เรือรบฝรั่งเศสสามลำจอดทอดสมอคุมเชิงอยู่ด้านหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
จากการศึกษาตามบันทึกและปูมเรือของฝรั่งเศสในช่วงก่อนการเข้าตีฝ่าปากน้ำเจ้าพระยานั้น จะพบข้อมูลที่เรือลูแตงของฝรั่งเศสได้พยายามมาจอดบริเวณปากน้ำ หลังจากเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม และไม่ยอมถอนออกไปตามกำหนดวันที่ 21 มีนาคม รวมทั้งยังแอบสังเกตการณ์ในวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทางชลมารค และขึ้นตรวจการก่อสร้างที่ ป้อมพระจุลฯ ในวันที่ 10 เมษายน ร.ศ. 112 อย่างใกล้ชิด และยังติดตามดูการเสด็จตรวจป้อมผีเสื้อสมุทรด้วย
ที่น่าสังเกตก็คือ ในเที่ยวเรือนี้ เรือลูแตงได้นำผู้บัญชาการสถานีทหารเรือไซ่ง่อนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย จนหลังการเสด็จตรวจป้อมเมื่อวันที่ 10 เมษายน แล้ว วันที่ 11 เมษายน เรือโคแมตที่ฝ่ายสยามไม่ยอมให้ขึ้นไปจอดที่กรุงเทพฯ (เพราะเรือลูแตงยังไม่ถอนออกไป) จึงได้จอดรออยู่ที่สมุทรปราการ และรับ ผบ. สถานีทหารเรือไซ่ง่อนถ่ายลำจากเรือลูแตงกลับไปด้วย ซึ่งน่าจะเป็นที่เข้าใจว่านายทหารระดับบัญชาการท่านนี้ได้มาหาข่าวและเตรียมการที่บุกไว้ก่อนที่จะกลับไปกำหนดแผนบุกในขั้นรายละเอียด (มีการตรวจดูพื้นที่เกาะเสม็ดและบริเวณใกล้เคียง ในระหว่างการเดินเรือช่วงเดือนมีนาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ด้วย)
การพยายามบันทึกที่หมายทางเรือ และตำแหน่งเสาธงของป้อมผีเสื้อสมุทร ที่ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อเตรียมการติดตั้งปืนเสือหมอบแบบเดียวกับของป้อมพระจุลฯ ในขณะวิ่งเรือผ่าน พร้อมรายละเอียดข้อมูลต่างๆ (เรือเอกลุยส์ ฟูร์เน่ต์ (Louis du Fournet) – ผบ. เรือโคแมต) รวมทั้งข้าศึกยังได้วัดระดับน้ำ ซึ่งย่อมจะสามารถเก็บเป็นข้อมูล และคำนวณจากวันข้างขึ้นข้างแรมทำนายระดับน้ำ และเวลาน้ำขึ้นสูงสุด [1] ก่อนค่ำ ก็นับเป็นการเตรียมการและหาข่าวตามหลักการรบที่ข้าศึกได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตามความเชี่ยวชาญของข้าศึก ซึ่งได้ทำการรบและทำสงครามทางเรือมาแต่ยุคเรือใบอย่างเชี่ยวชาญ
ยกตัวอย่างในอดีตก็ เช่น นโปเลียนทำสงครามกับอังกฤษในปี ค.ศ. 1805 (พ.ศ. 2348) โดยมีการทำสงครามทางเรือเป็นตัวชี้ขาด กับนายพลเรือเนลสันในสงครามทราฟัลการ์ จนถึงในยุคเรือกลไฟ ซึ่งจะดูได้จากที่ฝรั่งเศสมีตำราสงครามทางเรือของนายพลเรือชื่อดาร์ริเอิส (Darrieus) อันเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความลึกซึ้ง เช่นเดียวกับตำราของมาฮาน (Mahan) นักยุทธศาสตร์ทางเรือชาวอเมริกัน และของโคลอมบ์ (P.H. Colomb) ชาวอังกฤษ
ผิดกับชาวสยามซึ่งเพิ่งจะเริ่มสร้างกองเรือกลไฟขึ้นมาได้ไม่กี่ลำ และไม่เคยทำสงครามทางเรือในลักษณะดังกล่าวเลย ทั้งยังต้องจ้างคนเรือที่เป็นทั้งอาสามอญ อาสาจาม โดยมีฝรั่งเป็นผู้บังคับการเรือ
ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งก็คือ การที่ฝ่ายสยามได้ห้ามเรือโคแมต ไม่ให้ขึ้นไปกรุงเทพฯ และเรือฝรั่งเศสยอมจอดคอยอยู่ปากน้ำ โดยรอรับนายทหารผู้ใหญ่อยู่ได้ ทว่าในเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม เรือโคแมตที่ตามมากับเรือสลุบแองกองสตังค์ กลับไม่ฟังคำห้ามปรามของฝ่ายสยาม และอ้างอย่างไร้เดียงสาว่า ไม่รู้ว่าฝ่ายสยามไม่ให้ขึ้นไปนั้น เป็นข้ออ้างที่ไร้สติสิ้นดี [2]
ความพยายามนำเรือฝ่าเข้าปากน้ำทั้งที่ป้อมยิงกระสุนปืนออกไปนั้น ยืนยันแผนการบุกรุกสยามโดยเจตนา อย่างไม่อาจอ้างเหตุผลใดๆ ได้เลย โดยเฉพาะจากบันทึกของผู้บังคับการเรือโคแมต ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ที่บันทึกไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดย กอง บก. ออนไลน์)
“เรือแองคองสตังต์ได้มาถึงในขณะที่ทหารประจำเรือของเรากลับจากการฝึกทหารราบบนหาดชายฝั่ง…เรือลำนี้จะนำเราเดินทางไปกรุงเทพฯ…เราไม่ควรจะให้เสียเวลาไปแม้แต่น้อย เพราะมีเวลาเพียงพรุ่งนี้ตอนเย็นเวลาเดียวเท่านั้นที่จะมีระดับน้ำสูงพอที่จะให้เรือแองคองสตังต์ซึ่งกินน้ำลึก 4.20 เมตร ผ่านสันดอนเข้าไปได้…ถึงกระนั้นก็เห็นสมควรที่จะต้องให้เรือนี้เบาขึ้นกว่านี้อีก
“เรือโคแมตจึงได้เข้าเทียบรับถ่านมาเสีย 20 ตัน เสร็จจากการขนถ่านแล้ว ผู้บังคับการเรือทั้ง 2 ลำ ก็ร่วมกันอ่านโอวาทของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล…รัฐบาลมีความประสงค์จะบีบบังคับประเทศไทยในทางจิตใจเพื่อให้ได้รับความพอใจในเหตุการณ์ทางชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เราจะต้องเดินทางไปจอดที่สมุทรปราการ ในวันพรุ่งนี้ตอนเย็น โดยอาศัยสิทธิของเราที่มีอยู่ในสนธิสัญญา เมื่อได้ทำความตกลงกับ ม. ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำราชสำนักกรุงเทพฯ แล้ว เราก็จะได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกันนั้น
“รุ่งขึ้นวันที่ 14 กรกฎาคม เราจะได้อยู่ใกล้ๆ กับเรือลูแตง ซึ่งจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และจะได้ชักธงราวแต่งเรือในวันชาติ การปรากฏตัวของเรือเราทั้ง 3 ลำในน่านน้ำกรุงเทพฯ รวมทั้งเรือฟอร์แฟต์ (Forfait) ซึ่งจะตามมาภายหลังและจะอยู่ที่นอกสันดอนเพราะกินน้ำลึก”
จากข้อความตามบันทึก ย่อมบ่งบอกได้ถึงการเตรียมการหาข่าวและวัดระดับน้ำ จนสามารถกะเกณฑ์การบรรทุกและถ่ายเทถ่านหินจากเรือสลุบแองกองสตังค์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะผ่านสันดอนและร่องน้ำได้ รวมทั้งโอวาทยุทธ์ของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศส (ตั้ง บ.ก. อยู่ไซ่ง่อน) นั้น ได้กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า ต้องตีฝ่าปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าไปร่วมขบวนเรือลูแตงที่จอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสให้ได้ เพื่อกดดันและบีบบังคับฝ่ายสยาม โดยถือเอาฤกษ์วันชาติฝรั่งเศสในวันรุ่งขึ้น เป็นการเรียกขวัญกำลังใจและให้เกิดความฮึกเหิม
การแสร้งอ้างสิทธิตามสนธิสัญญา (แต่ยอมไม่ส่งเรือขึ้นไปในเที่ยววันที่ 14 มีนาคม) และการกล่าวหาสยามว่าระดมยิง (ทั้งที่ได้ห้ามปราม และยิงเตือนหลายครั้ง) โดยไม่มีเหตุผลนั้น จึงเป็นข้ออ้างอย่างสุนัขป่าจะหาเรื่องโดยแท้ เพราะคำสั่งและภารกิจได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วนั่นเอง โดยยังได้เตรียมการแก้ไขสถานการณ์ หากเรือแองกองสตังค์ติดตื้น [3] (อาจเกิดได้ถ้าเรือนำร่องถูกสกัดเร็วกว่านี้ และเรือเดินไม่ถูกร่องน้ำ ก่อนผ่านปากน้ำ-ผู้เขียน) ก็จะให้เรือโคแมตเดินขึ้นไปสนธิกำลังกับเรือลูแตงในกรุงเทพฯ (และให้เรืออื่นมาช่วยถ่ายสิ่งของ) และแผน 2 ก็คือ การเตรียมเรือฟอร์แฟต์ (Forfait) ที่กินน้ำลึกกว่า ให้ตามมาภายหลัง รวมทั้งเรือตริอองฟังต์ ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ (เป็นเรือธงของพลเรือตรีฮูมานน์ ผบ. กองเรือฯ ด้วย) พร้อมที่จะมาร่วมระดมยิงต่อสู้กับ ป้อมพระจุลฯ ด้วย
แต่ผลจากการสู้รบในเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ทำให้กองเรือฝรั่งเศสไม่กล้าลงมือปฏิบัติการด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยาอีกเลย น่าจะเป็นเพราะขยาดหรือรู้ว่าปืนป้อมพระจุลฯ สามารถทำการยิงอย่างได้ผล และมีหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่าฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้เตรียมการศึกษาภูมิประเทศ และหาข่าว ถึงขนาดที่จะบุกรุกในขั้นครอบครองสยามทั้งประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลการสำรวจลำน้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำสายอื่นๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน ซึ่งท่าน พล.ร.อ.วรงค์ ส่งเจริญ ร.น. อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำกรุงปารีส ได้รับจากเพื่อนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในปารีส
โดยเฉพาะการสเก๊ตช์แปลนของป้อมพระจุลจอมเกล้า ที่ได้มีการพยายามเขียนถึงช่องทางเดินเชื่อมกันระหว่างหลุมปืน 2 กระบอก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการสำรวจและวัดขนาดทางเดินและทางเชื่อมต่างๆ ที่ชมรมเพื่อนทหารเรือทำ จะมีผิดพลาดไปก็คือ หลังหลุมปืนกระบอกที่ 1 และหลุมปืนกระบอกที่ 7 ที่ข้อมูลฝรั่งเศสไม่ได้ระบุถึงหลุมที่ติดตั้งกล้องเล็งและวัดระยะเป้า เพื่อสั่งการเล็งยิงปืนที่มีอยู่ 2 แห่ง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าหลุมปืนกว่าครึ่ง (หลุมปืนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 7.60 เมตร ส่วนหลุมกล้องเล็งมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3.55 เมตร)
เมื่อวัดสำรวจระยะขนาดต่างๆ สามารถสรุปได้ว่าการกำหนดขนาดและก่อสร้างตามหน่วยวัดอังกฤษ (เป็นหลา , ฟุต , นิ้ว) ลงตัวทั้งสิ้น พร้อมกับทางเชื่อมที่จะเดินไปสู่หลุมที่ติดตั้งกล้องวัดระยะนี้ จะต้องเข้า – ออก ทางหลุมปืนที่ 1 และที่ 7 มิฉะนั้นก็ต้องปีนเข้า – ออก ทางกำแพง หลุมกล้องวัดระยะนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นข้อสงสัยว่าแบบแปลนของป้อมจะไปอยู่ในมือข้าศึกได้อย่างไร ซึ่งถ้าได้มองถึงการสเก๊ตช์ภาพแล้ว ไม่มีรายละเอียดการบอกขนาด รวมทั้งข้อมูลสำคัญ ถึงทางเดินเชื่อมไปยังหลุมเครื่องวัดระยะ หรือที่ควบคุมการเล็งยิงนี้ ซึ่งมีความสำคัญมาก (รวมถึงรายละเอียดของโครงสร้างทางด้านตะวันตกของป้อม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีโครงสร้างที่มีรายละเอียดข้อมูลของอุปกรณ์ทางเครื่องกล และเครื่องต้นกำลังขับอย่างสำคัญ ที่ทำให้ปืนสามารถยกตัวขึ้นทำการยิงอย่างต่อเนื่อง) ย่อมพอจะบอกได้ว่าแปลนนี้ ไม่น่าจะเป็นข้อมูลทางการจากฝ่ายสยามหรือข้อมูลการก่อสร้างที่แท้จริง
แต่น่าจะมาจากผู้ที่เข้า – ออก หรือคนทำงานในการสร้างป้อมพระจุลฯ ซึ่งในระหว่างการเร่งงานก่อสร้างนั้นมีบันทึกของเจ้านายผู้ควบคุมการก่อสร้าง ปรารภไว้ว่า เมื่อได้ว่าจ้างกุลีชาวจีนเข้าทำงานราว 200 คน แต่เมื่อทำงานไปวันหนึ่ง รุ่งเช้า กุลีใหม่นี้หนีงานไป คงเหลือเพียงราว 80 คน [4] ซึ่งก็คงเนื่องจากทนยุงกัดไม่ไหว เพราะยุงป่าจาก ตัวโตเกือบเท่าแมลงวัน จึงต้องเร่งหาคนงานอื่นๆ เข้าทดแทน ซึ่งก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าต้องมีกุลี คนงานชาติต่างๆ หมุนเวียนเข้าทำงานมากมาย กว่าการก่อสร้างจะเกือบแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม หรือช่วง 3 เดือนเศษที่เร่งการก่อสร้างโดยใช้จ่ายเงินพระคลังข้างที่
ภาพจิตรกรรม รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ทอดพระเนตรปืนเสือหมอบ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ดังนั้นหากจะหาข่าวเพียงภาพสเก๊ตช์ดังกล่าวย่อมจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะข้าศึกสามารถใช้ให้คนที่สามารถสื่อสารภาษาฝรั่งได้ และให้ไปพูดคุยสอบถามจากคนงานที่ไปรับจ้างทำงานในป้อมว่ารู้อะไรและเห็นอะไรมา ก็จะพอสามารถสเก๊ตช์ภาพแปลนของป้อมได้ แต่หากสามารถมีไส้ศึกหรือสายลับอย่างเป็นทางการนั้นก็จะสามารถทำให้ปืนหมดอานุภาพหรือไม่สามารถทำการยิงต่อเนื่องได้
จึงพออนุมานได้ว่า ข้าศึกได้แบบแปลนป้อมจากการหาข่าว แล้วนำไปสเก๊ตช์ประกอบกับการตรวจการณ์จากหอสูงบนเรือในขณะแอบมาสังเกตการณ์และหาข่าวการก่อสร้างป้อมนั่นเอง
หากจะแปลเจตนาต่อไป ข้าศึกคงไม่ต้องการรายละเอียดถึงขนาดจะเข้ายึดป้อม ซึ่งย่อมจะต้องการแผนที่ที่ตั้งกองทหาร การจัดวางกำลังของทหารรักษาป้อม (ทหารของป้อมจะมีกองกำลัง 2 ส่วน คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ยิงปืน และส่วนที่ทำหน้าที่รักษาป้อม ป้องกันการบุกยึด) และทางเดินอย่างละเอียด เช่น ปัจจุบัน หากจะทำการชิงตัวประกันในอาคาร หรือเข้ายึดสถานที่สำคัญบางแห่งก็จะต้องมีการหาข่าวที่ตั้งกองกำลังข้าศึกอย่างชัดเจน และในการยุทธ์นั้น ข้าศึกก็ใช้ปฏิบัติการจี้หัวใจ ตีฝ่าเข้าปากน้ำไปยื่นข้อเรียกร้องและบังคับสยาม กับให้รื้อป้อมใหม่ทั้งสองเสีย เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็ถอนกำลังออกไปประกาศปิดปากอ่าวบริเวณสีชัง พร้อมกับและเล็มแถวจันทบุรี-ตราด ที่ได้สำรวจและตรวจการณ์หาข่าวไว้บ้างแล้ว คงเพราะเห็นว่าไม่สามารถจะรุกครอบครองสยามได้ อีกทั้งถ้าจะจี้เข้าพระนครด้วยกำลังทางเรืออีกนั้น คงจะเอาชนะไม่ได้แน่ เพราะป้อมปืนทั้งสองได้สำแดงเดชให้เห็นแล้ว
นับเป็นโชคชะตาของสยาม ที่มิได้อับจนไปเสียหมด หรือในวิกฤตการณ์อันร้ายแรงก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง
เชิงอรรถ :
[1] จากบันทึกปูมเรือฝรั่งเศส โดยเฉพาะเรือลูแตงที่เข้ามาจอดและเคลื่อนเรือไป – มา ปากน้ำหลายครั้ง และไม่ยอมถอนเรือออกไป จนเกิดการยุทธ์ที่ปากน้ำ และถอนออกไปพร้อมกัน พร้อมกับยื่นคำขาดกับฝ่ายสยาม และประกาศปิดอ่าวไทยในเวลาต่อมา
[2] บันทึกในหนังสืองานศพ นาวาโทโบรี่ (ผบ. เรือแองกองสตังค์) เพื่อนของเขาได้กล่าวถึงเจตนาอันนี้ไว้ บางทัศนะเห็นเป็นการโยนความรับผิดชอบของ ม. ปาวี , และพลเรือตรีฮูมานน์ – กรณีพิพาท ไทย – ฝรั่งเศส ร.ศ. 112. โดย พันตรีพีรพล สงนุ้ย.
[3] บันทึกและปูมเรือ ส่วนหลัง – อ้างแล้ว.
[4] ดูรายงานถวาย พร้อมบัญชีขอเบิกเงินมาใช้ก่อสร้างแต่ละงวด และเรื่องเล่าชาวป้อมที่บันทึกกันไว้
————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม / วันที่เผยแพร่ 13 ก.ค.66
Link : https://www.silpa-mag.com/history/article_37629