แนวคิดที่เรียกว่า “การทูตเครื่องบินทิ้งระเบิด” ซึ่งสหรัฐใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ บี-52 กับ บี-1 ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ พร้อมกับส่งข้อความเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการป้องปราม ไปยังจีนและเกาหลีเหนือ หรือรัสเซีย ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของสหรัฐ
แม้การป้องปราม หรือการสร้างความมั่นใจ จะทำได้โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด แต่ดูเหมือนตอนนี้ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีพลังงานนิวเคลียร์ (เอสเอสบีเอ็น) กำลังเข้าสู่ภารกิจเดียวกัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “การทูตเรือดำน้ำ”
เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐกับเกาหลีใต้ร่วมลงนามในเอกสารฉบับใหม่ที่เรียกว่า “ปฏิญญาวอชิงตัน” ซึ่งสหรัฐให้คำมั่นที่จะยกระดับการมองเห็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีให้มากขึ้น ตลอดจนขยายและกระชับความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการตัดสินใจก่อตั้งหน่วยงานใหม่ระหว่างสองประเทศตามปฏิญญาวอชิงตัน ซึ่งเรียกว่า “กลไกความร่วมมือที่ปรึกษานิวเคลียร์” (เอ็นซีจี) แนวคิดของการส่งเอสเอสบีเอ็นไปเทียบท่าในเกาหลีใต้ ถูกมองว่าเป็นมาตรการสร้างความมั่นใจใหม่ที่รัฐบาลโซลได้รับจากสหรัฐ โดยแลกกับการที่เกาหลีใต้ต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นพีที)
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากมันเคยปรากฏในรายงาน การทบทวนสถานการณ์นิวเคลียร์ (เอ็นพีอาร์) เมื่อเดือน ต.ค. 2565 ว่าสหรัฐจะทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อหาโอกาสในการเพิ่มการมองเห็นของทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจอันแน่วแน่ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การเทียบท่าของเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี และการปฏิบัติภารกิจของเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์
ทั้งนี้ เอสเอสบีเอ็นจอดเทียบท่าเรือ มันไม่สามารถบรรลุภารกิจการป้องปรามได้ นั่นหมายความว่า การเข้าเทียบท่าอาจทำลายการป้องปรามของสหรัฐในแง่การทหาร ขณะที่แม้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ไม่สามารถปฏิบัติการขณะอยู่บนพื้นเช่นกัน แต่มันก็ไม่สามารถบินกลางอากาศได้ตลอดเวลา ทว่าเรือดำน้ำสามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานาน
ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ไม่บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์สำหรับการเคลื่อนที่เร็ว แต่เชื่อกันว่า เอสเอสบีเอ็นสามารถบรรทุกขีปนาวุธนำวิถีที่ติดตั้งนิวเคลียร์ได้ แม้จะเป็นช่วงปลอดสงครามก็ตาม
เมื่อการทูตเรือดำน้ำกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ รัฐบาลวอชิงตันจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า การจอดเทียบท่าเรือของเอสเอสบีเอ็น มีไว้เพื่อบรรลุความสำเร็จ เมื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียจากการเปรียบเทียบกับเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ มิฉะนั้น การทูตเรือดำน้ำจะยังคงเป็นเพียงสัญลักษณ์ และสหรัฐอาจสูญเสียทรัพย์สินทางทางยุทธศาสตร์อันมีค่าในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ตราบใดที่ชาวเกาหลีใต้พอใจกับการจอดเทียบท่าเรือของเอสเอสบีเอ็น วัตถุประสงค์ของการสร้างความมั่นใจนั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งหมายความว่า ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่มีมาอย่างยาวนาน ระหว่างการป้องปรามกับการสร้างความมั่นใจ ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
บทความโดย เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ AFP
————————————————————————————————————————-
ที่มา : dailynews / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2494075/