“สนามบินดอนเมือง” ถึงเวลายกเครื่องใหม่รื้อระบบความปลอดภัย จ่อเปลี่ยนทางเลื่อนบริการผู้โดยสารทั้งหมด 20 จุด หลังใช้งานมานานกว่า 27 ปี เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก ย้ำต้องลงทุนเทคโนโลยีความปลอดภัยสูง หวังฟื้นความเชื่อมั่น
อุบัติเหตุจากทางเลื่อนภายในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ย้อนหลังไปเมื่อปี 2562 ผู้โดยสารเคยประสบอุบัติเหตุรองเท้าติดอยู่กับทางเลื่อน บริเวณเส้นทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ แต่นับว่าโชคดีที่ผู้โดยสารคนดังกล่าวได้ดึงเท้าออกจากรองเท้าและไม่ได้รับบาดเจ็บ
โดยจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทางท่าอากาศยานดอนเมืองออกมาวางมาตรการเข้มงวดในการป้องกันเหตุเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของอุปกรณ์ทางเลื่อน 8 รอบต่อวัน เพื่อเฝ้าระวังหรือตรวจสอบความผิดปกติของอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติม ประกอบด้วย
1. เพิ่มความละเอียดถี่ถ้วนในการตรวจสอบอุปกรณ์ตามวงรอบในแต่ละวัน หากพบว่าหวีบันไดเลื่อนและทางเลื่อน หรืออุปกรณ์ใดชำรุดเสียหายมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ผลิตกำหนดจะดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดโดยทันที รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษาให้มากกว่าแผนงาน (preventive maintenance)
2. จัดหาอะไหล่สำรองที่ชำรุดบ่อยให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงรักษาประจำปี
3. จัดทำป้ายสติ๊กเกอร์คำเตือนการใช้งานให้คลอบคลุมทุกหัวข้อตามคำแนะนำของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และติดตั้งในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการยกระดับตรวสอบการทำงานของอุปกรณ์ทางเลื่อนมากถึง 8 รอบต่อวัน แต่ท้ายที่สุดยังคงเกิดเหตุซ้ำ และส่งผลให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บรุนแรง อีกทั้งปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวอย่างแน่ชัด ทำได้เพียงปิดให้บริการทางเลื่อน ซึ่งส่งผลต่อความสะดวกสบายของผู้โดยสารที่เข้าใช้ท่าอากาศยานต้องเผื่อเวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
การันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ออกมาระบุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า จากกรณีอุบัติเหตุเท้าผู้โดยสารเพศหญิงติดทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4 – Pier 5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ จนผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและบริการผู้โดยสาร โดยเตรียมเร่งของบประมาณปี 2567 ไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ทางเลื่อนก่อนแผนเดิมที่กำหนดเปลี่ยนในปี 2568
โดยยอมรับว่าอุปกรณ์ทางเลื่อนดังกล่าวถูกติดตั้งและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539 มีระยะเวลาใช้งานมากว่า 27 ปี แต่ที่ผ่านมาได้รับคำยืนยันจากทางบริษัทฮิตาชิถึงความปลอดภัยจากอุปกรณ์ว่ามีความปลอดภัยยังใช้งานได้ หากบำรุงรักษาตามระยะรอบ และเปลี่ยนอะไหล่บางส่วนจะสามารถใช้งานได้ตลอด และยังคงปลอดภัยดี ซึ่งที่ผ่านมา ทดม.ตรวจสอบบำรุงรักษาตามกำหนดเสมอ โดยล่าสุดอุปกรณ์ทางเลื่อนได้รับการตรวจสอบไปเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ท่าอากาศยานดอนเมืองยอมรับว่าอุปกรณ์ทางเลื่อนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นเทคโนโลยีเก่าหากเทียบกับทางเลื่อนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งระบบความปลอดภัยอัตโนมัติ เซ็นเซอร์บริเวณซี่หวีของทางเลื่อนในเทคโนโลยีเก่าเป็นการเช็คความตึงของโซ่ ส่วนแบบใหม่จะมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์บริเวณใต้ซี่หวี ระบบความปลอดภัยอัตโนมัติจะทำงานได้ไวกว่า ดังนั้นหากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารได้มากขึ้น
อีกทั้งปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีแผนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทางเลื่อนภายในท่าอากาศยานอยู่แล้ว ซึ่งจะเสนอขอใช้งบประมาณในปี 2568 และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเสนอของบประมาณเร่งด่วนเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทางเลื่อนก่อนกำหนด โดยจะเร่งเปลี่ยนภายในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้จะเพิ่มความปลอดภัย และความมั่นใจแก่ผู้โดยสาร จะเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจสอบอุปกรณ์ให้มากขึ้น
————————————————————————————————————————-
ที่มา : bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 1 ก.ค. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1076258