หลังจากที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้การให้บริการของหน่วยงานราชการเริ่มเปลี่ยนไป หลายหน่วยงานให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ยกเลิกการใช้เอกสารแบบกระดาษ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น
การสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเคยจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขับเคลื่อนโดย 4 หน่วยงานสำคัญ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน เพื่อผลักดันให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐทุกๆ ระดับเปลี่ยนวิถีการทำงานเป็นดิจิทัลนั้น ทั้ง 4 หน่วยงาน ย่อมต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ ETDA ที่มีบทบาทสำคัญเป็นทั้งผู้ร่วมขับเคลื่อน และหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
“พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์” ลดข้อจำกัด เร่งสปีด ราชการดิจิทัล
จุดประสงค์หลักของการทำ ‘พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565’ นี้คือ การปรับเปลี่ยนการทำงานและการให้บริการของหน่วยงานราชการในรูปแบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อส่งต่อการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีกว่าที่เคย
เมื่อระบบการทำงานของหน่วยงานราชการเปลี่ยนสู่ e-Government ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวจะเข้ามาแก้ปัญหาให้หลายหน่วยงานราชการ แม้ที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องส่งเสริมความสะดวกค่อนข้างมากก็ตาม แต่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ความชัดเจนของรายละเอียดยังไม่ครอบคลุมข้อระเบียบการปฏิบัติทางกฎหมายที่กว้างพอ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งาน
ยกตัวอย่าง ‘การขอใบอนุญาต’ ตั้งแต่ ‘การขอ – การออก – การแสดง’ โดยปีที่ผ่านมา แม้มีระเบียบแจ้งว่า คุณสามารถออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว แต่ทว่า ระเบียบของบางหน่วยงานแจ้งว่า คุณต้องแสดงและติดใบอนุญาตให้เห็นในที่สาธารณะ นั่นแปลว่า คุณต้องติดในรูปแบบกระดาษ (Physical Paper) ซึ่งจะสังเกตพบได้ตามร้านค้าหรือร้านโชห่วยบางแห่งที่จะยังมีการติดใบอนุญาตอยู่ หรือระเบียบบางแห่งแจ้งระบุลักษณะเฉพาะเลยว่า ต้องติดบนฝาผนังให้ชัดเจน เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายหน่วยงานราชการทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างชะงัก เพราะไม่เปิดช่องทางให้ใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
จึงเป็นที่มาในการจัดทำ “พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565” ที่มีจุดแข็งในรายละเอียดที่กว้างขึ้น แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ตอบโจทย์การทำงานของหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ จะมีการระบุหนึ่งในมาตราที่เกี่ยวกับรูปแบบการแสดง หรือให้ประชาชนเห็นเรื่องใบอนุญาตด้วยว่า คุณสามารถแสดงรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้องบอกแหล่งที่มา (Electronics Source) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดใบอนุญาตข้างฝาผนังอีกต่อไป
รวมถึงเรื่องการขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชนจะสามารถแสดงในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งหากทุกหน่วยงานราชการประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จำนวนมาก คาดว่าเรื่องการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชนจะดีขึ้นอย่างมากทีเดียว
เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ หน่วยงานรัฐต้องปรับการทำงานเรื่องไหนบ้าง?
แม้หน่วยงานรัฐมีหลายเรื่องต้องปรับเปลี่ยน แต่หลักหัวใจกว้างๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องเร่งปรับก่อนเลย คือ “หน่วยงานรัฐต้องรับเอกสารที่ประชาชนยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้” และ “ต้องสามารถตอบกลับประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้”
ถ้าประชาชนต้องการข้อมูลเอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องปรับตัวการทำงาน ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือ การใช้ระบบ e-Saraban หรือระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ในการรับรองการรับ ส่ง เซ็น และเก็บเอกสารทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงรายละเอียดถึงแนวปฏิบัติ ในพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 สามารถแบ่งได้ 3 ชุด ดังนี้ 1.แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานขนาดเล็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ยังไม่มีความพร้อมมากนักในด้านเทคโนโลยี 2.แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานทั่วไประดับกลาง ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นรวมถึงมีการติดต่อที่ซับซ้อนขึ้น และ 3.แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมสูง มีความรู้เข้าใจในเชิง IT Operation และ IT Support ที่สูง
นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงานแล้ว จะมีกระบวนการโดยกว้าง 8 ข้อ ที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐต้องพิจารณาปรับให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ คือ 1.การให้ข้อมูล 2.การรับเอกสารต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 3.การตรวจสอบ กระบวนการพิจารณาภายในหน่วยงานรัฐต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 4.กระบวนการอนุมัติหรือการลงลายมือต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์
5.การออกใบอนุญาตต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 6.การทำการชำระบริการ ต้องเป็น e-Payment 7.การนำส่งกลับข้อมูลให้ผู้ขอ ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และ 8.การแสดงข้อมูล ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ยังสามารถศึกษารายละเอียดกระบวนการได้ที่เว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 28 มิ.ย.66
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9660000058767