เปิดสเปก “บิ๊กดาต้า” มูลค่ากว่า 10 ล้าน เน้นระบบ AI พัฒนาภารกิจนายกรัฐมนตรี ด้านการต่างประเทศ “สำนักนายกฯ” จัดงบฯ ออกแบบรองรับรัฐบาลใหม่ ใช้ทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ ภารกิจเยือน-เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ-ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง-หารือข้อราชการเต็มคณะ รวมถึงจัดทำข้อมูลประกอบการสนทนากับประมุขและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ
วันนี้ (22 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เผยแพร่ ประกาศประกวดราคาจ้างจัดทำ “ฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” ภารกิจนายกรัฐมนตรี ด้านการต่างประเทศ” จำนวน 1 ระบบ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
พบว่า เป็นโครงการของ กองการต่างประเทศ สลน. กำหนดราคากลาง วงเงิน 9,232,634 บาท จากงบประมาณ ปี 2566 ที่ได้รับจัดสรร 9,849,700 บาท เพื่อว่าจ้างคณะทำงานเพื่อออกแบบและพัฒนา “บิ๊กดาต้า” ในระยะเวลา 300 วัน
ตามร่างขอบเขตของงาน หรือ ทีโออาร์ บรรยายไว้ว่า ระบบนี้จะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล “ด้านการต่างประเทศ” ที่สำคัญ และเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
โดยจะอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการเอกสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
“เพื่อนำมาประมวลผลการวิเคราะห์ และจัดทำรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร เพื่อสนับสมุนการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
ข้อมูลทั้งหมด จะเป็นภารกิจในการปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศของ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และข้าราชการการเมือง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ประกอบด้วย รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ การเยือนต่างประเทศ และการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ การต้อนรับการเยือนประเทศไทยของแขกต่างประเทศ
การจัดทำข้อมูลประกอบการสนทนากับประมุขและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ
รวมทั้งติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการตามผลการเจรจากับต่างประเทศหรือข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
สลน. ระบุว่า ระบบนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
มีการกำหนดสเปค ว่าด้วยการออกแบบและพัฒนา เช่น ระบบสารสนเทศฐาน ระบบติดตามความคืบหน้า/ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระบบบริหารจัดการเอกสาร จัดหาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สนับสนุนการทำงานระบบ
สำหรับ “บิ๊กดาต้า” ที่สำคัญ เช่น การจัดการข้อมูลหลัก (master data) ของระบบ สามารถบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ เช่น
ผู้นำต่างประเทศ ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ อนุภูมิภาค ภูมิภาค กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หน่วยงานระดับกระทรวง หน่วยงานระดับกรม ทั้งชื่อเต็มและตัวย่อ หรือข้อมูลอื่นๆ เป็นต้น
โดยจะถูกบันทึกลงฐานข้อมูลของระบบ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลย้อนหลัง และประวัติการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต
สามารถบริหารจัดการฐานข้อมูลรายชื่อหน่วยงานภายใน สลน. ได้ พร้อมทั้ง เก็บข้อมูลย้อนหลังและประวัติการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต
รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเปิด (open data) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยดึงข้อมูลในรูปแบบ API (Application Programming Interface)
นอกจากนั้น ยังจะรวบรวมข้อมูลงานด้านการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ตามหมวดหมู่ ได้แก่ งานการเยือนต่างประเทศและการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ
งานการประชุมระหว่างประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกล/การหารือทวิภาคีผ่านทางโทรศัพท์ งานการต้อนรับการเยือนไทยของบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ งานการเข้าเยี่ยมคารวะของแขกต่างประเทศ
งานวิเคราะห์/รายงานสถานการณ์ระหว่างประเทศ งานสาร/หนังสือโต้ตอบภาษาต่างประเทศ งานสุนทรพจน์และคำกล่าวในโอกาสต่างๆ งานแผนการเยือนต่างประเทศ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และข้อมูลคณะรัฐมนตรี เป็นต้น.
ในขณะที่การรับรองงานเอกสาร สเปกของระบบ จะสามารถแนะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: Al) ที่สามารถจำแนกเอกสารให้เป็นนหมวดหมู่
เช่น กรณีการหารือข้อราชการเต็มคณะ – การเยือนไทย อย่างเนินทางการในฐานะแขกของรัฐบาล – Official Visit /การค้า – กระทรวงพาณิชย์
“และเรื่องที่ปรากฏคำที่มี ความหมายเหมือนกัน (Synonym Suggestions) เช่น APEC – เอเปก – การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก / องค์การสหประชาชาติ – UN – United Nations โดยสามารถแนะนำข้อมูลตามรูปแบบ เป็นอย่างน้อย”
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 22 มิ.ย.66
Link : https://mgronline.com/politics/detail/9660000056934