ความไม่สมดุลระหว่างการใช้ชีวิตในทั้ง 2 โลกก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันเคยชินกับการใช้ชีวิตคู่ขนานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง และชีวิตในโลกดิจิทัลสลับกันไปมาอย่างคุ้นเคย ไม่ว่าจะใช้ชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงานในโลกจริงมาทั้งวันแต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลก็ทำได้อย่างไร้รอยต่อ
เพราะเราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นในการใช้งานในด้านธุรกิจและสถาบันการศึกษา เมื่อมาถึงยุคโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบันไปแล้ว
แต่ความไม่สมดุลระหว่างการใช้ชีวิตในทั้ง 2 โลกยังมีให้เราเห็นและก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงในการใช้งานโดยเฉพาะด้านการดูแลสินทรัพย์ส่วนบุคคลที่ในโลกแห่งความเป็นจริงเรามักจะเข้มงวดมาก
ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากที่ต้องคิดให้ดีว่าจะไว้วางใจธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใด เพราะปัจจุบันมีการคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น การคำนึงถึงความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของสถาบันการเงินที่เราจะเอาเงินไปฝากไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
นอกเหนือจากนั้นก็ยังต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงด้วยการถือครองสินทรัพย์ประเภทอื่นเพิ่มเติม รวมไปถึงของมีค่าอื่นๆ ที่ต้องคิดถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก การเก็บรักษาจึงมักกระจายทั้งเก็บไว้ที่บ้าน ที่ทำงาน รวมไปถึงบ้านพ่อแม่ ฯลฯ
หรือไม่ก็เก็บไว้ในตู้เซฟที่สถาบันการเงินต่างๆ มีไว้ให้บริการซึ่งก็จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเช่นกันว่าจะไว้วางใจธนาคารหรือบริษัทอื่นใด จะเลือกใช้บริการที่สาขาไหนระหว่างสำนักงานใหญ่หรือสาขาย่อยที่ใกล้บ้าน
เราจะเห็นความเข้มงวดในการใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงที่สวนทางกับโลกดิจิทัลโดยสิ้นเชิง เพราะสำหรับคนทั่วไปแล้วมักจะมีความตระหนักในการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลที่ต่ำกว่าโลกแห่งความเป็นจริงมาก
อาจเป็นเพราะเราเห็นแก่ความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานจนมองข้ามความปลอดภัยจนทำให้เราขาดสมดุลในการใช้งานระหว่างโลกทั้งสองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วระบบการจัดการสินทรัพย์ในโลกดิจิทัลนั้นมีความซับซ้อนสูงมาก แต่เรากลับมองข้ามไปและสนใจแต่ความสะดวกที่ตัวเองจะได้รับเท่านั้น
ที่สุดแล้วเราจึงมักจะให้ข้อมูลและสิทธิในการเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของเรากับระบบดิจิทัลมากเกินความจำเป็น จนหลายแพลตฟอร์มที่ให้บริการออนไลน์แก่เราอยู่ในทุกวันนี้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมหาศาล และเมื่อบริหารจัดการไม่เหมาะสมก็อาจมีข้อมูลหลุดรั่วออกมาตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ
ซึ่งข้อมูลที่ถูกจัดเก็บเหล่านี้มีทั้งข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ไปจนถึงข้อมูลเชิงพฤติกรรมซึ่งก็คือรอยเท้าดิจิทัลที่เก็บบันทึกไว้อย่างละเอียดว่าเราเข้าไปที่เว็บใด สนใจเนื้อหาแบบไหน ชอบดูสินค้าและบริการอะไร รวมถึงประวัติการสั่งซื้อที่ผ่านๆ มา
ซึ่งเราเคยกดปุ่ม “ยอมรับ” ข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ จากเจ้าของแพลตฟอร์มเพราะเชื่อว่าจะได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยคาดหวังว่าเมื่อระบบได้ข้อมูลจากเราไปแล้วจะทำให้รู้จักตัวตนของเราได้ดีขึ้น จำหมายเลขบัตรเครดิตได้ ก็จะทำให้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
แต่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากข้อมูลหลุดรั่วออกไป จนกลายเป็นข่าวความสูญเสียที่เกิดจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมไปถึงการหลอกลวงจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ซึ่งก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่ตระหนักในความปลอดภัยในโลกดิจิทัลเช่นเดียวกัน
การสร้างสมดุลระหว่างโลกดิจิทัลให้ใกล้เคียงโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ เพราะการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลจะยิ่งทำให้สินค้าและบริการใหม่ ๆ อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น หากผู้ใช้ส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะบานปลายต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
บทความโดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
————————————————————————————————————————-
ที่มา : bangkokbiz / วันที่เผยแพร่ 13 มิ.ย.2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1073140