GISTDA เตือนเอกชนเร่งหาทางป้องกัน “พายุสุริยะ” ที่เกิดขึ้นทุก 11 ปี คาดรอบนี้ค่อนข้างรุนแรงพร้อมยันเน็ตล่มแน่ หากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนสัญญาณหนักจนโรงไฟฟ้าระเบิด
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA (จิสด้า) กล่าวในรายการสปริง ดิจิทัลไลฟ์ อัปเดต ที่จะออกอากาศในวันที่ 6 ก.ค.66 นี้ ว่า จากข้อมูลที่นาซาแจ้งเตือนมานั้น หากย้อนกลับไปดูข้อมูลที่ให้มาพบว่า ปัญหาพายุสุริยะนี้ จะวนมาเกิดขึ้นทุก 11 ปี ในรูปแบบลมสุริยะและจะเกิดซ้ำอีก
ทั้งนี้ ลมสุริยะ จะเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กอย่างรวดเร็วกลายเป็นพายุสนามแม่เหล็ก ส่งผลกระทบให้ระบบการสื่อสาร คลื่นความถี่สูงและต่ำหาย ไม่สามารถใช้งานเครือข่ายและไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
ส่งผลกระทบต่อดาวเทียมสื่อสาร ทำให้โทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ แต่อาจไม่ถึงขั้นส่งผลให้ตัวเครื่องระเบิด แต่ถ้าเป็นกรณีที่ร้ายแรงแบบสุด ๆ คือเกิด พายุแม่เหล็กโลก หรือ Geomagnetic strom ที่จะรุนแรงจนเกิดกระแสเหนี่ยวนำ ทำให้โรงงานไฟฟ้าระเบิดได้
หากถามว่าปัญหานี้น่ากลัวไหม ต้องบอกว่า ต้องเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมยิ่งมีความเสี่ยงด้านผลกระทบกับผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดาวเทียมสื่อสารที่คาดการณ์ว่าอาจจะใช้งานไม่ได้หากเจอพายุสุริยะนั้น เป็นเพราะดาวเทียมคือด่านแรกที่จะเจอพายุก่อน ต่อมาคือ ชั้นบรรยากาศก็จะเชื่อมโยงกับพายุสนามแม่เหล็กโลก ทำให้ระบบการสื่อสารมีปัญหาและใช้งานไม่ได้ในทันที ยิ่งถ้าเป็นระบบ GPS ที่ทำงานร่วมกับดาวเทียมนั้น ย่อมมีปัญหาได้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เป็นระบบ Smart ใช้งานไม่ได้ในทันที
อย่างไรก็ตาม ที่หลายสื่อคาดเดาว่าอินเทอร์เน็ตจะล่มหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากโรงไฟฟ้าที่ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้น ใช้งานไม่ได้ เซิร์ฟเวอร์ก็อาจจะพังและล่มจากการใช้ไฟเกินจนช็อตและเกิดไฟไหม้ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคธุรกิจและประชาชนควรวางแผนให้ดีคือ เตรียมแผนรับมือ คอยติดตามศึกษาปัญหาและข้อมูลต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ทาง GISTDA เอง กำลังพัฒนาระบบพัฒนาระบบพยากรณ์อวกาศ เพื่อใช้ในการคำนวณปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นบนอวกาศเป็นของตนเอง เพราะตอนนี้เราพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากเกินไป หากเกิดปัญหาในต่างประเทศ ก็อาจส่งผลกระทบถึงไทยไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนและภาคธุรกิจต้องตื่นตระหนก แต่อยากให้ตื่นตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงที่รุนแรงจากเหตุต่าง ๆ ในอนาคตได้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : springnews / วันที่เผยแพร่ 4 ก.ค.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/840701