(22 ก.ค. 66) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่าในปัจจุบัน การใช้สื่อสังคมออนไลน์แทบจะถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งมักจะใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รูปภาพ ตลอดจนคลิปวิดีโอต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีการด่าทอ หยอกล้อ หรือล้อเลียนผู้อื่น ด้วยความสนุก คึกคะนอง จนอาจเกินเลยสร้างบาดแผลทางจิตใจ หรือสร้างความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับบุคคลอื่น ซึ่งในกรณีดังกล่าวมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้อื่นมิให้ถูกละเมิด
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการด่าทอ ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือ ข่มขู่ผู้อื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่ได้กระทำ ดังนี้
1.) การโพสต์ใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.) การโพสต์หมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา (การโพสต์เป็นสาธารณะหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้) อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.) การโพสต์ภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.) การข่มขู่ ขู่เข็ญ ผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ตกใจ อาจเข้าข่ายความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5.) การส่งต่อ แชร์ รีทวีต หรือรีโพสต์ ที่เข้าข่ายเป็นความผิด อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้โพสต์ ในฐานะตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือ 86 แล้วแต่กรณี
ซึ่งนอกเหนือจากความผิดที่มีโทษทางอาญาแล้ว หากผู้เสียหายสามารถพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของผู้กระทำผิด ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือทางทำมาหาได้ ผู้ที่กระทำความผิดอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือมาตรา 423 แล้วแต่กรณีอีกด้วย
ดังนั้น พี่น้องประชาชนจะต้องระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการโพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น เพราะหากบุคคลที่ถูกกล่าวถึงไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว และได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้น ท่านอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือหมิ่นประมาท ทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่ท่านทราบการกระทำความผิด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
—————————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : thestatestimes / วันที่เผยแพร่ 22 ก.ค.66
Link : https://thestatestimes.com/post/2023072222