ผลศึกษา พบ คนรุ่นใหม่เสพสื่อ-เชื่อข่าวบนโซเชียลมากกว่าเว็บสำนักข่าว เพราะพวกเขารู้สึกว่า รูปแบบเว็บไซต์เป็นของโบราณและยากจะเข้าถึง
สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (The Reuters Institute for the Study of Journalism) เผยแพร่ผลการศึกษาภูมิทัศน์สื่อดิจิทัลประจำปี 2023 จากการสำรวจความคิดเห็นกว่า 93,000 ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั่วโลก
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ช่องทางในการรับข่าวสารและติดตามสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลดลงจากสื่อรูปแบบเก่าอย่าง หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และ สื่อใหม่ ในรูปแบบเก่า อย่างเว็บไซต์ ก็ลดลงเช่นเดียวกัน
สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ กล่าวในรายงานว่า TikTok เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่เติบโตเร็วที่สุด โดย 20% ของเด็กอายุ 18-24 ปี ทั่วโลก ใช้สำหรับรับข่าวข่าว เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชม ที่ให้ความสนใจกับคนดัง ผู้มีอิทธิพล และคนในโซเชียลมีเดีย มากกว่านักข่าว บนแพลตฟอร์ม อย่าง TikTok, Instagram และ Snapchat
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปรับข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คือ ความน่าเชื่อถือของผู้สร้างคอนเทนต์ หรือ คนเล่าข่าวในสื่อสังคมออนไลน์
“ปกติสำนักข่าวใหญ่ ๆ จะมีกระบวนการในการกรองและตรวจสอบข่าว แต่หากเทียบกับข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้มาจากนักข่าว อาจมีหรือไม่มีการกรองข่าว จึงส่งผลให้มีโอกาสที่ข่าวจะถึงบิดเบือนหรือผิดเพี้ยนไปมากกว่าปกติ” ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ระบุ
คนเชื่อข่าวใน Tiktok ไม่ใช่จุดจบของนักข่าว แต่คือ จุดเริ่มต้นใหม่ ๆ
ดร.มานะ มองว่า การที่ผู้ใช้ต่างสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับข่าว ที่ตนเองสนใจและมีผู้ชมจำนวนมากจนเกิดเป็นเทรนด์ ไม่ได้ทำให้นักข่าวตกงาน แต่มันคือ ช่องทางที่นักข่าวสามารถขยายประเด็นจากเรื่องที่คนในพื้นที่ทำแบะต่อยอดไปสู่การรายงานข่าวเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมได้
เมื่อคนดูอยู่ใน Tiktok สำนักข่าวก็ต้องปรับตัวตาม
ดร.มานะ ระบุว่า ปัจจุบันเราเห็น สำนักข่าวหลาย ๆ สำนักก็เริ่มปรับรูปแบบการนำเสนอมาสู่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่าง Spring News ก็มี ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของสำนักข่าวเรื่องความน่าเชื่อถือ มาประกอบกับรูปแบบของสื่อที่เปลี่ยนไป
หากย้อนมองกลับไปในอดีต การที่ผู้คนเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับข่าวสาร ก็อาจมองได้กับการที่คนรุ่นอายุ 50-70 ปี หาข้อมูลจากห้องสมุด , หนังสือพิมพ์ ในช่วงที่ตนเองเป้นวัยรุ่น ส่วนคนรุ่น 30-50 ปี เริ่มค้นหาจาก Google , เว็บบอร์ด , ช่องทางออนไลน์ และ คนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 18-28 ปี พบว่าเริ่มค้นหาข้อมูลจาก Tiktok เป็นต้น
ถ้าย้อนไปดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2563-2565 พบว่า ผู้ใช้เด็กและวัยรุ่น มีการค้นหาสิ่งที่สนใจใน TikTok มากกว่า YouTube ไปเรียบร้อยแล้ว และสถิติได้เผยว่าเด็กและวัยรุ่นใช้เวลาเฉลี่ย 91 นาทีต่อวันบนแอปฯ TikTok เทียบกับ YouTube ที่เฉลี่ย 56 นาทีต่อวัน
แปลว่า คนรุ่นใหม่ ต้อง รู้ทันสื่อมากขึ้น กรองข่าวให้เป็น
ดร.มานะ ให้ความเห็นไว้ สำหรับประชาชนที่รับสื่อผ่าน Tiktok ก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและกรองข่าวให้มากขึ้น เพราะเมื่อใคร ๆ สามารถทำคลิปเกี่ยวกับข่าวได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะเจอคลิปข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน
————————————————————————————————————————-
ที่มา : SpringNews / วันที่เผยแพร่ 15 มิ.ย.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/839989