ภาพ : กรุะทรวงดีอีเอส
กฎหมาย Digital Platform คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร โดยกระทรวงดิจิทัลฯ หรือ ดีอีเอส ประกาศ กฎหมาย Digital Platform จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง อาทิ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวบรวมข่าว โฮสติ้ง คลาวด์ แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ด้วย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย Digital Platform ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร โดยกฎหมาย Digital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมาย Digital Platform คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร
ปัจจุบันมีการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนตอบสนองรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยมีการให้บริการที่หลากหลายประเภทธุรกิจ เช่น บริการด้านการเงิน การขายสินค้าออนไลน์ การขนส่ง เป็นต้น ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ผลักดันการจัดทำ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกัน ความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 และต่อมาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566
วัตถุประสงค์
– กำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ
– กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
– กำหนดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
– ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“กฎหมาย Digital Platform กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนั้น ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือคนไลฟ์สด หรือคนทำ content ที่เผยแพร่บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด” นายชัยวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ETDA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform (Public hearing) รวม 4 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาจนถึงครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เกี่ยวกับ (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหลอกลวง การไม่ทราบตัวคนที่ต้องรับผิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม
นอกจากนี้ รมต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือกับ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Pantip – Blockdit” ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ” สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย
พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง และมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากการพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอพพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ภาพ : ETDA
นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำว่า “กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อมุ่งคุ้มครองประชาชน โดยให้แพลตฟอร์มและ SOCIAL รายใหญ่ต้องจดแจ้งกับ ETDA อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อค้าแม่ค้าอออนไลน์ ที่ไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องจดแจ้งกับ ETDA”
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กฎหมาย DPS เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ETDA
————————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : it24hrs / วันที่เผยแพร่ 26 มิ.ย.66
Link : https://www.it24hrs.com/2023/digital-platform-laws-coming-august-2023/