เลขาฯ สมช. หนักใจปัญหาก่อการร้าย พบรูปแบบก่อเหตุโดยลำพังมากขึ้น จากแนวคิดสุดโต่ง เร่งป้องกันเส้นทางฟอกเงินอุดหนุน ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมมือผลักดันกฎหมายที่เหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายติดที่สภา ชี้การเมืองเป็นจุดเปราะบาง
พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) ไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ชื่องาน “เมื่อโลกปรับ และภัยเปลี่ยน: ร่วมเดินหน้า 17 นโยบาย มุ่งสู่ประเทศไทยมั่นคงอย่างยั่งยืน” มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการรับรู้และส่งเสริมความเข้าใจนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข
เลขาธิการ สมช. ได้กล่าวบรรยายถึงสถานการณ์ความมั่นคง ว่า ความมั่นคงแบบองค์รวมที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำงานตั้งแต่การกำหนดนโยบาย แผนงานต่างๆ ปัจจุบันเป็นช่วงการถ่ายทอดแผน เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนอยู่ดีมีสุข การขับเคลื่อนงานต่อไป ต้องอยู่ในบริบทความมั่นคงของโลก ถือเป็นความท้าทาย
ส่วนเรื่องก่อการร้าย เป็นเรื่องสำคัญที่ทิ้งไม่ได้ สมช.ก็หนักใจ หลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็หนักใจ เราจะพบรูปแบบการก่อเหตุที่หลากหลายมากขึ้น เป็นที่น่ากังวลที่พบคือ การปฏิบัติการโดยลำพังมากขึ้น และไปเชื่อมกับลักษณะของแรงจูงใจในการก่อเหตุ ด้วยแนวคิดสุดโต่ง นิยมความรุนแรง เพราะฉะนั้นตนมีความกังวล ก็อยากถ่ายทอดว่า ถ้าในบ้านเราถ้าไม่ช่วยกันลดกระแสความรุนแรง อาจจะเชื่อมโยงเกิดเหตุร้ายขึ้นได้ และมีผลกระทบที่กว้างขวาง ซึ่งเราพยายามป้องกันเส้นทางการฟอกเงินที่อุดหนุน และโยงไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัญหานี้ยังทำไม่สำเร็จ ในเรื่องของกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการ เพราะตนจะเกษียณอายุราชการแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน คิดหาวิธีทำอย่างไรให้มีกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งเราพยายามทำกันมาเยอะแล้ว แต่ติดอยู่ที่สภา แต่ถ้ามีการปรับแต่งและทำอย่างตรงไปตรงมา เป็นที่ยอมรับและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่กลั่นแกล้งใคร เอาไว้ใช้แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วยความจำเป็น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเทศมหาอำนาจ พยายามเข้ามาร่วมมือ ตนไม่อยากใช้คำว่า แทรกแซง เพราะอป็นธรรมชาติ เราต้องป้องกันเสถียรภาพตนเองให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด เช่น กรณีทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขง อะไรทที่เป็นประเด็นเงื่อนไข รวมถึงเรื่องการเมืองประเทศเหล่านี้จะใช้เงื่อนไขเหล่านี้มาร่วมมือการทำงานและนำไปสู่ผลประโยชน์ที่เหมาะสม พร้อมระบุว่า ปัญหาในไต้หวันก็น่าจับตา เมียนมาร์ก็เป็นเรื่องยาวที่เราต้องแบกรับ เป็นระยะยาว คาบสมุทรเกาหลีก็เช่นกัน เขื่อมโยงไปถึงประเทศลำดับรองจากประเทศมหาอำนาจ ก็ต้องจับตาดูว่าญี่ปุ่นจะขยับเรื่องนี้อย่างเต็มตัว
ส่วนแนวชายแดนประเทศไทย เราต้องมีความสัมพันธ์ในทุกมิติ เพื่อลดทอนความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม และมีโอกาสจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เพราะเรื่องชายแดนทุกคนก็ต้องปกป้องอธิปไตย ตารางนิ้วเดียว แต่ละประเทศก็ไม่มีทางปล่อย ซึ่งเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ ว่าจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่สมช. ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อลดปัญหาชายแดนให้น้อยที่สุด แต่ด้วยตรรกะก็ไม่มีทาง เพราะอะไรที่คุยไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้เรื่อง บางเรื่องมีข้อมูล เอกสารหลักฐาน คุยมา 3 ปีก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นความร่วมมือในการใช้พื้นที่ หรือไม่ใช่พื้นที่ก็เป็นกุญแจสำคัญที่เราต้องร่วมกัน และดูว่าที่ผ่านมาเกิดจากสาเหตุอะไร ก็อย่าให้เกิดอีก ที่สำคัญ กลไกตามแนวชายแดนมีประโยชน์มาก 30 กว่าปี ไทยแทบไม่ทะเลาะกับเพื่อนบ้านเลย เพราะคณะกรรมการกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาทั้งทหารและพลเรือน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้อาจจะต้องขยับเพิ่มเติม เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบภูมิประเทศร่วมกัน
ส่วนสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศไทย มีเรื่องยาเสพติด คอรรัปชั่น การบังคับใช้กฎหมาย การค้ามนุษย์ อาญชกรรม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความคิดสุดโต่งรุนแรง และเรื่องที่ไม่คาดคิด ล้วนเกิดขึ้นในแต่ละมิติเสมอ คือภัยพิบัติหรือสาธารณภัย ในช่วงเวลาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองถือเป็นจุดเปราะบางพอสมควร ที่เกี่ยวข้องกับความคิด สังคม ความเชื่อ การความแสดงความคิดเห็น มันเกิดความหลากหลายทางอายุ อาชีพ และสถานะทางสังคม ซึ่งเกิดการขยายอย่างรวดเร็ว เพราะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามา เช่นสื่อสังคมออนไลน์ การบิดเบือนข้อมูล ข่าวปลอม การเผยแพร่อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ซึ่งสมช.มองเห็นและเขียนนโยบายขึ้นมา คือการใช้แผนพหุวัฒนธรรม และแนวทางการอยู่ร่วมกันสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นำไปศึกษาเพิ่มเติมและนำไปใช้ในกรอบได้ เพื่อประกอบนโยบายที่มี เพราะฉะนั้นกรอบที่เราร่วมกันคิดมา แผน 5 ปี ก็มีการปรับกระบวนทัศน์การทำงาน สามารถแก้ไขให้อ่อนตัวทันสถานการณ์
ทั้งนี้ อยากฝาก 1.การทำงานร่วมกัน การเชื่อมโยงระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ ลองไปดูว่าหลายหน่วยงานทำงานไม่สอดคล้องกัน จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกอีก 1-2 ปีข้าวหน้าก็ต้องมาทำใหม่ 2. การถ่ายทอดเป้าหมาย ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับที่ 3 3. การวิเคราะห์ ติดตามและประเมิน ปรับเปลี่ยน อย่างทันท้วงทีภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายที่มี 4. ความร่วมมือในการผลักดัน อธิบายให้สามารถทำงานหางบประมาณมาได้จนภารกิจสำเร็จ 5.คำนึงถึงคน
เลขาธิการ สมช. เน้นย้ำว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานความมั่นคงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมและบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคเอกชนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง สื่อมวลชน และที่สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชนโดยหน่วยงานของรัฐ จังหวัด ชุมชนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญให้นโยบายฯ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และศักยภาพในพื้นที่
—————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 ก.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1078529