จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู
เมื่อเอ่ยถึงอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาลนั้น หลายคนมักนึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นความรู้ทางทฤษฎีที่นำไปสู่การพัฒนาระเบิดปรมาณูนั้น คือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อมรณกรรมของผู้คนเรือนแสน ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กลับบันทึกชื่อของ จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์รุ่นน้องของไอน์สไตน์ ชี้ว่า เขาต่างหากที่เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งยังเป็นคนที่เกิดความสำนึกเสียใจอย่างมาก หลังทราบว่าอาวุธที่เขาประดิษฐ์ขึ้นได้ล้างผลาญชีวิตเพื่อนมนุษย์ไปมากมายเพียงใด
เหล่านักประวัติศาสตร์ต่างชี้ตรงกันว่า ออปเพนไฮเมอร์คือ “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ตัวจริง เนื่องจากเป็นผู้บุกเบิกและดำเนินโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ที่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกจนสำเร็จ ทั้งยังเป็นผู้แนะนำให้รัฐบาลสหรัฐฯ รีบนำอาวุธร้ายแรงนี้ไปใช้เพื่อยุติสงครามโลกอีกด้วย
ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์นั้นน่าพิศวง และเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตนเอง จากเด็กอัจฉริยะที่พุ่งทะยานสู่ความสำเร็จในวงการฟิสิกส์ยุคใหม่อย่างรวดเร็ว จนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในหมู่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเดียวกัน มาสู่การเป็นนักวิจัยผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายความมั่นคงของชาติมหาอำนาจในยุคหนึ่ง แต่ความสำเร็จนี้กลับนำพาเขาสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งได้ทำลายชีวิตของเขาจนย่อยยับในที่สุด
อัจฉริยะของวงการฟิสิกส์ยุคใหม่
ออปเพนไฮเมอร์เกิดที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อปี 1904 ในครอบครัวชาวยิวผู้มั่งคั่งที่อพยพมาจากเยอรมนี ตั้งแต่วัยเยาว์เขามีความสนใจในวิชาธรณีวิทยาและผลึกคริสตัลเป็นพิเศษ และได้เขียนจดหมายโต้ตอบเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับเหล่านักธรณีวิทยาผู้มีชื่อเสียงอยู่เสมอ จนเมื่ออายุ 12 ปี เขาได้รับเชิญให้ไปกล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการทางธรณีวิทยาครั้งหนึ่ง โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างไม่ทราบมาก่อนว่า ผู้ทรงความรู้ที่พวกเขาเชิญมาเป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งเท่านั้น
การทดลองระเบิดปรมาณูในน่านน้ำของสหรัฐฯ เมื่อช่วงทศวรรษ 1950
ต่อมาออปเพนไฮเมอร์สำเร็จการศึกษาวิชาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ ก่อนจะคว้าปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยเกิตทิงเง็น (Göttingen University) ของเยอรมนี เมื่อมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น
นอกจากผลงานด้านฟิสิกส์ควอนตัมและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการทำนายคุณสมบัติของดาวแคระขาวและขีดจำกัดของมวลในดาวนิวตรอนแล้ว ออปเพนไฮเมอร์ยังเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ทฤษฎีคนแรก ๆ ที่ได้ทำนายถึงการมีอยู่ของหลุมดำอีกด้วย โดยบทความวิชาการที่เขาเขียนร่วมกับนักศึกษาในสังกัดของตนเองเมื่อปี 1939 ระบุว่า
“ในทางทฤษฎีแล้ว ห้วงอวกาศลึกที่ห่างไกลออกไปควรจะมีดาวฤกษ์ที่กำลังสิ้นอายุขัย ซึ่งแรงโน้มถ่วงของมันนั้นมหาศาลจนเกินหน้าระดับการผลิตพลังงานภายใน”
ออปเพนไฮเมอร์ยังมีความเป็นอัจฉริยะผู้รู้รอบและเก่งสารพัดไปทุกด้านหรือ “โพลีแมท” (polymath) โดยนอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์เชิงทฤษฎีแล้ว เขายังมีความรู้ทางมนุษยศาสตร์และเข้าใจภาษาต่างประเทศถึง 6 ภาษา รวมถึงภาษากรีกและภาษาสันสกฤตด้วย
เขาใช้ความรู้ในภาษาโบราณของอินเดีย อ่านและศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาฮินดูอย่างลึกซึ้ง จนเป็นที่มาของเหตุผลทางจริยธรรมที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูยุติสงคราม
ออปเพนไฮเมอร์ เปรียบเทียบเรื่องนี้กับการปฏิบัติหน้าที่หรือ “ธรรมะ” ตามที่พระกฤษณะกล่าวสอนอรชุนในสนามรบ เพื่อให้สามารถหักใจเข้าทำสงครามประหัตประหารญาติของตนเองที่เป็นฝ่ายอธรรม
ออปเพนไฮเมอร์กล่าวว่า “เพื่อโน้มน้าวใจให้อรชุนลงมือปฏิบัติตามหน้าที่ของตน พระกฤษณะทรงแสดงวิศวรูป หรือร่างแท้จริงระดับจักรวาลของพระเป็นเจ้าที่มีหลายเศียรหลายกร พร้อมกับตรัสว่า ‘บัดนี้เราคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลกทั้งมวล’ ผมว่าเราควรจะมีความคิดที่คล้อยตามแนวทางนี้”
จากบิดาแห่งระเบิดปรมาณู กลายเป็นศัตรูของมหาอำนาจนิวเคลียร์
ชื่อเสียงของออปเพนไฮเมอร์ในวงการฟิสิกส์ ทำให้เขาได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1941 ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งมุ่งคิดค้นและพัฒนาระเบิดปรมาณูในฐานลับกลางทะเลทราย ที่ห้องปฏิบัติการลอสอะลามอส (Los Alamos) ของรัฐนิวเม็กซิโก โดยออปเพนไฮเมอร์และทีมงานใช้เวลาเพียงสองปีครึ่ง ก็สามารถประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกได้สำเร็จ
ไค เบิร์ด หนึ่งในผู้เขียนหนังสือชีวประวัติ “โพรมีธีอุสชาวอเมริกัน ชัยชนะและโศกนาฏกรรมของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์” (American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer) วรรณกรรมรางวัลพูลิตเซอร์ซึ่งถูกใช้เป็นเค้าโครงในการสร้างภาพยนตร์ “ออปเพนไฮเมอร์” ซึ่งมีกำหนดฉายในประเทศไทยในวันที่ 21 ก.ค. ที่จะถึงนี้ กล่าวให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Live Science ว่า
“นอกจากความทะเยอทะยานของออปเพนไฮเมอร์แล้ว เหตุผลที่เขาตกลงรับเป็นผู้นำโครงการสร้างระเบิดปรมาณูนั้น ยังมาจากความเกลียดกลัวลัทธิฟาสซิสม์และพวกนาซีเยอรมนีด้วย การที่เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาจากเยอรมนีและรู้จักนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันอย่างไฮเซนเบิร์กดี ทำให้เขาเกรงว่าฝ่ายอักษะกำลังนำหน้าทีมวิจัยของสหรัฐฯ อยู่มากจนอาจจะประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูได้ก่อน ซึ่งอาวุธดังกล่าวสามารถทำให้ฮิตเลอร์เป็นฝ่ายชนะสงคราม”
ภาพยนตร์ “ออปเพนไฮเมอร์” ซึ่งมีกำหนดฉายในประเทศไทยในวันที่ 21 ก.ค.
เบิร์ด ยังระบุว่า ออปเพนไฮเมอร์มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าระเบิดปรมาณูจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยุติสงครามลงได้อย่างเด็ดขาด โดยเขาเล่าถึงการพบปะกับนีลส์ โบร์ (Niels Bohr) นักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกชาวเดนมาร์กในวันสิ้นปี 1943 ซึ่งโบร์นั้นมีความเชื่อและความหวังในอานุภาพของระเบิดปรมาณูเช่นเดียวกันว่า
“เขาเอ่ยถามเมื่อเจอหน้าผมที่ห้องปฏิบัติการลอสอะลามอสในทันทีว่า…โรเบิร์ต มันใหญ่พอจริง ๆ ใช่ไหม ? เขาอยากรู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนั้นมันทรงพลังยิ่งใหญ่พอที่จะยุติทุกสงครามได้จริงหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม หลังการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ภรรยาของออปเพนไฮเมอร์ได้เปิดเผยต่อเพื่อน ๆ ของเธอทางจดหมายว่า สามีของเธอมีภาวะซึมเศร้าและจมดิ่งลงสู่ห้วงของความสำนึกเสียใจอย่างลึกซึ้ง หลังได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุสลดครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แม้ภายนอกเขาจะดูสงบนิ่งและมีอารมณ์เป็นปกติก็ตาม
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ออปเพนไฮเมอร์ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนที่เคยมีต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้รู้ว่า รัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ ในยุคหลังสงครามโลก มีแผนจะเร่งผลิตและสั่งสมระเบิดปรมาณูเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องปรามค่ายคอมมิวนิสต์ และก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ทรงพลังเหนือชาติอื่น
ออปเพนไฮเมอร์เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น เมื่อปี 1960
ในเดือนตุลาคม ปี 1945 ออปเพนไฮเมอร์เริ่มส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสาธารณชนหลายครั้งว่า เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายความมั่นคงใหม่ ที่เน้นป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพากลยุทธ์สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
เขาชี้ว่าระเบิดปรมาณูนั้นไม่ใช่อาวุธสำหรับผู้มุ่งป้องกันตนเอง แต่เป็นอาวุธของผู้รุกรานและผู้ก่อการร้าย ซึ่งสหรัฐฯ ควรจะหาหนทางสร้างกลไกควบคุมระหว่างประเทศ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปทั่วโลก
ท่าทีของออปเพนไฮเมอร์ที่เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ บวกกับการที่เขาเคยมีประวัติเป็นผู้เห็นอกเห็นใจฝ่ายซ้ายและโลกคอมมิวนิสต์ ทำให้อัจฉริยะผู้นี้เริ่มกลายมาเป็น “ศัตรูของชาติ” ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคนั้น
บรรยากาศทางการเมืองช่วงดังกล่าวกำลังถูกครอบงำด้วยลัทธิแม็กคาร์ธี (McCarthyism) ซึ่งสร้างความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์และเน้นการ “ล่าแม่มด” ไล่ปราบปรามและปิดปากผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้าย ทำให้ในปี 1954 ออปเพนไฮเมอร์ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรม โดยคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของสหรัฐฯ
ผลการสอบสวนในครั้งนั้น ทำให้เขาสูญเสียสิทธิเข้าถึงความลับด้านความมั่นคงของรัฐ (security clearance) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือความพยายามกำจัดเขาให้พ้นจากโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณูนั่นเอง
“เจ้าคนโง่” ของไอน์สไตน์
ก่อนจะถึงการสอบสวนในปี 1954 ที่สร้างความอัปยศให้กับออปเพนไฮเมอร์อย่างยิ่ง เขามีโอกาสได้พบเจอกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกโดยบังเอิญ ที่สถาบันเพื่อการศึกษาวิทยาการชั้นสูง (Institute for Advanced Study) ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้อำนวยการอยู่
ออปเพนไฮเมอร์ กล่าวขอคำปรึกษาจากไอน์สไตน์ถึงเรื่องการสอบสวนทางการเมืองที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งไอน์สไตน์ได้ให้คำแนะนำว่า “โรเบิร์ต คุณจะกังวลไปทำไม ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องการตัวคุณหรือคำแนะนำของคุณอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อคุณคือฮีโร่ด้านปรมาณูอย่างแท้จริง คุณก็แค่ปลีกตัวออกมา”
ออปเพนไฮเมอร์ขณะสนทนากับไอน์สไตน์
แต่ออปเพนไฮเมอร์กลับอธิบายกับไอน์สไตน์ว่า “คุณไม่เข้าใจหรอกอัลเบิร์ต ผมต้องใช้สถานะและจุดยืนของผม เพื่อให้เรามีอิทธิพลต่อบรรดาผู้นำที่คอยกำหนดนโยบายของรัฐฯ ผมต้องคอยให้คำแนะนำพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีนี้ดีพอ ผมต้องใช้ชื่อเสียงของตัวเองทำสิ่งที่ดีงาม”
เมื่อออปเพนไฮเมอร์เดินออกจากห้องไปแล้ว ไอน์สไตน์ได้หันไปพูดกับเลขานุการของเขาว่า “เจ้าคนโง่ไปแล้ว”
ไอน์สไตน์ใช้คำว่า Narr ในภาษายิดดิชกล่าวถ้อยคำข้างต้น ซึ่งคำนี้มีความหมายว่า “คนโง่”
อัจฉริยะทางฟิสิกส์อย่างออปเพนไฮเมอร์นั้น แม้ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนด้อยสติปัญญา แต่ในสายตาของไอน์สไตน์แล้ว เขาทั้งโง่และซื่อรวมทั้งอ่อนประสบการณ์เกินไปในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เขาอ่อนไหวและขาดความฉลาดทางอารมณ์ ได้นำภัยมาให้โดยไม่รู้ตัว
ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน เคยกล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศถึงความไม่พอใจที่เขามีต่อออปเพนไฮเมอร์ โดยตั้งฉายาให้กับนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้นี้ว่า “เด็กงอแง” (crying baby) หลังออปเพนไฮเมอร์บุกเข้าพบทรูแมน เพื่อแสดงความกังวลต่อภัยนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียต พร้อมทั้งยื่นมือกวัดแกว่งไปมาต่อหน้าประธานาธิบดีและพูดว่า
“ท่านครับ ผมรู้สึกว่ามือผมเปื้อนเลือด”
เหตุการณ์นี้ทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนขัดเคืองอย่างยิ่ง จนผู้นำสหรัฐฯ บ่นกับคนสนิทว่า “เขาบอกว่าตัวเองมือเปื้อนเลือดเพราะค้นพบวิธีใช้พลังงานปรมาณู…ให้ตายเถอะ มือเขาเปื้อนเลือดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่อยู่บนมือผมด้วยซ้ำ หยุดเที่ยวไปร้องไห้คร่ำครวญกับใครต่อใครไปทั่วได้แล้ว”
———————————————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC NEWS ไทย / วันที่เผยแพร่ 17 ก.ค.66
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c8057p9nx5ko