พวกท่านเชื่อข่าวในกลุ่มไลน์อย่างหัวปักหัวปำ
ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเครือข่าย ครอบครัว และภาคี ‘สูงวัยรู้ทันสื่อ’ อธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้มีการแชร์ข่าวลวง หรือข้อมูลที่เป็นเฟกนิวส์ซ้ำๆ มาจากการสื่อสารในแอปพลิเคชันที่เป็นระบบปิด เช่น ในกลุ่มไลน์ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบเนื้อหาข่าว หรืออาจไม่มีการตรวจสอบเลย เพราะข้อมูลมักมาจากผู้ที่อาวุโสกว่า มีฐานะทางสังคมสูงกว่า หรืออาจเป็นคนที่สนิทเชื่อใจกัน เมื่อต้องการตรวจสอบข้อมูล หรือถามหาแหล่งที่มาของข่าว ผู้สูงอายุจึงมักรู้สึกเกรงใจผู้ให้ข่าว จนไม่กล้าถามออกไป ทำให้เกิดการแชร์ข่าวลวงต่อไปซ้ำๆ
นอกจากนี้ การมีอคติต่อประเด็นหรือเนื้อหาข่าว ก็ส่งผลต่อความเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูล โดยขาดการตรวจสอบได้ เช่น จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากไม่ชอบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อได้รับข่าวเชิงลบของฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ก็มักแชร์ออกไปทันที เพราะข่าวนั้นตรงกับอคติของตน จึงไม่ได้ตรวจสอบแหล่งข้อมูลใดๆ เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกหลานควรทำความเข้าใจคือ ทักษะความคิดวิเคราะห์และการจดจำของผู้สูงอายุจะค่อยๆ ลงลดตามวัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของระบบการทำงานในร่างกายที่เกิดขึ้นเอง ความทรงจำที่ค่อยๆ เลือนรางตามวัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมักหลงลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่จดจำได้เฉพาะลักษณะเด่น ยิ่งหากว่าลักษณะเด่นนั้นตรงกับความเชื่อของตนเอง ก็ยิ่งจดจำได้ดีเป็นพิเศษ ผนวกกับทักษะคิดวิเคราะห์ที่ทำงานช้าลง เมื่อพบเฟกนิวส์ที่ตรงกับความเชื่อที่ตนเองจดจำได้ (แม้จำได้เพียงบางส่วน) ก็มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะเชื่อข้อมูลนั้นได้โดยง่าย
ยกตัวอย่างเช่น คุณตาอาจจำได้ว่าในวัยเด็กของท่าน แม่ของคุณตาเคยใช้ยาสมุนไพรต้มให้กินเมื่อไม่สบาย ความรู้สึกดีๆ ที่แม่ดูแลใกล้ชิดในครั้งนั้น ทำให้คุณตาจดจำว่าสมุนไพรคือการรักษาที่ดีที่สุด เมื่อกาลเวลาผ่านไป คุณตาจดจำแต่สิ่งที่ประทับใจคือยาสมุนไพรที่แม่ต้มให้กิน แต่หลงลืมว่า สุดท้ายแล้ว คุณตาหายป่วยได้จากการไปพบหมอแผนปัจจุบันต่างหาก ดังนั้น เมื่อไลน์กลุ่มส่งข้อมูลสรรพคุณสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ คุณตาจึงไม่ลังเลที่จะเชื่อ เพราะข้อมูลนั้นตรงกับความชอบส่วนตัวอยู่แล้ว จึงไม่คิดตรวจสอบข้อมูล
Fake หรือ Fact ช่วยผู้สูงอายุแยกแยะอย่างไร
เฟกนิวส์ที่พบเห็นในสื่อออนไลน์ทุกวันนี้ ไม่ได้หมายถึงข้อมูลที่เป็นเท็จทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลที่มีความจริงเพียงส่วนเดียว ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ข้อมูลที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นข้อมูลลวงให้เข้าใจผิดด้วย
Cofact.org นิยามคำว่า เฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม ว่าเป็นคำที่ใช้เรียกข้อมูลลวง หรือข้อมูลที่บิดเบือน เป็นการสร้างข่าวสารเพื่อโน้มน้าว หรือจูงใจคนให้เชื่อในวาทกรรมของผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วทั้งในสังคมโลกและสังคมไทย แต่เฟกนิวส์ที่ใช้ในปัจจุบัน มักหมายถึงข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแส แต่มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง มักถูกแชร์เพื่อสร้างความตื่นตระหนก หรือข้อมูลบางประเภทที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้รับสารเกิดความเชื่ออย่างสุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่ง จนไม่เปิดรับข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่เหมือนๆ กัน จึงเชื่อว่าสิ่งที่ตนคิดถูกต้อง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมได้
การที่ลูกหลานจะช่วยปู่ย่าตายายแยกแยะข่าวลวงออกจากข่าวจริงได้ อาจต้องเริ่มจากชวนให้พวกเขาตระหนักว่า ข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่การกระทำเช่นนี้ ควรระวังที่จะไม่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองผิดพลาดหรือด้อยกว่า และสิ่งหนึ่งที่ลูกหลานควรยอมรับก็คือ ผู้อาวุโสบางราย อาจทำใจไม่ได้ที่ต้องยอมรับว่าตนเองรู้น้อยกว่าลูกหลาน เมื่อเห็นว่าลูกหลานสอนหรือแนะนำ จึงอาจไม่ยอมเปิดใจรับ
การที่ลูกหลานจะช่วยปู่ย่าตายายแยกแยะข่าวลวงออกจากข่าวจริงได้ อาจต้องเริ่มจากชวนให้พวกเขาตระหนักว่า ข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่การกระทำเช่นนี้ ควรระวังที่จะไม่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองผิดพลาดหรือด้อยกว่า
วิธีที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ปู่ย่าตายายเข้าใจว่า ทุกอย่างในโลกออนไลน์นั้นไม่ใช่ความจริง จึงอาจเริ่มจากการยกตัวอย่างประสบการณ์ผิดพลาดของตนเอง หากครอบครัวสนใจการเมือง อาจเริ่มจาก หลานเล่าให้ยายฟังถึงความเข้าใจผิดของตนเอง เช่น ตนเองดูข่าวออนไลน์จากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่บอกว่านโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งทำไม่ได้จริง เป็นนโยบายขายฝัน จึงไม่ชอบพรรคการเมืองนั้น แต่พอคุยกับเพื่อนแล้วไปค้นข้อมูลต่อ ก็พบว่า นโยบายนั้นพรรคลงมือทำแล้ว ทำได้จริง หลานอาจลองชวนให้ยายดูข้อมูลที่ศึกษามาด้วยกัน
หรือในเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น เช่น ลูกสาวอาจคุยกับแม่ว่าตนเองซื้อผงหินภูเขาไฟมาขัดผิวให้ขาวใส ขวดละหลายร้อยบาท แต่ไม่ได้ผล หนำซ้ำยังแพ้จนผื่นขึ้น โดยอธิบายให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายเข้าใจว่า สิ่งที่แนะนำต่อๆ กันมาทางไลน์กลุ่ม ใช่ว่าจะเชื่อได้เสมอไป ขอให้ดูเรื่องของตนเองเป็นตัวอย่าง และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถึงแพงกว่า แต่ก็ไว้ใจได้เรื่องคุณภาพและความปลอดภัย
การเกริ่นนำว่าเราก็ผิดพลาดมาก่อนเหมือนกัน ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับท่าน ใครๆ ก็ผิดพลาดได้ แต่สิ่งสำคัญคือการเปิดใจรับข้อมูลที่ถูกต้องต่างหาก เมื่อเปิดใจปู่ย่าตายายได้แล้ว ลองแนะนำแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น หากจะอ่านข่าวควรอ่านจากเพจไหน อาจยกตัวอย่างแหล่งข่าวที่ไว้ใจได้ 2-3 แหล่ง เพื่อให้ปู่ย่าตายายไว้เช็กข้อมูล นอกจากนี้ ลองชี้ให้เห็นว่าสำนักข่าวบางแห่งอาจนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว โดยอาจแนะนำให้ลองดูข่าวเดียวกันจากหลายๆ สำนักข่าว เพื่อให้เห็นว่าข่าวเดียวกันอาจมีมุมมองที่หลากหลายได้
ในกรณีที่ปู่ย่าตายายเชื่อข้อมูลจากไลน์กลุ่มที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น วิธีการรักษาแปลกๆ หรือชวนเชื่อให้ทดลองซื้อยาบำรุง, ครีมสมุนไพร, ฯลฯ มาใช้ อาจแนะนำให้ผู้สูงอายุลองตรวจสอบกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ อย่างเว็บไซต์ เช็กให้รู้ โดย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ที่ใช้งานง่าย เพียงแค่ก๊อบปี้เนื้อหาข่าวมาแปะ ก็สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง
สื่อสารอย่างไร ให้ผู้สูงวัยยอมรับฟัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้คำพูดของลูกหลานมีน้ำหนักมากขึ้น ในกรณีที่จะช่วยป้องกันปู่ย่าตายายจากเฟกนิวส์ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่สนิทกับปู่ย่าตายายสักเท่าไร หรือเคยสื่อสารแล้ว แต่พวกท่านไม่ยอมรับฟัง วิธีต่อไปนี้อาจช่วยทำให้การสื่อสารเพื่อ Save ปู่ย่าตายายจากเฟกนิวส์ประสบความสำเร็จได้
สนใจมากกว่าสอน : ขึ้นชื่อว่าผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบใจที่จะถูกลูกหลานสอน หรือให้คำแนะนำ การสื่อสารเพื่อให้ผู้สูงอายุยอมรับฟัง จึงควรเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน สนใจสิ่งที่ท่านอธิบายว่าทำไมท่านจึงเชื่อเช่นนั้น แม้ในใจลึกๆ ของลูกหลานจะรู้สึกว่าสิ่งที่ปู่ย่าตายายเชื่อนั้นเป็นเฟกนิวส์ก็ตาม แต่การบุ่มบ่ามสอน หรือให้คำแนะนำทันที อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ากำลังถูกเด็กๆ คุกคาม เพราะฉะนั้น ลองให้ความสนใจความเชื่อของปู่ย่าตายายก่อน ว่าท่านมีเหตุผลอะไรจึงเชื่อเช่นนั้น ยิ่งเราสนใจมาก ฟังมาก ก็จะหาวิธีสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละกรณีได้ดีขึ้น
อย่าทำให้รู้สึกด้อยกว่า : แค่โลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ก็อาจทำให้ผู้สูงอายุขาดความมั่นใจแล้วว่าตนเองเรียนรู้ไม่ทัน และอาจกำลังตกยุค หากลูกหลานยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเหล่านั้นด้วยการทำให้พวกท่านรู้สึกว่าสิ่งที่รู้มาเป็นข้อมูลลวง เป็นเฟกนิวส์ ก็อาจทำให้ปู่ย่าตายายรู้สึกเสียหน้า รู้สึกด้อยกว่า จนไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตนเชื่อนั้นเข้าข่ายเฟกนิวส์ ลูกหลานควรหลีกเลี่ยงคำพูดประมาณว่า “ไม่รู้เรื่องเลย”, “โดนหลอกมาอีกแล้ว”, “รู้ไม่ทันแล้วยังอยากเล่น” ฯลฯ เพราะนอกจากไม่เกิดประโยชน์ ก็จะยิ่งสร้างความบาดหมางระหว่างกัน
แนะนำแทนการตำหนิ : สิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์ส่วนหนึ่งคือขาดความรู้เท่าทัน เมื่อเป็นเช่นนั้น แทนที่จะตำหนิว่าไม่รู้อะไรเลย ลองเปลี่ยนมาให้คำแนะนำ เช่น บอกให้ปู่ย่าตายายตรวจสอบที่มาแหล่งข่าว สอนท่านค้นหาข้อมูลด้วย Google หรือเข้าเว็บไซต์แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2-3 แห่ง ก่อนปักใจเชื่อ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย ควรสอบถามแพทย์หรือผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้าน อย่าเชื่อโดยทันทีเพราะอาจเป็นอันตราย อาจบอกผู้สูงอายุว่า หากสงสัยว่าข้อมูลใดจริงหรือเท็จ ให้ติดต่อเราทันที เราจะช่วยตรวจสอบให้ เมื่อรับปากปู่ย่าตายายแล้ว หากพวกท่านติดต่อมา ควรช่วยตรวจดูด้วยความเข้าใจและเต็มใจ ก็จะช่วยป้องกันพวกท่านจากเฟกนิวส์ได้
ผลร้ายของเฟกนิวส์ ไม่เพียงนำเสนอข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือลวงให้เข้าใจผิดเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างคนต่างวัย เมื่อลูกหลานไม่เข้าใจว่าทำไมผู้สูงวัยจึงเชื่ออะไรง่ายๆ ขณะที่ปู่ย่าตายายก็อาจน้อยใจ ที่ลูกหลานคอยแต่ตำหนิหรือดูแคลนความเชื่อของตน
การ Save พ่อแม่ปู่ย่าตายายจากเฟกนิวส์ จึงไม่ใช่การปิดกั้นไม่ให้พวกท่านเข้าถึงเทคโนโลยี แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่ลูกหลานมีไปสู่ผู้สูงวัย ช่วยให้พวกท่านรู้ทันสื่อดิจิทัล ด้วยการเปิดใจรับฟัง และให้คำแนะนำด้วยความเต็มใจ
เพราะตราบเท่าที่เฟกนิวส์ยังไม่หมดไป ก็คงมีเพียงวิธีนี้เท่านั้น ที่เราจะช่วยป้องกันผู้สูงวัยให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข่าวลวง
บทความโดย สุภาวดี ไชยชลอ
อ้างอิง
เบญริสา ตันเจริญ, 2565/กรกฎาคม-ธันวาคม, ผู้สูงวัยกับการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ.,วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ปีที่ 11(ฉบับที่ 2),103
————————————————————————————————————————-
ที่มา : thairath / วันที่เผยแพร่ 5 มิ.ย. 2566
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/103278