สน.รอตรวจ โดย บิ๊กสลีป ว่าด้วยเรื่อง ความน่ากลัวของเครื่อง ‘False Base Station’ หรือเครื่องจําลองสถานีฐาน ที่แก๊งมิจฉาชีพนำมาใช้หลอกเหยื่อ แค่พลาดคลิกลิ้งก์แค่ครั้งเดียวเงินของเราก็เกลี้ยงทั้งบัญชี
เรื่องราวที่น่าหวั่นวิตกนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากมีผู้เสียหาย ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นธนาคารกสิกรไทย หลอกดูดเงินผู้เสียหาย ซึ่งขบวนการดังกล่าว กําลังแพร่ระบาดอย่างมาก ค่าความเสียหายรวมกว่า 175 ล้านบาท
โดยคนร้ายจะนําเครื่องจําลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากรถแล่นผ่านไปทางใด ก็จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า
ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวถูกใช้ที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านและส่งสัญญาณในประเทศไทย ทำให้ไทยใช้มาตรการควบคุมสัญญาณให้อยู่ในรัศมีวงจำกัด มิจฉาชีพจึงต้องนำเข้าเครื่องนี้เข้ามาในประเทศโดยตรงแทน หากใครหลงเชื่อและกดลิงก์ก็จะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล สามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking
ล่าสุดตำรวจสามารถจับกุมตัว นายสุขสันต์ อายุ 40 ปี กับพวกรวม 6 คน ขณะที่รถกําลังแล่นออกไปเพื่อส่งสัญญาณ ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจําลองสถานีฐานได้ 4 คัน พร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด ผู้ต้องหาสารภาพว่า ถูกว่าจ้างจากคนรู้จักที่ทํางานอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้ค่าจ้างสําหรับการวิ่งส่งสัญญาณเดือนละ 80,000 บาท
เจ้าเครื่องนี้นั้นสามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์ที่อยู่ใกล้เคียงได้วันละ 20,000 หมายเลขต่อเครื่อง ผู้ต้องหาไม่มีความรู้เชิงลึกในการใช้อุปกรณ์ มีหน้าที่เพียงกดเปิดเชื่อมต่อสัญญาณ ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่เป็นการใช้วิธีดักสัญญาณจากเสาจริง
อุปกรณ์ “stingray” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลอมเสาสัญญาณและส่ง sms ให้กับผู้เสียหาย ปกติจะถูกใช้กรณีเกิดภัยพิบัติที่สัญญาณมือถือไม่สามารถใช้การได้ เป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้ประสบภัย หรือใช้ในหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาในการดักรับข้อมูล เนื่องจากเป็นเสาสัญญาณที่มีขนาดเล็กสามารถหลอกให้มือถือในพื้นที่มาเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณดังกล่าวได้
มันสามารถตั้งค่าชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ตอนนี้อุปกรณ์ชนิดดังกล่าวเข้ามาในไทยจำนวนมาก และยังพบว่าถูกใช้ในการส่งลิงก์เว็บไซต์พนันออนไลน์อีกต่างหากด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุมีอยู่ 4 ส่วน ที่นำมาประกอบเป็น 1 ชุดคือ 1.แบตเตอรี่ 2.แล็ปท็อปที่มีการลงโปรแกรมอยู่ 3.เสาสัญญาณ และ 4.Stingray หรือปลากระเบน เมื่อนำทั้ง 4 ส่วนมาประกอบกันก็จะเป็นตัวเสาสัญญาณขนาดเล็กเสมือนเสาสัญญาณมือถือ ซึ่งโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณเสาสัญญาณนี้จะถูกดักสัญญาณผ่านตัวเครื่องเพื่อดักส่งข้อมูล SMS
เมื่อเครื่องนี้ทำงานโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือต่าง ๆ จะไม่ทราบว่ามีการส่ง SMS ไปยังลูกค้า เนื่องจาก SMS ถูกส่งจากเสาปลอมของคนร้ายโดยตรง ซึ่งคนร้ายจะนำอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณไปยังแหล่งชุมชน เพื่อทำการส่ง SMS โดยการปลอมชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะหลอกติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน
อุปกรณ์ที่น่ากลัวนี้มีกฎหมายห้ามนำเข้า บุคคลทั่วไปไม่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทำ ทางเครือข่ายจะไม่ทราบว่ามีการส่ง SMS ออก เนื่องจาก SMS เหล่านี้ ไม่ได้ผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายโดยตรง แต่เป็นการส่งออกจากเสาปลอม ส่วนราคาของเครื่องนี้นั้นอยู่ที่หลักล้านต่อเครื่อง
มีเหยื่อสาวบอกเล่าว่า ขณะนั่งทำงานอยู่ได้มี SMS ส่งมาหาระบุว่า “บัญชีของคุณกำลังมีผู้พยายามทำธุรกรรม” ซึ่งก็มีการแนบลิ้งก์มาใน SMS จึงพลาดกดไปที่ลิงก์ดังกล่าว และระบบได้ระบุให้เพิ่มเพื่อนผ่านไลน์ และเปลี่ยนชื่อลิงก์เป็น K Connect จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ทักมาสอบถามชื่อ และข้อมูลการใช้งานว่าทำธุรกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่
เหยื่อได้ปฏิเสธและระบุว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นมิจฉาชีพได้แจ้งข้อมูลว่ามีผู้พยายามทำธุรกรรมกับบัญชีของเหยื่อผ่านอีเมล ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่แจ้งถูกต้องทั้งหมด รวมทั้งยังทราบด้วยว่าเหยื่อมีบัญชีเงินฝากทั้งหมด 4 บัญชี
จากนั้นคนร้ายยังให้กดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “เค ซีเคียวริตี้” ที่ระบุว่า แอปฯ นี้จะสามารถตรวจสอบต้นตอได้ว่าบุคคลใดกำลังเข้าระบบบัญชีของเหยื่ออยู่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วการกดเข้าไปคือการรีโมทให้คนร้าย และหลังจากนั้นจะไม่สามารถทำอะไรกับโทรศัพท์ได้ ลักษณะคล้ายโทรศัพท์กำลังอัปเดตอยู่โดยขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์
เมื่อโทรศัพท์อัปเดตเสร็จสิ้นก็พบว่าเงินได้ถูกโอนออกไปแล้วจากทั้งหมด 4 บัญชี ราว 3 แสนกว่าบาท และจากบัญชีบัตรเครดิตที่มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ และเข้าไปเปลี่ยนวงเงินเป็นเงินสดอีกราว 8 หมื่นบาท รวมทั้งหมดเสียหายรวมกว่า 4 แสนบาท รวมเวลาในการหลอกทำธุรกรรมอยู่ที่ 30 – 35 นาที
เห็นความน่ากลัวของแก๊งมิจฉาชีพในตอนนี้แล้วหรือยัง พวกมันมีเครื่องไม้ดครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งใช้วิธีการที่แยบยลจนประชาชนทั่วไปตามไม่ทัน แม้จะระวังตัวแค่ไหนก็ตกเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 พ.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2356774/